EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนถามผมว่า การแข่งขันฟุตบอลในแต่ละเกมนั้น เมื่อมีการใช้เท้คนอลลอจี้ที่ทันสมัยอย่าง ภาพวีดิโอช่วยในการตัดสิน (Video assistant referee - VAR) เข้ามาช่วยทำให้การตัดสินถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นนั้น เขามีหลักเกณฑ์อย่างไร เปิดโอกาสให้แต่ละทีมได้ทักท้วงการตัดสินและขอดู VAR เพื่อคลายความสงสัยได้สักกี่ครั้งต่อครึ่งเวลา หรือกี่ครั้งต่อเกมกันแน่
ฟุตบอลเป็นเกมยอดฮิท มีวิวัฒนาการผ่านหน้าจอมอนิเต้อร์มาเป็นลำดับ โดยในปี 1950 นับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นเกมฟุตบอลแพร่ภาพออกอากาศทางหน้าจอโทรทัศน์ ต่อจากนั้นในปี 1968 ก็เริ่มมีการทำ ภาพช้า (Slow motion) ที่ในยุคนี้เรียกกันสั้นๆว่า สโล-โม (Slo-mo) เพื่อให้ผู้ชมโทรทัศน์ได้เห็นจังหวะสำคัญกันอย่างชัดๆ จนในปี 1990 ภาพช้าดังกล่าวมาจากกล้องหลายตัวที่วางอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ยิ่งทำให้ผู้ชมได้เห็นจังหวะที่ต้องการอย่างช้าๆจากทุกมุมกันเลย
หลังจากทดลองใช้มาประมาณ 2 ปี การใช้ VAR ก็ถูกบรรจุในกฎข้อบังคับ (Laws of the Game) โดย คณะกรรมการฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board - IFAB) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา และ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ก็ให้การรับรองการใช้ VAR ใน ฟุตบอลโลก 2018 อย่างเป็นทางการแล้วในการประชุมสภา (FIFA Council) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ กรุงโบโกต้า (Bogota) ประเทศโกล็อมเบีย (Colombia) อย่างไรก็ตาม VAR ยังเป็นแค่เผื่อเลือก ไม่ได้บังคับว่า ต้องใช้ในทุกการแข่งขัน อย่าง เพรอมิเอ ลีก ฟุตบอลลีกสูงสุดของ อังกฤษ และ ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็เลือกที่จะไม่ใช้ VAR ในฤดูกาล 2018-19
VAR จะถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยผู้ตัดสินใน 4 กรณีเท่านั้นคือ เรื่องแรก การเป็นประตู เข้าหรือไม่เข้า มีการทำฟาล์วก่อนหรือไม่ เรื่องที่ 2 ลูกโทษที่จุดโทษ ควรได้หรือไม่ และทำฟาล์วในเขตหรือนอกเขต เรื่องที่ 3 คือ การให้ใบแดงโดยตรง ซึ่งไม่ใช่การให้ใบเหลืองที่สอง และเรื่องสุดท้ายคือ การให้ใบเหลือง ใบแดง ถูกหรือผิดคน
การจะกลับคำตัดสินของผู้ตัดสินได้นั้น ต้องสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีการตัดสินผิดพลาด โดยกระบวนการจะเริ่มขึ้นที่ กรรมการที่เฝ้าหน้าจอวีดิโอ (Assistant Video Assistant Referee - AVAR) จะดูภาพจังหวะที่มีปัญหาใน ห้องปฏิบัตการภาพวีดิโอ (Video Operation Room - VOR) ซึ่งอาจเป็นไปตามคำขอของผู้ตัดสินกลางสนาม หรืออีกกรณีคือ กรรมการในห้องปฏิบัติการนั่นแหละคอยจับตาดูจังหวะต่างๆกันเอง ถ้าไม่พบสิ่งผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งอะไรไปยังผู้ตัดสินกลางสนาม อันนี้เรียกว่า Silent check คือแค่แอบตรวจสอบไปเรื่อยเปื่อย แต่หากเชื่อว่าผู้ตัดสินได้ตัดสินผิดพลาดไปก็จะติดต่อผู้ตัดสินและแนะให้ดู VAR
เมื่อผู้ตัดสินได้รับการติดต่อจากห้องปฏิบัติการ เขาก็มีทางเลือกอยู่ 3 ทางคือ ทางแรก เปลี่ยนคำตัดสินให้เป็นไปตามคำแนะนำของกรรมการในห้องปฏิบัติการภาพวีดิโอไปเลยก็ได้ หรือทางที่ 2 เกิดความไม่แน่ใจก็ขอดูจังหวะปัญหาจากภาพวีดิโอได้ทันที ซึ่งการกระทำอย่างนี้เขาเรียกว่า ออน-ฟีลด์ รีวิว (On-Field Review - OFR) โดยเดินไปยังจุดข้างสนามที่ติดตั้งเครื่องวีดิโอที่เป็นเขตสงวนให้เฉพาะผู้ตัดสินเท่านั้น เรียกว่า Referee Review Area (RRA) อย่างไรก็ตาม หากผู้ตัดสินยังเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนเอง ก็อาจเลือกทางที่ 3 คือ ยืนตามคำตัดสินแรกของตนและไม่ขอดูวีดิโอ
ผู้ตัดสินมีอำนาจหยุดเกมเพื่อกลับคำตัดสินหรือขอดูภาพวีดิโอได้ทุกขณะ แต่ทั้งนี้ ตามข้อปฏิบัติของผู้ตัดสินนั้น เขาไม่แนะนำให้ทำในขณะที่ทีมใดทีมหนึ่งกำลังบุกและมีโอกาสทำประตู โดยการขอดดูภาพวีดิโอหรือการกลับคำตัดสินนั้น ผู้ตัดสินจะวาดนิ้วชี้ทั้งสองข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือน จอมอนิเต้อร์ นั่นเอง
การกระทำลักษณะนี้ นักเตะอย่าสะแอ๋งไปทำเข้านะครับ โดนโทษใบเหลืองทันที แม้ว่านักเตะอาจทักท้วงการตัดสินได้บ้าง แต่ ฟุตบอล ไม่เหมือน เทนนิส ที่บางรายการเขาใช้ ฮ้อค-อาย (Hawk-Eye) เพื่อตรวจจับทิศทางการวิ่งและจุดตกของลูกบอล และอนุญาตให้ผู้เล่นทักท้วงคำตัดสินของกรรมการพร้อมกับขอดู ฮ้อค-อาย ได้กี่ครั้งต่อเซ้ทขึ้นอยู่กับรายการนั้นๆ แต่สำหรับฟุตบอล การดูภาพ VAR เป็นเรื่องของผู้ตัดสินเท่านั้น นักเตะห้ามขอและห้ามเข้าไปในเขต RRA ด้วย ไม่เช่นนั้นก็มีโทษใบเหลืองเช่นกัน และถ้าเจ้าหน้าที่ทีมเข้าไปจุ้นจ้านก็ต้องโดนไล่ออกไปครับ