คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
ที่ซุ้มน้ำ พาร์3
“ไปกัน…ก๊วนหลังมาแล้ว” พี่หมอชวนเล่นต่อหลังจากพักกินน้ำเรียบร้อย “เดี๋ยวก่อนพี่…เฮียยังไม่ออกจากห้องน้ำเลย” เด็กอ้วนร้องบอก “หมู่นี้เฮียฉี่บ่อย สงสัยเบาหวาน รับประทาน” คุณชูสง่าโผล่จากห้องน้ำ “ใครว่ากูเป็นเบาหวาน ผลตรวจเลือดน้ำตาลไม่สูงเว้ย!” “ยังไม่แน่ครับเฮีย…ถ้าให้แน่ต้องตรวจ ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c)
“อะไรว๊ะวันซี!... ไม่เอาอะ! ขี้เกียจอดข้าว 12 ชั่วโมง จะเป็นลม”
“ตรวจHbA1cนี่ไม่ต้องอดข้าว” “จริงดิ” เฮียทำหน้าไม่อยากเชื่อ
- ตรวจเบาหวาน…ไม่ต้องอดอาหาร ด้วย HbA1c หรือค่าน้ำตาลสะสม การตรวจนี้นอกจากไม่ต้องทนหิวข้าวแล้วยังสะท้องถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้ป่วย ช่วยให้ตรวจพบผู้ที่เป็นเบาหวานโดยยังไม่มีอาการ และให้การรักษาก่อนอาการลุกลามอีกด้วย
ผู้ป่วยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลีนได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลีน สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน สังเกตได้คือ 1. ปัสสาวะเยอะและบ่อย 2.กระหายน้ำมาก 3.น้ำหนักลด 4.อ่อนเพลีย 5.สายตาพร่ามัว เป็นต้น แต่อาการแสดงเหล่านี้อาจจะเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น จึงควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีที่มีความแม่นยำนี้ซ้ำทุก1-3 ปี
การตรวจฮีโมโกลบิน เอวันซี(HbA1c) นี้ หากได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% ถือว่าเป็นเบาหวาน ซึ่งวิธีนี้สะดวกเพราะไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ และพบผู้ป่วยได้แต่เนิ่นๆ
- ตรวจสุขภาพทีไร ผลตรวจก็ดีทุกที ยังควรจะไปตรวจจริงหรือ : โดยทั่วไปผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ ซึ่งรวมไปถึงผู้ทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานบ่อยครั้ง จะควบคุมอาหาร ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้ได้ผลการตรวจสุขภาพที่ดี ทำให้ผลตรวจไม่สะท้อนถึงพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้ป่วย
การตรวจ HbA1c สามารถแสดงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือด ในช่วง8-12 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทราบพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้ป่วย แพทย์จึงสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพื่อหยุดเบาหวานและป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้พิการและเสียชีวิตได้ โดยผู้ที่ตรวจพบความเสี่ยงแล้วสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดน้ำตาลลง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมน้ำหนักอย่างมีวินัย ก็จะช่วยป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
“ไม่ต้องงดอาหาร งั้นพาเฮียไปตรวจวันนี้เลยนะหมอ…ไอ้อ้วนนี่ด้วย”
“..แต่เก่งกลัวเข็มนี่ครับ!”
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *