xs
xsm
sm
md
lg

"สิทธิ์สโมสรไทยลีก" ซื้อขายเหมือนผักปลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดตำนาน ซุปเปอร์พาวเวอร์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยกำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งสโมสรที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว บางองค์กรมีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะบริหารทีมให้อยู่รอด แต่บางองค์กรก็เข้ามาบริหารทีมแบบขอไปที ไม่ทราบถึงจุดประสงค์ที่แน่ชัดว่าต้องการอะไร สุดท้ายก็จบลงที่การ "ขายสิทธิ์การทำทีม" หรือ "ยุบทีม"

ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าหลายทีมฟุตบอลในไทยมักจะมีการซื้อขายสิทธิ์เป็นประจำ อย่างเช่น เนวิน ชิดชอบ พาจังหวัดบ้านเกิดอย่างบุรีรัมย์ เข้าไปร่วมหุ้นกับการไฟฟ้า จนมีชื่อสโมสรว่า "บุรีรัมย์ พีอีเอ" จนสุดท้ายเจ้าตัวตัดสินในทุ่มเงิน 23 ล้านบาทเพื่อซื้อสิทธิ์ขาดจากการไฟฟ้า ทำให้สโมสรกลายมาเป็น "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" ในปัจจุบัน

เคสล่าสุด ธนบดี พรหมสุข ประธานกรรมการ บริษัทช้างทองคำ(ประเทศไทย) และประธานสโมสรจัมปาศรี ยูไนเต็ด ประกาศเทคโอเวอร์ซื้อสิทธิ์การทำทีมของ "เดอะ พาวเวอร์" ซุปเปอร์พาวเวอร์ สมุทรปราการ เอฟซี อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 และเตรียมพาทีมย้ายมาแข่งขันที่จังหวัดมหาสารคามในปี 2018 ในศึกเอ็ม-150 แชมเปียนชิพ ภายใต้ชื่อ "จัมปาศรี ยูไนเต็ด"

หลายคนคงสงสัยว่าการซื้อขายสิทธิ์การทำทีมกันแบบนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ขัดกับกฎระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หรือไม่ "บิ๊กโจ" พาทิศ ศุภะพงษ์ โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และรองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีคำตอบ "ต้องขอเกริ่นก่อนว่า ชื่อของสโมสรที่โลดแล่นอยู่ในไทย ณ ปัจจุบัน กับชื่อองค์กรนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของทีมนั้น มันเป็นคนละชื่อกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรใหญ่ๆอย่าง บุรีรัมย์, เมืองทอง, บางกอกกล๊าส ฯลฯ ชื่อจดทะเบียนก็เป็นคนละชื่อกับสโมสร"

"ในเคสของ ซุปเปอร์พาวเวอร์ ก็เช่นเดียวกัน หลังจากเปลี่ยนคนทำทีมจากบริษัท โอสถสภา พวกเขามีชื่อจดทะเบียนกับสมาคมว่าบริษัท สมาร์ทคิด ซึ่งการเข้ามาของกลุ่มจัมปาศรี หรือกลุ่มบริษัทช้างทองคำนั้น พวกเขาเข้าเทคโอเวอร์มาตั้งแต่บริษัท สมาร์ทคิดเลย พูดง่ายๆคือ พวกเขาเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท สมาร์ทคิด โดยตรง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสัดส่วนโดยตรงของผู้ถือหุ้นในบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียน ไม่ได้เป็นการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลซุปเปอร์พาวเวอร์แต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าชื่อจดทะเบียนสโมสรก็ยังคงเป็น สมาร์ทคิด ตามเดิม"

"การกระทำในลักษณะแบบนี้ ถือเป็นการเข้ามาเทคโอเวอร์หุ้นของสโมสรอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของเอเอฟซี และทำการซื้อขายสิทธิ์ มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นกันตั้งแต่ก่อนวันที่ 15 กันยายน 2560 และทันเวลาในการส่งคลับ ไลเซนซิ่ง พอดิบพอดี และมีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะเปลี่ยนเป็นชื่อสโมสรจัมปาศรี ยูไนเต็ด รวมถึงมีการส่งชื่อสนามแข่งขันเอาไว้ 2 ที่ ได้แก่ สนามกีฬาจังหวัดมหาสารคาม และสนามฟุตบอลซุปเปอร์พาวเวอร์ ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ไม่ได้ออกข่าวอะไร เพราะเป็นเรื่องภายในสโมสร เป็นสิทธิ์ที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ได้"

"ต้องขอบอกก่อนว่า ซุปเปอร์พาวเวอร์ หรือชื่อจดทะเบียนคือ สมาร์ทคิด ทำทีมต่อจากโอสถสภา มาแล้วตอนนี้ 2 ปีเต็ม ปีหน้าก็จะเป็นปีที่ 3 ตามกฎระเบียบข้อบังคับของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี (AFC) ระบุไว้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงภายในของแต่ละสโมสรจะกระทำได้ ต้องมีการบริหารงานมาครบ 2 ปี ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้ถือหุ้น, สนามที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งทางซุปเปอร์พาวเวอร์ เขาบริหารงานมา 2 ปีตามกฎอย่างชัดเจน ก็เป็นสิทธิ์อย่างถูกต้องของพวกเขาที่จะมีการเปลี่ยนแปลง"

"ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ก็มีสิทธิ์ทำได้อย่างถูกต้องเพราะมีการบริหารงานมาเกิน 2 ปีจากกลุ่มทุนเดิมนั่นก็คือกลุ่มทรูฯ เพียงแต่การเปลี่ยนชื่อทีมนั้นก็ต้องรอการจดทะเบียนต่างๆ ก็ใช้เวลา 1 ปี ซึ่งในปีหน้าถึงจะสามารถใช้ชื่อที่ต้องการได้ อย่าง เชียงราย ก็เหมือนกัน เขาก็ทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อทีมเป็น สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด รวมไปถึงทีมอย่าง บีอีซี เทโรศาสน ที่ขอเปลี่ยนเป็นโปลิศ เทโร เอฟซี"

"ขอเสริมในเคสของซุปเปอร์พาวเวอร์อีกว่า การที่พวกเขาขอยื่นเรื่องเปลี่ยนสนามนั้น ถึงแม้จะทำมาอย่างถูกต้อง แต่ทางสมาคมฯ จะมีการไปตรวจสอบสนามที่จังหวัดมหาสารคามอีกครั้ง โดยมีข้อแม้ และเป็นกฎอย่างชัดเจนว่า ทุกๆทีมที่ทำเรื่องขอเปลี่ยนสนาม จะต้องเป็นสนามที่ดีกว่าเก่า หรือไม่ย่ำแย่ไปกว่าสนามเดิมที่ใช้อยู่ ซึ่งหากสมาคมฯ ไปตรวจสอบสนามที่มหาสารคามแล้วไม่ผ่านเกฎฑ์ พวกเขาก็ยังคงต้องใช้สนามที่เคหะบางพลี หรือสนามเดิมต่อไปในปีหน้า นี่คือกฎเหล็กของสมาคมฯ อย่างไรก็ตามตอนนี้สมาคมฯ ส่งเรื่องไปทางเอเอฟซีแล้ว ก็ต้องรอให้พวกเขาทำการตรวจสอบอีกครั้ง" โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และรองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กล่าว

ซึ่งหากใครยังไม่ทราบ สโมสรจัมปาศรี ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเข้ามาเทคโอเวอร์ ซุปเปอร์พาวเวอร์ ก่อนหน้านี้โลดแล่นอยู่ในศึก "อเมเจอร์ลีก" หรือลีกสมัครเล่นกึ่งอาชีพของไทย เป็นทีมที่มีต้นกำเนิดอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม ผลงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จบอันดับ 5 ของโซนอีสาน ตอนบน ไม่ผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟ

ในส่วนของการเข้าบริหารทีมสโมสรในลีกต่างๆของไทยนั้น ในไทยลีก และแชมเปียนชิพ อาจจะมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่มากกว่าในไทยลีก 3 หรือไทยลีก 4 โดยจะต้องมีการแสดงผลประกอบการขององค์กรที่จะเข้ามาบริหารด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของลีกล่างนั้น จริงอยู่ว่าต้องมีการแสดงผลประกอบการเหมือนกัน แต่การเข้ามาเทคโอเวอร์ค่อนข้างง่ายกว่า ซึ่ง พาทิศ กล่าวเสริมว่า นโยบาย 1 สโมสร 1 จังหวัด เป็นของนายกฯคนเก่า ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนงานของทีมบริหารชุดใหม่ ถ้าหากจังหวัดนั้นๆ มีคนที่พร้อมสร้างทีมขึ้นมาหลายทีม ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีการเสนอแผนงานการบริหารอย่างชัดเจน ว่าจะทำอย่างไรให้ทีมอยู่รอด ไม่ใช่ว่าเข้ามาทำทีมปีเดียวแล้วยุบ วงการฟุตบอลไทยมันก็จะไม่ไปไหน ซึ่งแผนงานที่ยื่นมา สมาคมฯก็ใช่ว่าจะอนุมัติง่ายๆ เรามีการตรวจสอบหลายๆอย่างอยู่แล้ว ยกตัวอย่างในฟุตบอลอังกฤษ ลีกล่างๆของเขาบางเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ หรือลอนดอน มีเป็น 10ทีมเลยก็ว่าได้ แต่ทีมพวกเขาก็ยังอยู่ ไม่ได้ยุบไปไหน เพราะอะไร เพราะพวกเขาบริหารทีมฟุตบอลกันเป็น มีการวางแผนงานที่ดี ถึงแม้จะเป็นแค่ทีมเล็กๆ ทีมในลีกสมัครเล่นก็ตาม ทีมๆนั้นก็ยังคงอยู่ไม่มีการยุบทีมง่ายๆ

ถึงแม้การเข้ามาเทคโอเวอร์ซุปเปอร์พาวเวอร์ของกลุ่มจัมปาศรี จะดำเนินไปด้วยวิธีการที่ถูกต้อง แต่แฟนบอลไทยหลายๆคนก็ยังคงตั้งคำถามกันอย่างมากมาย ว่า ทีมฟุตบอลในไทย ซื้อขายทีมกันแบบนี้ มันไม่ต่างอะไรกับสิ้นค้าในตลาดสด หรือของเล่นดีๆนี่เอง บางกลุ่มเข้ามาซื้อสิทธิ์การทำทีม บริหารสโมสรแบบขอไปที เหมือนเป็นของเล่น ไม่ได้จริงจังในการพาทีมประสบความสำเร็จ หรือแย่ไปกว่านั้นบางกลุ่มเข้ามาเพื่อที่จะใช้สโมสรนั้นๆ หวังผลทางธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ย้อนไปราวๆ 3 ปีก่อน "มังกรไฟ" บีอีซี เทโรศาสน ที่บริหารโดยนายไบรอัน ลินด์เซย์ มาร์คาร์ เจ้าของบริษัทบีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ฯ มาอย่างยาวนาน ดันประกาศขายทีมให้แก่กลุ่มทุนจากสยามกีฬาเป็นจำนวนเงิน 150 ล้านบาท เพื่อเข้ามาครอบครองสโมสร ซึ่งตอนนั้นการเข้ามาของกลุ่มสยามกีฬา สร้างความไม่พอใจแก่แฟนบอลเทโรเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาเอากล่องดวงใจของสโมสร อย่าง นักฟุตบอลดีกรีทีมชาติไทย เช่น ชนาธิป สรงกระสินธ์, พีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, อดิศักดิ์ ไกรษร, อดิศร พรหมรักษ์ ไปร่วมทีมเอสซีจี เมืองทองฯ ซึ่งก็รู้ๆกันอยู่ว่าเจ้าของคือกลุ่มทุนเดียวกับที่เข้ามาเทคโอเวอร์ทีม "มังกรไฟ" และปีต่อมาทั้งเทโร และเมืองทอง ก็โลดแล่นอยู่ในลีกเดียวกัน ทั้งๆที่เป็นเจ้าของมาจากกลุ่มทุนเดียวกัน มีการหมุนเปลี่ยนนักเตะภายในสโมสรกันอย่างมากมาย ที่แหละคือสิ่งที่แฟนบอลตั้งคำถามว่า "ถูกต้องหรือไม่" การที่พวกเขาเข้ามาซื้อสโมสร เพื่อหวังดึงตัวนักฟุตบอลทีมชาติไปร่วมทีมเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของแฟนบอลมังกรไฟทุกคน

จริงๆกฎเกณฑ์ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี มีการระบุไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของการซื้อขายสิทธิ์การทำทีมฟุตบอล เพียงแต่ในไทยมักใช้ช่องว่างต่างๆนาๆ ในการเข้ามาบริหารสโมสรแบบง่ายๆ ไม่ว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อะไรก็ตาม แบบนี้มันก็ไม่ต่างไปจากการซื้อขายผักปลาในตลาดสด เพียงแค่มี “เงิน” อยากจะลองเข้ามาทำทีมฟุตบอลดูก็ย่อมได้ ซึ่งเราก็ไม่ทราบในตัวเงินอย่างชัดเจนว่าแต่ละครั้งที่มีการซื้อขายทีมฟุตบอลมันต้องใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ หรือบางทีการเข้ามาเทคโอเวอร์แต่ละครั้ง อาจไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียวก็ได้

ถึงแม้การซื้อขายทีมฟุตบอลของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจต่างๆในเมืองไทย จะเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เพราะว่าพวกเขามี "เงิน" แต่การจุดประสงค์ที่พวกเขาเข้ามานั้น ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าต้องการอะไร จะวิงวอนขอร้องให้มีแต่ "คนรักฟุตบอล" จริงๆเข้ามา ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะสมัยนี้ "เงิน" คือพระเจ้า ที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด
ทีม จัมปาศรี ยูไนเต็ด ที่โลดแล่นอยู่ในศึกอเมเจอร์ลีก
จัมปาศรี เทคโอเวอร์ เดอะพาวเวอร์
เนวิน ทุ่ม 23 ล้าน ซื้อสิทธิ์ทีมการไฟฟ้า
ไบรอัน แอล มาร์คาร์ เคยขายเทโร ให้สยามกีฬา
กำลังโหลดความคิดเห็น