xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก…ถึงหูชั้นใน / พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“ไอ้โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเนี่ย มันเป็นยังไงอ่ะหมอ!....ตอนนี้เห็นพูดกันมาก…แต่เฮียยังไม่ค่อยเข้าใจเลย…อาการเป็นไง? เดินไม่ได้หรอ?” คุณชูสง่ากังขาโรคยอดฮิต

“ก็เฮียเคยไหม ที่อยู่ดีๆก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน บ้านหมุน หูอื้อ ลุกขึ้นมาก็ทรงตัวไม่อยู่ จะล้มเสียให้ได้” หมออธิบายรวบยอด

“อ๋อ!...เคย นานๆที”

ลักษณะอาการเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า กำลังจะเป็น “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” ทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ”

ปกติหูชั้นในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่มีลักษณะคล้ายก้นหอย ทำหน้าที่รับเสียง อีกส่วนหนึ่งเป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเกือกม้า ซึ่งมีกระดูก 3 ชิ้นด้วยกัน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว เมื่อเกิดแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติจะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยิน และการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและความสมดุล เกิดอาการบ้านหมุนขึ้น มีอีกโรคหนึ่งที่อาการคล้ายๆกันคือ หินปูนที่เกาะอยู่ในชั้นหูชั้นในหลุด ซึ่งเป็นเรื่องของโรคเกี่ยวกับหูที่หมอจะแยกออกไปจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ลักษณะเฉพาะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันคือ เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน ร่วมกับหูอื้อ อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้ง 2ข้าง อาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ แต่ถ้ามีอาการวิงเวียนบ่อยๆ หรือเป็นมานาน อาการหูอื้อมักจะถาวร อาการมึนเวียนหัวจะเป็นอยู่ประมาณ 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ก็จะหายไป แต่ไม่นานก็จะเป็นอาการดังกล่าวอีก มีลักษณะเป็นๆหายๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

โรคนี้เป็นได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการดำเนินโรค คือ อาหารที่มีรสเค็ม หรือโซเดียมสูง การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด และสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอึกทึก

การรักษา จะรักษาตามอาการที่ตรวจพบ โดยจะให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน รวมทั้งยาขยายหลอดเลือด ยาลดอาการเวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ตลอดจนยากล่ออมประสาท และยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ

เมื่อมีอาการของโรค หมอเตือนว่า อย่าตระหนกตกใจกับอาการ เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ไม่ได้ทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ถ้าเป็นมากจนกระทั่งรบกวนการทำงาน ควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และอย่าเครียด เมื่อรู้ว่าเครียดควรหาวิธีผ่อนคลาย หยุดการทำงานสักพัก เมื่อดีขึ้นจึงกลับไปทำงานต่อ รวมทั้งลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด ลดการดื่มสุรา หากมีอาการเวียนหัว บ้านหมุนเมื่อไร ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงทีต่อไป

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น