xs
xsm
sm
md
lg

เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังให้กระดูกหนา เราต้องพากันเดิน! / พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“ลุงเอก ก๊วนหน้าเรา หกล้ม ขาหัก ไปกับรถพยาบาลเมื่อกี้นี้เอง” เจ้าเก่ง..เด็กอ้วน ทำหน้าที่รายงานข่าวด่วน หลังจากรถพยาบาลวิ่งคล้อยหลังไปหยกๆ

“คนแก่กระดูกหักง่ายจัง…หมอช่วยหาแคลเซียมให้เฮียหน่อย..เอาอย่างดีเลยนะ”

“ต้องเดินครับเฮีย แคลเซียมไม่ค่อยช่วยอะไรหรอก..เดินอย่างเดียว” หมอบอก

กระดูกจะแข็งแรงหรือไม่…อยู่ที่การเดินมากกว่ากินแคลเซียม และต้องเดินเยอะๆ ตั้งแต่เด็กๆ เพื่อสะสมความแข็งแรงของกระดูกเหมือนคนญี่ปุ่น

คุณหมอโยชิโนะริ นะงุโมะ ผู้เขียนหนังสือระดับ Best seller หลายเล่ม แนะนำว่า ถ้าอยากให้กระดูกแข็งแรง ต้องเดินให้มากเป็นสองเท่าของคนทั่วไป เพราะแรงโน้มถ่วงจะทำให้กระดูกรับภาระหนัก แล้วปริมาณแคลเซียมในกระดูกก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ

ตัวคุณหมอเองอายุ 60 แล้ว แต่อายุกระดูกวัดได้แค่ 28 ปี นั่นเป็นเพราะคุณหมอรักการเดินเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งการเดินมาหรือน้อยในวัยเด็กสะสมมาจะมีผลอย่างยิ่งต่อระดับความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

ในหนังสือ บทหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “มาชดเชยแคลเซียมด้วยการเดินกันเถอะ” เล่าว่านักบินอวกาศที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในยานอวกาศเป็นเวลานาน ทั้งที่กินแคลเซียมในปริมาณมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า แต่พอกลับถึงโลกก็ยังเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้กระดูกค่อยๆอ่อนแอลง

กระดูกเป็นเหมือนธนาคาร ซึ่งเก็บสะสมแคลเซียมเอาไว้ เมื่อแคลเซียมในเลือดลดลงก็จะนำแคลเซียมจากกระดูกมาใช้แทน และเมื่อผู้สูงวัยมีการเดินที่ไม่เพียงพอ กระดูกก็จะค่อยๆเปราะบางลง ถึงแม้จะกินแคลเซียมมากเพียงใดก็จะไม่มีผลช่วยอะไรมากนักเพราะปัจจัยหลักที่สำคัญคือ “ปริมาณการออกกำลังกาย” ที่ผู้สูงไว้มีลดลง ถึงขนาดบางรายในแต่ละวันแทบไม่มีการขยับตัวเลยนั่นเอง

การที่ผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะเดินน้อยลงเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มมามากขึ้น จึงยิ่งทำให้ขาดแคลเซียมมากขึ้น ส่งผลทำให้มีอาการปวดหัวเข่า และสะโพก พอปวดแล้วก็ยิ่งเดินน้อยลงเรื่อยๆ จนเกินแก้ไข ดังนั้นเราจึงควรฝึกนิสัยรักการเดินให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็กได้ก็ยิ่งดี เพราะจะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของกระดูกของลูกหลานไปตลอดชีวิตเลย

สรุปง่ายๆ ถ้าจะให้กระดูกแข็งแรง จะต้องมีแรงกระแทกที่กระดูก เช่น การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น เดิน กระโดดเชือก หรือวิ่ง ซึ่งจะทำให้แคลเซียมดูดซึมเข้ากระดูกได้ดี กระดูกจึงแข็งแรง

“อ๋อ! เข้าใจแล้วหมอ…งั้นต่อไปนี้ก๊วนเราเลิกใช้รถ!”

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น