คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
‘สงสารโปรเล็กจัง...แกจำเฮียได้...แต่เฮียจำแกเกือบไม่ได้’
คุณชูสง่า พูดถึงชายผู้นั่งรถเข็น ในห้องอาหารของคลับเฮ้าส์...เขาคือ โปรเล็กจอมพลังดาวรุ่งเมื่อปีที่แล้ว...แต่ด้วยเคราะห์กรรมอันใดก็เกินเดา จู่ๆแกก็ล้มป่วยด้วยโรคประหลาด แล้วก็หายหน้าไปจากวงการกอล์ฟ...เพิ่งมาเจอตัวเป็นๆ ในสภาพต้องนั่งรถเข็นอย่างที่เห็นนั่นแหละ
‘อ๋อ...ผมแอบไปคุยกับแกมาแล้ว...แกป่วยเป็นโรค ‘กล้ามเนื้ออ่อนแรง’ น่ะครับ...พอค่อยยังชั่วหน่อยก็อยากมาเห็นบรรยากาศเก่าๆ ...น่าสงสารจริงๆ
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง...รู้เร็ว...รักษาทัน
โรคนี้พบไม่มากนัก เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 40-60 ปีในผู้ชาย
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ควบคุมกล้ามเนื้อ ทั้งในส่วนของสมอง และไขสันหลัง โดยจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และลีบลงเรื่อยๆ บริเวณมือ แขน ขาหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนลามไปทั้งสองข้าง ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุกจนพูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจติดขัดและหอบเหนื่อย จากการที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในร่างกายหายใจอ่อนแรง จนกระทั่งเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 40-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเกิดจากพันธุกรรม ส่วนสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด
ดังนั้นถ้าสังเกตพบอาการ อ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา หรืออาการกลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน กล้ามเนื้อกระตุก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยแพทย์อายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการตรวจเส้นประสาท และกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้า
ทั้งนี้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ส่วนยาในปัจจุบันที่ช่วยชะลอการกำเนิดโรคได้มีเพียงยา Riluzole โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งสารกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ามีมากเกินไป จะทำให้เกิดการตายของเซลล์ นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว การให้กำลังใจผู้ป่วยไม่ให้เกิดการท้อแท้ และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งให้ผู้ป่วยออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมและทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรง เพื่อป้องกันการลีบของกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้การนานๆ และป้องกันการติดของข้อ การรับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ หากผู้ป่วยมีปัญหานอนราบไม่ได้ หรือเหนื่อยเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจที่บ้าน จะทำให้ผู้ป่วยนอนได้ ไม่เหนื่อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *