ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล เคยกล่าวไว้ว่า “ความฝันของเธอและนักกอล์ฟทุกคนคือการขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก เพราะนั่นเป็นจุดสูงสุดของอาชีพ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
คำพูดที่ไม่กดดันตัวเอง ดูสวนทางกับความคาดหวังที่สาวน้อยวัย 21 ปีต้องแบกไว้ ในขณะที่เธอประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ได้ถึง 5 รายการเมื่อปีที่แล้ว พร้อมคว้าสิทธิ์ลุย โอลิมปิกเกมส์ 2016 ทว่าก้านเหล็กสาวตัวความหวังเหรียญทอง ต้องขอถอนตัวกลางคันเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า หลังออกรอบวันที่ 3 หวดไป 13 หลุม ฟอร์มหลุดตีเกิน 12 โอเวอร์พาร์
เหตุการณ์นั้นทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบว่าไม่ตั้งใจทำเพื่อประเทศไทยประกอบกับการเริ่มต้นฤดูกาล 2017 ในแอลพีจีเอทัวร์ "โปรเม" ยังไม่มีแชมป์ติดมือ และจบรองแชมป์ถึง 3 รายการ อีกทั้งยังจบเพียงท็อปเท็นอีก 8 รายการ จาก 12 รายการที่ลงแข่งขัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว นักกอล์ฟสาวรายนี้กวาดมาแล้ว 3 แชมป์ติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม เธอก็สิ้นสุดการรอคอยแชมป์ในปีนี้ ด้วยการเฉือนชนะเพลย์ออฟ เล็กซี่ ธอมป์สัน จากสหรัฐอเมริกาและ ชุน อิน กี จากเกาหลีใต้ หยิบแชมป์แรกของฤดูกาลนี้มาครองได้สำเร็จ ในรายการ แมนูไลฟ์ แอลพีจีเอ คลาสสิก ที่สนามวิสเซิล แบร์ กอล์ฟ คลับ ในการแข่งรอบสุดท้าย ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา พร้อมทะยานขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกครั้งแรก ยุติการครองมือ 1 อันยาวนาน 85 สัปดาห์ติดต่อกันของ ลิเดีย โค ลงได้
จากชีวิตลูกเจ้าของร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟสู่เบอร์ 1 ของโลก คงจะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่มีครอบครัวให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ สาวน้อยรายนี้เริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่ 5 ขวบ พร้อมกับพี่สาว “โม โมรียา จุฑานุกาล” ผ่านไป 4 ปี เธอกลายเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปร่วมการแข่งขันจูเนียร์เวิลด์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้สำเร็จ
ด้วยผลจากการแข่งขันในครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวจุฑานุกาล หันมาจริงจังและสนับสนุนกับสาวน้อยรายนี้มากขึ้น จนถึงขั้นตัดสินใจขายธุรกิจ ขายบ้าน ขายรถ ทั้งหมด เพื่อหันมาสนับสนุนอย่างจริงจัง ด้าน “คุณพ่อสมบูรณ์ จุฑานุกาล” ก็ผันตัวมาเป็นโค้ชคนแรกในชีวิตของโปรเม จนทำให้เธอเทิร์นโปรและเข้าสู่เส้นทางนักกอล์ฟอาชีพตั้งแต่อายุ 17 ปี
ความสำเร็จในนาทีนี้ของโปรเม มาจากการสะสมผลงานที่ดีมาตลอด 1 ปีกว่าๆ และครอบครัวที่คอยอยู่ข้างๆ เสมอมา ในวันที่ประสบความสำเร็จทุกคนพร้อมใจโห่ร้องแสดงความยินดี แต่ในวันที่เธอล้ม ต้องการกำลังใจจากคนไทยด้วยกัน เมื่อหันกลับมาในวันนั้นจะยังเจอใครอยู่หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อยังไม่ได้ทำคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งที่หายใจรดต้นคออยู่ได้ โอกาสที่เสียมือ 1 ของโลกในไม่กี่วันข้างหน้าก็เปิดกว้าง
เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ในรายของ รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวที่ต้องแบกความหวังของคนไทย เพราะสร้างชื่อด้วยการเป็นแชมป์โลกด้วยวัยเพียง 18 ปี แต่ด้วยชั่วโมงบินที่ยังน้อยเกินไป ทำให้ประสบการณ์ไม่ทัดเทียมคู่แข่งในเอเชียด้วยกันได้ กระทั่งทะยานขึ้นสู่มือ 1 โลกได้สำเร็จ เมื่อปีที่แล้ว ทว่าเพียงสัปดาห์เดียวก็ถูกแซงขึ้นไปโดย ไท่ ซื่อ ยิง จากไต้หวัน และขนไก่สาวไทยก็ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บ ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันหลายรายการจนปัจจุบันรั้งอันดับ 8 ของโลก ซึ่งเจ้าตัวก็ถูกวิพากษ์วิจาร์ณถึงความตั้งใจ และโยงเข้าเรื่องส่วนตัวที่มีหวานใจเข้ามาทำให้เสียสมาธิจนฟอร์มตก
หรือแม้แต่ในอดีตอย่าง วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก็มีโอกาสติดสอยห้อยตามไปแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในเวทีโอลิมปิกอยู่หลายสมัย ทว่าไม่สามารถประความสำเร็จ เนื่องจากไม่ใช่มวยหมัดโดยธรรมชาติ แต่มีความแคล่วคล่องว่องไวและสายตาดี เมื่อฝึกปรือในเชิงมวยสมัครเล่นจนช่ำชอง วิจารณ์ก็ผงาดเป็นแชมป์ซีเกมส์ เมื่อปี 2542 หลังจากนั้นดวงชะตาของเขาก็พุ่งถึงขีดสุดเมื่อ โอลิมปิก ปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย อุบัติขึ้น ทั้งที่เป็นตัวเลือกเสริมเป็นมวยแทน แต่เขากลับกลายเป็นม้ามืด ทะยานคว้าเหรียญทองโอลิมปิก สุดประทับใจชาวไทยทั้งชาติ
ซึ่งทุกรายที่ผ่านมาทันทีที่สร้างชื่อเสียงรวมถึง "โปรเม" ก็ถูกจับจ้องจากรัฐบาลให้เข้าพบเพื่อเป็นหน้าเป็นตา ขณะที่คนไทยบางส่วนก็เรียกร้องจาก เอรียา ให้ทุ่มเทมากกว่านี้เพื่อเหรียญทองมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่อย่าง โอลิมปิก ทั้งที่ตอนที่เธอถอนตัวก็เพื่อเซฟร่างกายของตนเอง เพราะหากฝืนไปกระทบกับการเล่นอาชีพก็ไม่คุ้ม
ดูเหมือนไม่ถูกไม่ควรนัก เพราะเธอมาถึงจุดนี้ด้วยน้ำพักน้ำแรงและแรงเงินของครอบครัวล้วนๆ เรียกได้ว่าเราไม่ควรไปเรียกร้องอะไรจากนักกีฬาเหล่านี้อีกแล้ว