ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - เหลืออีกเพียงแค่ปีเดียวศึก เวิลด์ คัพ 2018 ที่ประเทศรัสเซีย รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคมปีหน้า
ทัวร์นาเมนต์ลูกหนังยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 4 ปีมีครั้ง แน่นอนว่า หลายคนย่อมตั้งหน้าตั้งตารอ อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ไทยยังไม่มีทีวีเจ้าไหนออกตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 64 แมตช์ เตะ 12 สนาม ใน 11 เมืองที่รัสเซีย
แม้จะผ่านไปหลายปี แต่เชื่อว่าแฟนลูกหนังยังจำได้ดีสำหรับกรณี “อาร์เอส” เจ้าของลิขสิทธิ์ เวิลด์ คัพ ปี 2014 ที่ประเทศบราซิล ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลซื้อลิขสิทธิ์เอาไว้ในครอบครอง แต่ในฐานะบริษัทเอกชน ย่อมที่จะหวังฟันกำไรมหาศาลจากการขายกล่องบอกรับสมาชิก ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ทว่า อย่าลืมคนไทยเรียกได้ว่าเป็นชาติที่ดูฟุตบอลฟรีมากที่สุดในโลก ดังนั้น จึงเกิดเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้นมา
ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ประกาศใช้กฎ “มัสต์แฮฟ” (must have) เป็นหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือก็คือฟรีทีวี อย่างเช่น ซีเกมส์ หรือ โอลิมปิก รวมถึงฟุตบอลโลก ดังนั้น ถ้า อาร์เอส, ทรูวิชั่นส์ หรือ ซีทีเอช ถือลิขสิทธิ์ในมือก็จะต้องปล่อยสัญญาณผ่านฟรีทีวี
แน่นอนการต่อสู้ดังกล่าวยืดเยื้อ อาร์เอส ไม่ยอมเช่นกัน กสทช. แพ้ในชั้นศาล เมื่อศาลปกครองกลางตัดสินให้ อาร์เอส เจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ก็เพราะกฎออกมาช้าหลังการประมูล
แต่ในฟุตบอลโลก 2018 หนนี้ “มัสต์แฮฟ” จะสามารถสั่งการได้เต็มที่ จนน่าจะเป็นสาเหตุให้ทุกวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่าทีวีเจ้าไหนจะกระโดดไปคว้าสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาครอง แถมแว่วมาว่าลิขสิทธิ์ที่รัสเซียสูงถึง 2,000 พันล้านบาทเลยทีเดียว
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเสียงแว่วมาว่า เจ้าพ่อรายการเกมโชว์ สนใจยกระดับช่องตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านกีฬาบ้าง ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการ “แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์” การแข่งขันสำหรับทีมชาติที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และ “คอนเฟเดอเรชันส์คัพ” การแข่งขันฟุตบอลที่จัดขึ้นทุกสี่ปีโดยฟีฟา เป็นการแข่งขันระหว่างทีมที่ชนะเลิศจากแต่ละภูมิภาคทั่วโลก เพื่อให้เข้าข่ายการเสนอตัวซื้อลิขสิทธิ์เวิลด์คัพ จากฟีฟ่า ที่จะต้องนำรายการของฟีฟาอย่างน้อย 2 รายการมาเผยแพร่ก่อน
ว่ากันว่า ดีลนี้เริ่มมีการพูดคุยมา 2 - 3 เดือนก่อน ซึ่งลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดมหกรรมที่มวลมนุษยชาติเฝ้ารอครั้งนี้ ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึงหลักพันล้านบาท การลงทุนของเจ้าพ่อเอนเตอร์เทนเมนต์เมืองไทย คงไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ จึงได้จับมือกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่เร็วที่สุดในประเทศไทย 2 ปีซ้อน และยังมีเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ได้รับความนิยมทั่วโลกเข้ามาแจมอีก ซึ่งผลกำไรจากการถ่ายทอดสดอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แต่หากเพิ่มกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่รับชมแต่ความบันเทิง เป็นกลุ่มคนรักกีฬา ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของช่องทีวีดิจิตอลได้ดีทีเดียว
จึงพอจะช่วยให้แฟนลูกหนังหายกังวลว่าจะไม่มีบอลโลกไว้ดูได้เลย แต่กฎ “มัสต์แฮฟ” ของ กสทช. ทำให้เอกชนต้องจับมือร่วมกับช่องฟรีทีวี เพื่อให้ประชาชนได้ชมการแข่งขันฟรี ซึ่งมีชื่อของช่องน้อยสีโผล่เข้ามาเป็นตัวละครหลักในการจับมือร่วมกัน ด้วยความพร้อมในด้านการถ่ายทอดฟุตบอลระดับโลก และคอนเนกชันอันดีกับผู้นำด้านการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทย ทำให้ดีลนี้ดูน่าจะลงตัวมากที่สุด ทว่า ข้อสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร คาดว่า เร็วๆ นี้ จะได้รับทราบโดยทั่วกันแน่นอน