ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ในที่สุดประชาชนชาวฝรั่งเศส ก็ได้ต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ของพวกเขาอย่างเป็นทางการคือ เอมมานูเอล มาครง ตัวแทนจากพรรคอองมาร์ซ ด้วยคะแนนโหวตเหนือกว่า มารี เลอ แปน ผู้สมัครหญิงฝั่งตรงข้ามถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม นี้ เจ้าตัวมีงานให้ทำมากมาย รวมถึงการผลักดันให้ ปารีส เป็นผู้ชนะเจ้าภาพ โอลิมปิก 2024 ซึ่งจะทราบผลกันในช่วงปลายปีนี้
หลังจากที่ ญี่ปุ่น ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาฤดูร้อนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ปี 2020 รัฐบาลและทีมงานต่างมุ่งมั่นกันเต็มที่เพื่อรอต้อนรับผู้คนมหาศาลที่จะเดินทางมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ขณะที่เจ้าภาพปี 2024 เหลือผู้ท้าชิงเพียงแค่ 2 รายก็คือ ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ปารีส ฝรั่งเศส โดยทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) วางดีเดย์ไว้ที่ 13 กันยายน ให้เป็นวันประกาศผู้ชนะที่กรุงลีมา ประเทศเปรู
ลอส แองเจลิส เคยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาห้าห่วงมาแล้ว 2 ครั้ง คือปี 1932 และ 1984 แต่หากนับรวมทั้งหมด มหาอำนาจแห่งโลกใบนี้รับงานดูแล โอลิมปิก มาทั้งสิ้น 4 ครั้ง แน่นอนว่าประสบการณ์โชกโชน ขณะที่ ปารีส ถูกเลือกเป็นสังเวียนชิงชัยเมื่อปี 1990 และ 1924 ซึ่งก็ผ่านมา 93 ปีแล้วดังนั้นจึงเป็นงานที่ มาครง และทีมงานของเขาต้องหารือกันว่าจะนำเสนอยุทธการตอบโต้ สหรัฐอเมริกา อย่างไรให้ได้เป็นผู้ชนะในการจัดกีฬาครั้งใหญ่อีก 7 ปีข้างหน้า เพราะหลังได้รับเลือกจากประชาชนแล้วก็ผลักดันวาระนี้เดินหน้าต่อทันที
เดอะ โลคัล สื่อดังของ ฝรั่งเศส ตั้งข้อสังเกตุว่า ไอโอซี อาจเลือกให้ ปารีส เป็นเจ้าภาพเพราะพวกเขาไม่มีนโยบายเลือกชาติยุโรปรับหน้าเสื่อภายในระยะเวลา 12 ปี หากนับจากครั้งล่าสุดที่ ลอนดอน ปี 2012 ก็ถือว่าเข้าข่าย มาตรฐานนักกีฬาก็อยู่ในเกณฑ์ดีเพราะครั้งล่าสุดที่ ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ก็โกยเหรียญทองกลับมาเป็นอันดับ 7 ของตาราง (10 เหรียญทอง รวมทุกชนิดคือ 42 เหรียญ) ขณะเดียวกัน เมืองหลวงแดนน้ำหอมก็มีแต้มต่อตรงที่พวกเขาเคยจัดงานใหญ่ในวงการลูกหนังอย่าง ยูโร 2016 มาแล้ว
ไอโอซี ส่งเอกสารไปยังสองเมืองที่เป็นแคนดิเดตจัดโอลิมปิก โดยมีเงื่อนไขทั้งหมด 5 ข้อให้ทั้งสองชาติได้พิสูจน์ว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะรับงานใหญ่นี้หรือไม่ เริ่มตั้งแต่ 1. การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณมือถือ อินเตอร์เน็ต ต้องเข้าถึงอย่างรวดเร็วไม่มีปัญหา หรือถ้ามีก็ต้องแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที 2. พลังงานไฟฟ้า ต้องมีกำลังมหาศาลชนิดที่จัดแข่งขันกีฬาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่มีดับหรือไฟตัดกลางคัน 3. สถานที่จัดงานต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และนักกีฬาจากทุกชาติแบบทั่วถึง
4. มาตรการความปลอดภัย จะดูแลชีวิตผู้คนร้อยพ่อพันแม่อย่างไรให้พวกเขามาและกลับไปแบบครบ 32 และ 5.การคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าบริการรถสาธารณะ, แท็กซี่ ต้องครบครัน อย่างไรก็ตาม ข้อ 4.ดูจะเป็นปัญหาที่ ไอโอซี ต้องพิจารณาเป็นพิเศษเพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศส ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามาก่อเหตุนองเลือดบ่อยครั้ง เช่นการยิงถล่มสำนักข่าว ชาร์ลี เอ็บโด หรือเหตุระเบิด-กราดยิงทั่วเมืองหลวง ส่งให้มีคนล้มตายจำนวนมาก แม้ศึก ยูโร 2016 จะผ่านไปราบรื่นแต่ โอลิมปิก เป็นอีเวนต์ที่ใหญ่กว่า ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาประกาศศักดา
โธมัส บาค ประธานของ ไอโอซี ยื่นคำขาดให้ มาครง และรัฐบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ จงเร่งพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า ปารีส คือเมืองที่ปลอดภัย เข้ามาแล้วจะไม่มีใครเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่ ขณะที่สนามแข่งขัน ฝรั่งเศส มีสังเวียนระดับโลกมากมายไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เช่น สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ที่เคยจัด เวิลด์ คัพ ปี 1998, โรลังด์ การ์รอส ที่ใช้จัดเทนนิส แกรนด์ สแลม เฟรนช์ โอเพน ทุกปี, เดอะ กรังด์ พาเลส ใช้จัดกีฬาในร่มพวก แบดมินตัน-เทเบิลเทนนิส-มวยสากล ฯลฯ ใช้เงินแค่ปรับปรุงสนามก็พอ
สื่อแดนน้ำหอมคาดว่าน่างบประมาณจัดการน่าจะเริ่มที่ 3 พันล้านยูโร (ประมาณ 113,631 ล้านบาท) ซึ่งอดีตนักการธนาคารและชายที่เคยรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอย่าง มาครง น่าจะจัดสรรปันส่วนควบคุมงบไม่ให้บานปลายได้ ทว่าความน่าสนใจก็คือผู้นำคนที่ 25 ของฝรั่งเศส และพรรคพวก จะช่วยกันลบภาพเมืองที่ตกเป็นเป้าแห่งการก่อการร้ายในสายตาชาวโลก กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการใด แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าภยันอันตรายนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลก แม้แต่ แอลเอ ผู้ท้าชิง แต่หากชิงล้างภาพลักษณ์ได้ก่อนก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แถมยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายน่าดึงดูดใจกว่า
เรื่องโดย - วัลลภ สวัสดี