xs
xsm
sm
md
lg

อวสานทีมองค์กรไทยลีก จุดตายของการไม่ปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีบีซียู ประกาศยุบทีมกลางอากาศ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ภายหลังจากที่ บีบีซียู เอฟซี ประกาศยุบทีม และถอนชื่อออกจากการแข่งขันไทยลีก 2 ไปดื้อๆ กลางฤดูกาลนี้ โดยเป็นข่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าสร้างความตกใจให้กับวงการลูกหนังไทยไม่น้อย เนื่องจากทีมดังในจังหวัดนนทบุรี ถือเป็นทีมฟุตบอลไทยในระบบอาชีพแห่งแรก ที่มี “บริษัทนิติบุคคล” รองรับ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า “สินธนา” ที่เคยอ้างว่าเป็นเจ้าของทีม จะดึงสิทธิ์กลับไปทำแทนหรือไม่ แต่คงต้องกลับมาไต่เต้าใหม่ตั้งแต่ไทยลีก 4 ตามระเบียบของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

เหมือนดั่งกรณีของตลาดหลักทรัพย์ ที่ประกาศขายทีม ภายหลังเข้าร่วมแข่งในรายการ “จอห์นนี วอล์คเกอร์ ไทยแลนด์ลีก” ลีกกึ่งอาชีพหลายครั้ง “ตลาดหลักทรัพย์” ถูกปัญหาเศรษฐกิจ ปี 2540 เล่นงาน บอร์ดบริหารตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้น ประกาศขายทีม ให้กลุ่มกรุงเทพมหานคร ก่อนจะกลายเป็นทีม ม.รัตนบัณฑิต ในปัจจุบัน

ราชวิถี พักทีมไม่มีกำหนด เนื่องจากไม่สามารถยืนระยะบนลีกสูงสุดในขณะนั้นได้ ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจขอพักทีมเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ก่อนจะกลับมาแข่งขันอีกครั้ง และจบอันดับสุดท้ายในลีกพระรองทำให้ต้องถูกพักทีมงดเข้าร่วมการแข่งขัน ในฤดูกาล 2015 และปัจจุบันก็ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน

ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เข้าร่วมไทยลีก ครั้งที่ 1 ก่อนจะร่วงตกชั้นสู่ดิวิชั่น 1 และกลับมาใหม่ในชื่อ “ไดสตาร์-กรุงเทพฯ พาณิชย์การ” แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินในปี 2540 อีกทั้งยังถูกครหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี "ล้มบอล" นัดที่แพ้ทีมคู่แข่งแย่งแชมป์แบบขาดลอย ทำให้ผู้บริหารทีมถูกสอบสวน และปรับตกชั้นไปถ้วย ง. ขณะนั้น และนำมาสู่การยุบทีมในที่สุด ทำให้อยู่ระยะ ในวงการฟุตบอลไทย ถึง 7 ปี

ธนาคารกสิกรไทย ยุบทีมหลังโลดแล่นอยู่ใน “ลีกกึ่งอาชีพ” นานถึง 13 ปี ฝากผลงานแชมป์ไว้ได้หลายสมัย ถึงขั้นเป็นแชมป์ระดับเอเชีย มีดารานักเตะจำนวนมาก กระทั่งเจอผลกระทบจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” โดยตรง ทำให้ผู้บริหารหาทางออกด้วยการยุบสโมสรกีฬานั่นเอง

ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นทีมยุคก่อตั้งไทยลีก ที่สร้างข่าวช็อควงการ “ประกาศยุบทีม” เนื่องจาก ผู้บริหารไม่มีนโยบายสนับสนุนกีฬา กระทั่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีระเบียบให้สโมสรที่เข้าแข่งขันจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ในฤดูกาล 2009 จึงนำมาสู่การยุบทีม ปิดตำนาน 53 ปี

นอกจากนี้ยังมีทีมรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนมาก ที่หาทางอยู่รอดด้วยการขายทีม และเปลี่ยนชื่อทีม อาทิ ธนาคารกรุงไทย ขายสิทธิให้ บางกอกกล๊าซ เอฟซี จากปัญหาทีมไม่สามารถตั้ง “บริษัทนิติบุคคล” ตามระเบียบได้, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขายสิทธิ์ให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในยุคพรรคภูมิใจไทย กำกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมี กฟภ.อยู่ในกำกับรัฐวิสาหกิจ, ทีมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถูก “กลุ่มทรู” เทคโอเวอร์ เป็น “แบงค็อก ยูไนเต็ด”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของทีมรัฐวิสาหกิจ ที่มีงบจำกัดในการทำทีม ซึ่งไม่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของลีก ในขณะที่คู่แข่งมีการเสริมขุมกำลังดึงนักเตะต่างชาติเข้ามาช่วยล่าความสำเร็จ ในขณะที่ทีมองค์กรเหล่านี้ทำได้เพียงพาพนักงานของตนเองมาเชียร์กีฬา ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเน้นการตลาด หรือหาวิธีเพิ่มจำนวนแฟนบอลของตัวเอง สุดท้ายจะค่อยๆเลือนหายไปตามวัฐจักรของการแข่งขัน

แม้ว่าการประกาศถอนตัวกลางคันของ "บีบีซียู" จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากผู้บริหาร จนเกิดคำถามมากมายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องสภาพทางการเงิน ที่ตระกูล "โพธารามิก" หันไปสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ให้กับกีฬาบาสเกตบอลอย่างเต็มรูปแบบ หรือการเอื้อประโยชน์ให้กับ "ขอนแก่น เอฟซี" ที่ได้สิทธิ์คืนสภาพการเป็นสมาชิกพอดิบพอดี คาดว่าเร็วๆ นี้ สมาคมฟุตบอลฯ จะเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาหารือ และชี้แจงเหตุให้ทุกฝ่ายหายสงสัยอย่างแน่นอน

เรื่อง กิตติยา เชื้อเมืองพาน
ผู้บริหาร บีบีซียู ทุ่มเทให้บาสเกตบอลเต็มตัว
บุรีรัมย์ฯ เทคโอเวอร์ การไฟฟ้า
ธนาคารกรุงเทพ ปิดตำนาน 53 ปีในเวทีลูกหนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น