ผู้จัดการรายวัน 360 - ศึกมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกทั้ง ฟอร์มูลา วัน และ โมโตจีพี ฤดูกาล 2017 จะเปิดฉากสนามแรกในสุดสัปดาห์นี้ ทว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นกว่าข่าวคราวที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดไฟเขียวให้ประเทศไทย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพรถจักรยานยนต์ทางเรียบรายการใหญ่ที่สุดของโลก โดยคาดว่าเกิดขึ้นตลอดปี 2018-2020 ทว่าก่อนจะถึงวันที่ฝันเป็นจริงลองมาดูกันว่าทีมงานจากประเทศไทย มีแผนการเตรียมตัวสำหรับการเป็นเจ้าภาพไว้แล้วอย่างไรบ้าง
การเจรจากับทาง ดอร์นา?
ตัวแทนของสนาม ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ รายหนึ่งเปิดเผยว่าที่ผ่านมาทางผู้บริหารของสนาม ได้มีการพูดคุยกับ ดอร์นา ฝ่ายจัดการแข่งขัน โมโตจีพี มาตั้งแต่ปี 2013 และทางฝ่ายต่างประเทศก็ส่งทีมงานมาตรวจสอบสนามที่เมืองไทยโดยตลอด ซึ่งก็ได้รับรองมาตรฐานจาก สมาพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) ว่าอยู่ในระดับใช้แข่งขันได้ เหลือเพียงแค่รอรัฐบาลและภาคเอกชนจะเปิดไฟเขียวร่วมกัน จนในที่สุดการรอคอยก็สิ้นสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา
งบประมาณ?
มีเงินส่วนหนึ่งแล้วจากรัฐบาลจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งให้การสนับสนุนแบบปีต่อปี ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายเอกชน บริษัทห้างร้านและสินค้าต่างๆที่ต้องผนึกกำลังกัน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเงินทุนในกำมือราว 400 ล้านบาท เป็นค่าลิขสิทธิ์และงบต่อการจัด 1 ครั้ง ถือว่ามากกว่าศึก เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิป ที่ บุรีรัมย์ 3 เท่าตัว (WSBK ปีละ 120 ล้านบาท) และหากรวมกัน 3 ปี เจ้าภาพก็ต้องมีงบทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท ด้วยกัน
ผู้สนับสนุน?
เวลานี้มี 2 บริษัทหลักๆที่ตอบรับมาแล้วคือ ยามาฮ่า และ ปตท. ซึ่งถือเป็นสองบริษัทที่ออกตัวมานานว่ายินดีให้การสนับสนุนตั้งแต่มีข่าวเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ทีมงานของสนาม ช้างฯ ก็ยินดีหากจะมีผู้สนับสนุนจากบริษัทอื่นเข้าร่วมเพิ่มเติม เพื่อจะได้ช่วยกันผลักดันให้ “โมโตจีพี อิน ไทยแลนด์” เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็ไม่น่ายากเพราะงานใหญ่ระดับโลกมองเห็นเม็ดเงินกำไรมหาศาลเช่นนี้ใครๆก็ต้องอยากมีส่วนร่วม
สนามแข่งขัน?
ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต คือสังเวียนที่ได้รับการรับรองจาก FIM ให้อยู่ในระดับ เกรด A แข่งขันศึกสองล้อได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ผ่านมาสนามแห่งนี้ก็ได้เคยจัดรายการเช่น เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิป รวมถึง เอเชีย โรด เรซซิง หลายปี แต่นอกจากการปรับปรุงผิวสนาม เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พ่วงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสนามช้างฯ ก็มีนโยบายเพิ่มจำนวนเก้าอี้ผู้ชมจาก 50,000 ที่นั่งเป็น 80,000 ที่นั่ง เพื่อรองรับผู้ชมในบ้านและต่างประเทศที่คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมหาศาล ส่วนทีมงานเจ้าบ้านก็ต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นจาก 100 คน เป็น 300 คน เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง
การเดินทางและที่พัก?
ส่วนของการขนส่งไม่มีปัญหาเพราะ จ.บุรีรัมย์ มีสนามบินรองรับอยู่แล้ว ส่วนที่พักที่เคยเป็นข่าวชวนกังวลว่าจะไม่เพียงพอนั้น ผู้จัดบอกว่าขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมในตัวเมืองก็พร้อมที่จะสร้างโรงแรมขึ้นมาเพื่อให้เพียงพอต่อทีมงานนักแข่งและนักท่องเที่ยวภายในเวลา 1 ปี และหากไม่พอจริงๆก็ยังมีตัวเลือกเป็นจังหวัดข้างเคียงอย่าง นครราชสีมา ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักและนั่งเครื่องบินเดินทางมาที่สนามได้เลยเพราะใช้เวลาไม่นาน มาเช้า-เย็นกลับก็ทำได้
ช่วงเวลาแข่งขัน?
มีสองตัวเลือกคือ 1.เปิดซีซันหลังแข่งขันที่ กาตาร์ 2.เอเชียเรซ (ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย) ปลายซีซัน เพราะสองช่วงเวลานี้การแข่งขันจะอยู่ในละแวกเอเชีย นักแข่งและทีมงานเดินทางมาเข้าร่วมได้โดยสะดวก ซึ่งอยู่ที่ฝ่ายของ ดอร์นา จะพิจารณาอีกทีว่าจะเลือกไปอยู่ช่วงเวลาใด ส่วนที่เคยมีข่าวว่า เนวิน ต้องการแข่งขันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน คาดว่าเป็นไปได้ยากเพราะเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงรายการที่ อาร์เจนตินา และ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพ การเดินทางจึงลำบาก และอาจมีปัญหาเรื่องขนส่งอุปกรณ์ที่ส่อให้เกิดความล่าช้า
ถ้าเปลี่ยนรัฐบาล?
การเป็นเจ้าภาพ โมโตจีพี ปัจจุบันถือเป็นวาระแห่งชาติที่ ครม.ให้การอนุมัติเรียบร้อย ต่อให้อนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ วาระนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปภายใต้การสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เหลือเพียงเซ็นสัญญาระหว่างตัวแทนผู้บริหารของสนาม ช้างฯ ที่เดินทางไปเจรจากับ ดอร์นา ที่กาตาร์ เท่านั้น คาดว่าจะรับทราบผลในเดือนเมษายน และหากสำเร็จลุล่วง ความฝันที่แฟนสองล้อชาวไทยจะได้เห็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง วาเลนติโน รอสซี มาวาดลวดลายที่เมืองไทยก่อนจะแขวนหมวกกันน็อคในอนาคตอันใกล้ คงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป