xs
xsm
sm
md
lg

“ไมเคิล วาน” ประธานบริหารแอลพีจีเอ กับการทุ่มเทที่ไม่สิ้นสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อการแข่งขันกอล์ฟอาชีพสตรีที่ใหญ่ที่สุดอย่างแอลพีจีเอ ทัวร์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 กับรายการ ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2017 ที่สนามสยามคันทรี คลับ พัทยา โอลด์ คอร์ส จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปีนี้เรามีโอกาสพิเศษได้พูดคุยกับ มร. ไมเคิล วาน (Michael Whan) ประธานบริหาร สมาคมกอล์ฟอาชีพหญิงแห่งสหรัฐอเมริกา หรือแอลพีจีเอ ถึงนโยบายและบทบาทของแอลพีจีเอในการพัฒนาวงการกอล์ฟสตรีทั่วโลก รวมถึงมุมมองที่มีต่อวงการกอล์ฟอาชีพสตรีของไทย

ภาพรวมของแอลพีจีเอจากนิยามของ มร. ไมเคิล วาน รวมอยู่ในคำ 3 คำ คือ ความเป็นสากล เยาวชน และความเจริญเติบโต โดย ความเป็นสากล นั้นเริ่มจากในอดีตแอลพีจีเอมีการแข่งขันอยู่เพียงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ปัจจุบันมีการแข่งขันไปทั่วโลก มีนักกอล์ฟเข้าร่วมแข่งขันจาก 15 ประเทศทั่วโลก มีการถ่ายทอดไปยังผู้ชมอีก 175 ประเทศทุกสัปดาห์ ซึ่งแอลพีจีเอมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ส่วน เยาวชน หมายถึงการได้เห็นนักกอล์ฟสตรีอายุต่ำกว่า 21 ขึ้นมาอยู่บนลีดเดอร์บอร์ดในการแข่งขันมากขึ้น หรือแม้กระทั่ง 3 นักกอล์ฟอันดับโลกที่ทำเงินสูงสุดล้วนเป็นนักกอล์ฟที่อายุยังน้อย และ ความเติบโต หมายถึง จำนวนรายการแข่งขันของแอลพีจีเอมีอัตราการเติบโต 60% เงินรางวัลมีอัตราการเติบโต 65% และการถ่ายทอดรายการผ่านโทรทัศน์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 100% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

พัฒนาการของวงการกอล์ฟอาชีพสตรีในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
“ประเทศไทยนับเป็นตัวอย่างที่ดีของส่วนผสมทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมา ตอนที่แอลพีจีเอเข้ามาจัดการแข่งขันในประเทศไทยใหม่ๆ ยังไม่มีนักกอล์ฟสตรีของไทยมากนัก แต่ในปี 2017 นี้ หนึ่งนักกอล์ฟสตรีที่ดีที่สุดของโลกมาจากประเทศไทย หรือในปีที่แล้วผมจำได้ว่ามีนักกอล์ฟสตรีของไทยที่เข้ารอบควอลิฟายมีจำนวนมากเป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐอเมริกา เหมือนที่ผมกล่าวซ้ำ ๆ ว่าแฟนกอล์ฟชาวไทยต่างตื่นเต้นกับ โมรียา-เอรียา จุฑานุกาล และพรอนงค์ เพชรล้ำ นั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น คลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาก็น่าจับตามองเช่นกัน อย่างน้อยก็ 20 - 30 ปีข้างหน้าแน่นอน

ทำไมแอลพีจีเอจึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดกอล์ฟเอเชีย?
โอกาสในการทำการตลาดในเอเชียนั้นมีมากกว่า แอลพีจีเอมีการแข่งขันรายการเมเจอร์ในยุโรป 2 รายการ แต่ผมคิดว่าหากนับการเติบโตของกอล์ฟสตรี และการเติบโตของธุรกิจแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในเอเชีย มันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เป็นไปได้ เรามีนักกอล์ฟ มีผู้ให้การสนับสนุน และมีฐานแฟนกอล์ฟในทวีปยุโรปอยู่แล้ว แต่โอกาสของกอล์ฟสตรี เราต้องการสร้างความเป็นสากลให้กับแอลพีจีเอ ยกตัวอย่างกีฬาชนิดอื่นๆ อาจได้รับความนิยมอยู่เฉพาะที่ เช่นอเมริกันฟุตบอล หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เป็นต้น การที่กีฬาชนิดใดจะประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั้นเป็นไปได้ แอลพีจีเออยากจะสร้างวงการกอล์ฟสตรีให้เป็นกีฬาที่คนทั่วโลกติดตามชม ไม่ใช่แค่ความนิยมในประเทศใดประเทศหนึ่ง ตอนที่ผมไปร่วมแถลงข่าวในการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงริโอ เดอร์จาเนโร ประเทศบราซิลเมื่อปีที่แล้ว มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามผมว่า รู้สึกอย่างไรที่ทั่วโลกหันมาสนใจดูการแข่งขันกอล์ฟสตรีมากขึ้น ผมตอบว่าการแข่งขันแอลพีจีเอมีนักกอล์ฟสตรีจากทั่วโลกเข้าแข่งขัน การจัดการแข่งขันของเราเพียงแค่ผลัดเปลี่ยนสถานที่เป็นเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ ไม่เหมือนการแข่งขันกีฬาประเภทอื่น เรามีคนดูทั่วโลกติดตามชม มีนักกอล์ฟเยาวชนทั่วโลกต่างพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะได้เข้ามาเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ และในอนาคตแอลพีจีเอจะต้องเติบโตไม่อย่างไม่หยุดยั้ง

มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแข่งขันแอลพีจีเอประเภททีมระหว่างทีมสหรัฐฯ และเอเชีย อย่างรายการ โซเลม คัพ ระหว่างทีมยุโรปและสหรัฐฯ?
ตอนนี้เราจัดการแข่งขัน UL International Crown มีคนถามผมว่าผมกำลังสร้างทีมอเมริกาและทีมเอเชีย ผมเดินทางไปทั่วโลกอย่างมาก ผมรู้ว่า มีทีมจากญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ผมคิดว่านักกอล์ฟแต่ละคนก็อยากเป็นตัวแทนประเทศตนเองในการแข่งขัน เราจึงสร้างทัวร์นาเมนท์ที่แต่ละประเทศจะได้มาร่วมแข่งขันกัน คือรายการ UL International Crown ซึ่งแข่งขันแบบปีเว้นปี โดยมีทีมจาก 8 ประเทศ ทีมละ 4 คนเข้าร่วมการแข่งขัน และในปี 2018 รายการ UL International Crown จะแข่งขันที่ประเทศเกาหลี ซึ่งผมคิดว่าเป็นโอกาสอันทรงพลังอย่างมากที่นักกอล์ฟสตรีของแต่ละประเทศจะได้ลงแข่งในนามประเทศของตนเอง และทีมจากประเทศไทยจะเป็นทีมที่ยากจะเอาชนะได้ทีมหนึ่งทีเดียว นี่คือความสนุกที่จะได้จากการแข่งขัน ซึ่งแอลพีจีเอต้องการสร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นแก่ผู้ชม

โอกาสที่จะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในประเทศไทย?
มีความเป็นไปได้ ตลาดกอล์ฟสตรีในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ ซึ่งจะให้ประโยชน์แก่แฟนกอล์ฟของไทย การถ่ายทอดสดมีอัตราการรับชมที่ดีมาก และมีสนามกอล์ฟที่จัดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจมากสำหรับเรา ตอนนี้ประเทศไทยก็เปรียบเสมือนบ้านของพวกเราไปแล้ว ย้อนหลังไปเมื่อ 10 หรือ 11 ปีที่แล้ว ตอนเราเข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ เรายังไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิต และการเดินทางต่างๆ ไปสถานที่ที่ไม่รู้จัก แต่ในปัจจุบันนี้ การเดินทาง ผู้คน อาสาสมัคร สนามกอล์ฟ สมาชิกของสนาม ทุกคนเป็นเพื่อนกับผมทั้งนั้น ผมรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกับสมัยแรกๆ เป็นอย่างมาก

แอลพีจีเอมีรายการเมเจอร์ 5 รายการ จะมีรายการที่ 6 ในอนาคตหรือไม่ และรายการเมเจอร์ที่ 5 ที่เพิ่งผ่านมามีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง?
เมื่อครั้งที่ผมเข้ารับตำแหน่ง ประธานบริหาร แอลพีจีเอ ผมก็ไม่ได้ตั้งไว้ในใจว่าจะต้องมีรายการเมเจอร์ส์ที่ 5 แต่ผมตระหนักได้ว่าทั่วโลกต่างจับตามองวงการกอล์ฟสตรีหลายครั้งในหนึ่งปีจากรายการเมเจอร์ ณ ประเทศที่เราทำการแข่งขัน เราประสบความสำเร็จทางการตลาดเป็นอย่างดี และการเพิ่มรายการเมเจอร์รายการที่ 5 เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างในช่วงแรกของการจัดการแข่งขันเมเจอร์รายการที่ 5 แต่ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่ามันสร้างโอกาสที่ดีขึ้นให้กับนักกอล์ฟสตรี และนั่นเป็นสิ่งสำคัญที่แอลพีจีเอต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในแวดวงกีฬาในภาพรวม เรามีการแข่งขัน 35 รายการใน 1 ปี ซึ่งนักกอล์ฟสตรีไม่ได้มีรายการแข่งขันมากมายเท่ากับนักกอล์ฟชาย เพราะฉะนั้นแอลพีจีเอจะต้องสร้างโอกาสที่ใหญ่ขึ้น ได้ประโยชน์มากขึ้นให้แก่นักกอล์ฟสตรีของเรา

ความสำเร็จของการแข่งขัน ฮอนด้า แอลพีจีเอ ในประเทศไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และจะต่อยอดไปในอนาคตอย่างไร?
สิ่งที่ดีคือ ผมไม่จำเป็นต้องวางแผนการแข่งขันในประเทศไทย สิ่งที่จะทำให้การแข่งขันนี้ได้รับความนิยมต่อไปคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากการแข่งขันในสนาม โมรียา-เอรียา จุฑานุกาล และ พรอนงค์ เพชรล้ำ นักกอล์ฟจากประเทศไทยจะช่วยเปลี่ยนภาพของการแข่งขันกอล์ฟแอลพีจีเอในประเทศไทยด้วยตัวเอง และจะช่วยเปลี่ยนความคิดของคนไทยที่มีต่อกีฬากอล์ฟ เพราะไม่มีอะไรสร้างการรู้จักในเกมกีฬากอล์ฟได้ดีเท่าการมีนักกอล์ฟที่เป็นซูเปอร์สตาร์ และประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างนักกอล์ฟระดับแถวหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม ยกตัวอย่างนักกอล์ฟอย่าง มิเชล วี หรือ เล็กซี ธอมป์สัน จากสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ดังในฐานะนักกอล์ฟเท่านั้น พวกเธอยังเป็นนักกีฬาดังไปทั่วโลก นักกอล์ฟสาวชาวไทยก็สามารถสร้างปรากฏการณ์นั้นได้เช่นเดียวกัน และจะเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย เด็กเยาวชนอายุ 9-12 ปีก็ฝันอยากประสบความสำเร็จแบบที่นักกอล์ฟรุ่นพี่ทำไว้ เพราะพวกเขาเห็นตัวอย่างที่ดีด้วยตัวเอง ความดังของนักกอล์ฟสตรีของไทยจะสร้างกระแสความนิยมในกีฬากอล์ฟ

รู้สึกอย่างไรที่การแข่งขัน แอลพีจีเอในประเทศไทยจัดขึ้นเป็นปีที่ 11?
แอลพีจีเอ จัดการแข่งขันกอล์ฟสตรีมาอย่างยาวนาน อายุเฉลี่ยของรายการขันของเราอยู่ที่ 15-17 ปี แต่เรามีการแข่งขันรายการแรก ๆ อายุกว่า 45 ปีแล้ว บางรายการแข่งขันจัดต่อเนื่องกันมา 10-15 ปี หรือบางรายการก็เพิ่งเริ่มต้นได้ 4-5 ปี มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันเป็นการเริ่มต้น จากเดิมที่เรารู้สึกเหมือนเป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย แต่เดี๋ยวนี้ความรู้สึกนั้นไม่มีอีกแล้ว เรารู้จักแหล่งท่องเที่ยว สันทนาการ การใช้เงินบาท ร้านอาหาร ร้านนวดสปา เราคุ้นเคยมาก เรารู้จักผู้ร่วมงานทุกราย มันกลายเป็นประสบการณ์ที่แสนสบายเมื่อมาประเทศไทย โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า รายการในประเทศไทยนับเป็นการแข่งขันที่น่าชมอันดับต้นๆ ของโลกเพราะมีนักกอล์ฟสตรีชั้นนำแถวหน้าของโลกเข้าร่วมการแข่งขัน และจะเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันที่ดีที่สุดในโลกในตารางการแข่งขันของเรา และสิ่งที่ดีที่สุดคือนักกอล์ฟชั้นนำเหล่านี้ชื่นชอบที่จะได้กลับมาแข่งขันอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เงินรางวัลจากรายการ Race to CME Globe มีโอกาสเพิ่มขึ้นหรือไม่?
เราปิดฤดูกาลด้วยรายการ CME Group Tour Championship เราได้มีการเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้น เดิม 2 ล้านเหรียญ เป็น 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินโบนัสอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อถึงสัปดาห์สุดท้ายของการแข่งขันก็มีเงินรางวัลถึง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แข่งขันกัน

แอลพีจีเอมีแผนให้การสนับสนุนนักกอล์ฟสตรีสมัครเล่นหรือไม่?
จริงๆ แล้วเราไม่ต้องมุ่งเป้าไปที่การจัดการแข่งขันสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่น ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ประการแรก กฎเกณฑ์ของนักกอล์ฟสมัครเล่นในประเทศต่างๆ มีความซับซ้อนและแตกต่างกันมากมาย เราไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้ ส่วนประการที่ 2 คือเราอยากจะสร้างโอกาสที่ดีในแอลพีจีเอ เพื่อว่าสักวันหนึ่งเมื่อนักกอล์ฟสมัครเล่นเหล่านี้ได้เข้ามาแข่งในฐานะนักกอล์ฟอาชีพ พวกเขาเรานั้นจะมีโอกาสดีๆ รออยู่ เราจะเน้นการสร้างโอกาสให้ได้เข้ามาเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ได้มากขึ้น เราได้พัฒนาการแข่งขันรอบคัดเลือก Symetra Tour -Road to LPGA เป็นต้น

มร. ไมเคิล วาน ปิดท้ายการสนทนาถึงสิ่งที่อยากทำและยังไม่ได้ทำในฐานะประธานบริหารแอลพีจีเอว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ตอนที่เขาเข้ามารับตำแหน่งได้ประกาศว่าจะทำ 3 อย่างให้สำเร็จคือ หนึ่งต้องการสร้างกีฬากอล์ฟให้ไร้พรมแดน มีความเป็นสากลทั่วโลก และสองคือการให้โอกาสแฟนกอล์ฟที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกมีโอกาสได้รับชมการแข่งขันกอล์ฟแอลพีจีเอ สมัยก่อนมีการเผยแพร่ภาพไปเพียง 20 ประเทศ แต่ในปัจจุบันครอบคลุม 170 ประเทศทั่วโลก และจะขยายไปเรื่อยๆ

“สิ่งสุดท้ายคือผมต้องทำให้แน่ใจได้ว่ากอล์ฟจะเป็นกีฬาที่อยู่ในความนิยมระดับต้นๆ ไม่เพียงในโลกของกอล์ฟเท่านั้น แต่ต้องเป็นหนึ่งในโลกของกีฬาในภาพรวมด้วย ซึ่งการทำงานนี้คงไม่มีจุดสิ้นสุดอย่างแน่นอน” วาน ทิ้งท้าย

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น