xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโลกแตก ทีมรุกหรือทีมรับ? / MVP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

หลายท่านที่ตามเชียร์กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลที่คนอเมริกันเรียกกันว่า “ซ็อคเกอร์” มักจะคุ้นหูกับวลีที่ว่า “เกมรุกมีไว้ขายตั๋ว เกมรับมีไว้เพื่อเป็นแชมป์” เชื่อว่าคงเกิดการแตกแยกทางความคิด อาทิ ถ้าเกมรุกไม่ดี แล้วจะชนะได้อย่างไร หรือเกมรับไม่ดี รุกเก่งแค่ไหน มันก็แพ้ได้เสมอ ซึ่งมันก็เป็นปัญหาโลกแตกเหมือนกับ ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันนี่เอง

ย้อนไปสมัยเล่นเกมอเมริกันฟุตบอลยอดฮิตอย่าง “แมดเดน NFL” สัก 10 กว่าปีที่แล้ว พอเลือกโหมด ซีซัน ผมก็มักเล่นแบบ แฟนตาซี ดราฟต์ คือ สร้างทีมเอง ด้วยการคัดเลือกทรัพยากรตำแหน่งต่างๆ อาทิ ควอเตอร์แบ็ก , รันนิงแบ็ก , ปีกนอก , ปีกใน , ออฟเฟนซีฟ ไลน์แมน จนครบทุกขุมกำลัง ซึ่งตัวผมเองมักจะมอง จอมทัพ , ปีกเรตติงสูงๆ สัก 1 คู่ และตัววิ่งเจ๋งๆ อีก 1 คน ช่วง 3 รอบแรกของการดราฟต์ แล้วค่อยมาเลือกทีมรับ ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไร

ตามสายตาของคนเล่นเกม หรือติดตามลีกคนชนคนมาระยะหนึ่ง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงชอบ เกมที่ทำคะแนนเยอะๆ และเบียดกันสูสีจนต้องตัดสินกันถึงวินาทีสุดท้าย รับรองว่าวันใด หากเปิดโทรทัศน์ชมเกมถ่ายทอดสด แล้วเจอ ทรี แอนด์ เอาท์ หรือที่เรียกว่า เปลี่ยนดาวน์ที่ 3 ไม่สำเร็จ ก็ต้องให้ทีมพิเศษลงมาพันท์ หรือเตะฟิลด์โกล ก็แทบจะเปลี่ยนช่องหนี ถ้าไม่ใช่ทีมรักของตัวเอง

เอ่ยมาเสียยืดยาว ไม่ต้องเฉลยก็น่าจะรู้ได้ว่า หากผมทำหน้าที่ผู้จัดการทั่วไป หรือมีแฟรนไชส์สักแห่งของ NFL ก็ต้องเน้นความสำคัญที่ทีมบุก ลองคิดดูว่า หากทีมของคุณปิดสกอร์เฉลี่ยสัก 28-30 แต้มต่อเกม ถึงผลลัพธ์จะต้องชวดเพลย์ออฟ หรือสถิติจะแพ้มากกว่าชนะ ก็ย่อมมองเห็นอนาคตว่า จะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าลองหันมาเน้นเสริมทีมรับ ก็ต้องคิดหนักว่า เกิดทีมทำคะแนนเฉลี่ยสัก 10-20 แต้มต่อเกม แล้วจะเอาอะไรไปชนะเขาล่ะ ถึงจะป้องกันเหนียวแน่นแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าทีมรับจะช่วยทำคะแนนได้ทุกครั้งไป ต่อให้แย่งเทิร์นโอเวอร์มาได้ ตั้งระยะบุกตรงเขต เรด โซน พอส่งทีมบุกลงไป แล้วกลับออกมาด้วย 3 คะแนน ความรู้สึกของแฟนๆ รวมถึงสตาฟฟ์ ก็น่าจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ขาดทุนสุดๆ

เริ่มต้นฤดูกาลปกติ 2016 มาเกือบครึ่งทาง ก็ชักไม่มั่นใจแนวคิดของตัวเอง พอเห็นว่า มินเนโซตา ไวกิงส์ กลายมาเป็นทีมที่ออกสตาร์ทดีสุด (5-0) แม้สัปดาห์นี้จะพ่ายแพ้ไปแล้วก็ตาม หรือ ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์ ที่กุมสถิติชนะ 4 แพ้ 2 นอกเหนือจาก คาร์สัน เวนท์ซ จอมทัพรุกกี จะโดดเด่นช่วงต้นซีซัน ก็ยังมีทีมรับคอยเกื้อหนุน และทั้ง 2 ทีมก็มีเกมป้องกันขว้างอันดับ 1 และ 3 ของลีก และป้องกันวิ่งอันดับ 2 และ 9 ของลีก ตามลำดับ ขณะที่ทีมบุกก็เล่นแบบรัดกุม อย่าพยายามเสี่ยง ค่อยๆ สะสมระยะไปเรื่อยๆ ก็เพียงพอ

ส่วน เดนเวอร์ บรองโกส์ พอปิดฉากยุคของ แมนนิงคนพี่ และ บร็อค ออสไวเลอร์ ที่คาดกันว่าจะมาสานต่อความยิ่งใหญ่ ย้ายไป ฮูสตัน เท็กแซนส์ สุดท้ายพวกเขากลับเลือก เทรเวอร์ ซีเมียน อดีตเบอร์ 3 ขึ้นมาเป็นตัวจริงแบบสุดเซอร์ไพรส์ แต่สุดท้าย แชมป์เก่า ก็ถือว่าไม่ได้ทรุดหนักอะไรมากมาย สถิติชนะ 5 แพ้ 2 อย่างน้อยก็พอมีลุ้นเพลย์ออฟ

แน่นอนว่า สิ่งที่ทำให้ “ม้าป่า” ยืนหยัดอยู่อย่างสง่างาม คือ เกมรับที่นำโดย วอน มิลเลอร์ ไลน์แบ็กเกอร์ดีกรี MVP รอบชิงชนะเลิศ , เดอมาร์คัส แวร์ ไลน์แบ็คเกอร์ตัวเก๋า , อาคิบ ทาลิบ คอร์เนอร์แบ็ก และ ที.เจ.วอร์ด เซฟตีประสบการณ์สูง ผลงานจึงออกมาแตกต่างกับ แครอไลนา แพนเธอร์ส รองแชมป์เก่า ที่จมบ๊วยดิวิชัน เอ็นเอฟซี (NFC) ใต้ ณ เวลานี้

ทฤษฎี “เกมรุกมีไว้ขายตั๋ว เกมรับมีไว้เพื่อเป็นแชมป์” กับ NFL ก็อาจจะยังสรุปไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง เซนต์ หลุยส์ แรมส์ (แอลเอ แรมส์ ปัจจุบัน) ยุคที่คว้าแชมป์ ก็จัดว่าเกมรุกจัดจ้าน ทั้ง เคิร์ต วอร์เนอร์ ควอเตอร์แบ็กซินเดอเรลลา , มาร์แชลล์ ฟอล์ก รันนิงแบ็ก และ ไอแซ็ค บรูซ ปีกนอก ก็ประสบความสำเร็จ หรือ บัลติมอร์ เรฟเวนส์ ชุดแชมป์สมัยแรก ที่ใช้บริการจอมทัพที่หลายๆ ทีมเมินอย่าง เทรนท์ ดิลเฟอร์ แต่มี เรย์ ลูอิส ไลน์แบ็กเกอร์ เป็นลูกพี่ใหญ่ ก็สัมผัสโทรฟี วินซ์ ลอมบาร์ดี ได้เช่นกัน

สุดท้ายแล้วคงต้องบอกว่า เอาตามที่แฟนๆ คนชนคน สบายใจหากจะเลือกแนวทางของตัวเองว่า ชอบเกมรุกดุดัน ทำสกอร์กันเป็นกอบเป็นกำ หรือความดุดัน และความหนักหน่วงในการแท็คเกิลคงจะดีกว่า

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น