ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นับจากนี้เป็นต้นไป สหราชอาณาจักร จะไม่ได้อยู่ร่วมสังฆกรรมกับกลุ่มประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) อีกแล้วเมื่อประชาชนทั่วแผ่นดินร่วมกันลงคะแนนโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์จนแยกตัวออกมาได้สำเร็จ แน่นอนว่า ส่งผลกระทบหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ไม่เว้นวงการกีฬา โดยเฉพาะ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ลีกฟุตบอลยอดนิยมของโลก ซึ่งการแยกตัวครั้งนี้มีผลต่อลีกอย่างไรบ้างไปดูกัน
ค่าตัวนักเตะยุโรปแพงกระฉูด
อย่างที่รู้กันว่าบรรดาทีมดังใน พรีเมียร์ ลีก ล้วนใช้บริการแข้งนอกฝีเท้าดี มีชื่อเสียง เป็นกำลังสำคัญมากกว่านักเตะในประเทศ ซึ่งผลของการที่ อังกฤษ ออกจาก อียู สิ่งที่ตามมาคือจากนี้การซื้อนักเตะพวกซูเปอร์สตาร์จะยากขึ้นเป็นเท่าตัว เหตุเพราะเรื่องของค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลง ยกตัวอย่างหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะซื้อ พอล ป็อกบา จาก ยูเวนตุส ค่าตัวที่ตั้งไว้อยู่ที่ 113.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,324 ล้านบาท) ราคาก็จะเพิ่มเป็น 144 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,761 ล้านบาท) ตามค่าเงินแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
กระทบกฎการเงินของ ยูฟา
ต่อจากข้อด้านบน หากสมมติว่า “ผีแดง” เอาตัว ป็อกบา มาได้จริง รวมถึงไปซื้อแข้งอื่น ๆ มา ผลลัพธ์ก็คือนอกจากต้องจ่ายค่าตัวและค่าจ้างแพงขึ้นจนกระทบเพดานเงินเดือนของทีมแล้ว พวกเขาอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูก ยูฟา ลงโทษเนื่องจากใช้เงินมือเติบโดยไม่สนใจกฎ ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ แต่กลับกลายเป็นผลดีต่อทีมจากลีกอื่นนอกอังกฤษเมื่อพวกเขาจะสามารถซื้อนักเตะจาก พรีเมียร์ ลีก ได้ในราคาถูกลงอีกต่างหาก
การเซ็นสัญญาแข้งต่างชาติร่วมทัพ
มีรายงานเปิดเผยว่า ปัจจุบัน พรีเมียร์ ลีก มีนักเตะจากต่างแดนอยู่ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอดีตกาลที่ผ่านมาพวกเขาสามารถโยกย้ายมาค้าแข้งได้อย่างอิสระเสรี เพราะพกพา พาสปอร์ต อียู ติดตัวกันมาอยู่แล้ว แต่หลังจากการโหวตแยกตัวจาก อียู ออกมาเป็นผล สิ่งที่ต้องติดตามดูคือพวกเขาจะมีมาตรการเรื่องนี้อย่างไร โดย โกล ดอท คอม มองว่า อนาคต ฟีฟา และ ยูฟา อาจมีการตั้งกฎเกณฑ์ว่าคนที่จะย้ายมาเล่นที่ อังกฤษ ต้องลงเล่นให้กับทีมชาติของตัวเองมาสักจำนวนหนึ่ง รวมถึงชาติบ้านเกิดต้องมีแรงกิงของ ฟีฟา สูงพอด้วย
ดาวรุ่งจากยุโรปก็หมดสิทธิ์
ที่ผ่านมา ฟีฟา ได้กำหนดไว้ว่าห้ามทีมเซ็นสัญญากับนักเตะต่างชาติอายุไม่เกิน 16 - 18 ปี แต่เพราะความที่ไม่ได้บังคับให้ทีมจากยุโรปใช้กฎนี้ ทำให้มีดาวรุ่งย้ายอายุน้อยย้ายทีมกันอย่างสนุกสนานดังเช่น เชส ฟาเบรกาส ที่ย้ายสู่ อาร์เซนอล ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก่อนแจ้งเกิดเป็นแข้งระดับโลก แต่เมื่อ อังกฤษ ไม่ได้ร่วมคบค้าสมาคมกับ อียู อีกแล้ว คราวนี้พวกเขาก็หมดสิทธิ์ทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป
โอกาสทองของนักเตะในประเทศ
ในเมื่อถูกกฏเกณฑ์ต่าง ๆ บีบคั้นให้พวกเขามีโอกาสซื้อแข้งนอกได้น้อยลง กลับกันก็ส่งผลดีต่อแข้งในประเทศเมื่อทีมดังทั้งหลายอาจมองถึงการให้นักเตะท้องถิ่น ได้แสดงศักยภาพในเกมระดับโลกมากขึ้น หลังจากถูกค่อนขอดมาตลอดในช่วงหลังว่าเป็นลีกที่ดังเพราะมีแข้งต่างชาติมาช่วยยกระดับ แต่นักเตะท้องถิ่นกลับไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลย ซึ่งแน่นอนว่า จะหากปั้นกันดี ๆ ก็จะส่งให้ทีมชาติอังกฤษมีทัพผู้เล่นที่แข็งแกร่ง ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ตัวเก๋าๆได้เป็นอย่างดี หลังจากเพิ่งตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย ยูโร 2016 มาหมาด ๆ ชนิดที่แฟนบอลยากทำใจรับได้
เวิร์กเพอร์มิตแข้งอเมริกาใต้
ปัจจุบัน พรีเมียร์ ลีก มีนักเตะจากอเมริกาใต้มาร่วมแจม เช่น ดิเอโก คอสตา ของ เชลซี ที่แม้จะรับใช้ทีมชาติสเปน แต่ก็เกิดที่ บราซิล, เลโอนาร์โด อุลลัว ของ เลสเตอร์ ซิตี หรือกระทั่ง อังเคล ดิ มาเรีย ที่เคยเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั้งหมดมาเล่นได้ เพราะ เอฟเอ อนุญาตให้นักเตะที่ถือพาสปอร์ตของ สเปน หรือ โปรตุเกส เข้ามาโชว์ฝีเท้า หรือมีพ่อแม่เกิด และอาศัยอยู่ในประเทศแถบยุโรปพักหนึ่ง ซึ่งอนาคตอาจเป็นไปได้ยากขึ้นเช่นกันเมื่อ อังกฤษ ออกจากอียูไปแล้ว
เรื่องโดย - วัลลภ สวัสดี