ผู้จัดการรายวัน 360 – วงการ มอเตอร์ สปอร์ต เมืองไทย ได้รับสัญญาณที่ดี เมื่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนการจัดการแข่งขันศึก “เอเชีย โรด เรซซิง แชมเปียนชิป 2016” ซึ่ง เนวิน ชิดชอบ เจ้าของสนาม ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต เชื่อว่าขณะนี้เมืองไทยมีความพร้อมทุกด้านในการเป็นเจ้าภาพศึกจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ “โมโต จีพี” แล้ว ขาดเพียงงบสนับสนุนอีกครึ่งจากภาครัฐเท่านั้น
ภายหลังเปิดตัวสนาม “ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” สังเวียนซิ่งมาตรฐานระดับสากล ที่ตั้งอยู่ใน จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2014 ปัจจุบันวงการ มอเตอร์ สปอร์ต เมืองไทย คึกคักขึ้นทันตา เนื่องจากมีการดึงทัวร์นาเมนท์ระดับโลก และระดับเอเชียมาแข่งขันมากมาย ทั้งประเภท 4 ล้อ และ 2 ล้อ อาทิ เวิลด์ ทัวริ่งคาร์ แชมเปียนชิป, เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิป, เอเชีย โรด เรซซิง แชมเปียนชิป, เอเชียน เลอมังส์ ซีรีส์, จีที เอเชีย ซีรีส์ ฯลฯ
โดยในปี 2016 นี้ จะประเดิมศึกใหญ่ คือ “เอเชีย โรด เรซซิง แชมเปียนชิป 2016” หรือการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์เอเชีย สนามที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ซึ่งมีสิ่งที่พิเศษกว่าที่ผ่านมาก็คือการได้ภาครัฐอย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้ามาร่วมสนับสนุนจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก ซึ่ง นายเนวิน ชิดชอบ ประธาน บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จำกัด ในฐานะเจ้าของสนาม เชื่อว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการก้าวสู่การดึงศึก จักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ “โมโต จีพี” มาจัดที่ประเทศไทย
นายเนวิน กล่าวว่า “สำหรับรายการ โมโต จีพี ผมหวังว่าต้องเกิดขึ้นให้ได้ที่เมืองไทยภายในไม่เกิน 2 ปีจากนี้ วันนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีมากเมื่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เริ่มให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญกับมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ขณะที่ในส่วนของสปอนเซอร์จากภาคเอกชนอย่างเครื่องดื่มช้าง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของสนามนั้น ประกาศชัดเจนแล้วว่าพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ ส่วนเรื่องการที่นักแข่งไทยจะไม่มีส่วนร่วมในรายการนี้นั้น ผมมองว่าไม่เป็นไร เราต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้คนไทยที่ดูมอเตอร์สปอร์ต ไม่มีใครอยากดูนักแข่งไทยไปแข่งกับ วาเลนติโน รอสซี หรือ มาร์ค มาร์เกวซ เขาอยากดูพวกนี้ฟาดฟันกันเองเท่านั้น”
ส่วนเรื่องความพร้อม นายเนวิน เผยว่าครบทุกด้านแล้ว ขาดเพียง “เม็ดเงิน” ที่ควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น “เราจัดการแข่งขันระดับโลกมาแล้ว 2 ปี เรื่องสนามไม่มีปัญหาเลย เราจัดรายการ เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ ได้ เราก็จัด โมโต จีพี ได้ ตอนนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่งบประมาณเพียงอย่างเดียว ผมหวังว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย จะให้การสนับสนุนเราในอนาคตให้ดีกว่านี้”
ด้าน นายตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ กรรมการผู้อำนวยการ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จำกัด มั่นใจว่า แม้มูลค่าลิขสิทธิ์ของ “โมโต จีพี” จะสูงถึง 300 ล้านบาท แต่หากได้งบสนับสนุนจากภาครัฐเพียงครึ่งหนึ่งก็สามารถทำได้ทันที “ตอนนี้เรามีโอกาสสูง เพราะสนามพร้อมทุกด้าน แต่การจะเป็นเจ้าภาพ โมโต จีพี เป็นเรื่องของการแข่งกันระหว่างประเทศ ลำพังเราที่เป็นเพียงเอกชนกำลังคงไม่ไหว จำเป็นต้องได้รับการซัพพอร์ทจากภาครัฐให้มากขึ้น อย่างน้อยๆสักครึ่งหนึ่ง หรือเกือบครึ่ง จึงจะเป็นไปได้ ที่ผ่านมาทุกประเทศที่รับจัดแข่งขัน มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างต่ำก็ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ของเราผมมองว่าถ้าได้สักครึ่งก็พร้อมที่จะลงไปสู้กับประเทศอื่นแล้ว ซึ่งตอนนี้หากเรื่องงบประมาณพร้อม เราก็พร้อมที่จะไปคุยทันทีว่าจะทันปี 2017 เลยหรือไม่”
ส่วนเรื่องผลตอบแทนด้านการเงินนั้น นายตนัยศิริ ยอมรับว่าในปีแรกขาดทุนแน่นอน “ต้องยอมรับว่าในปีแรกคงจะขาดทุนแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็เป็นการลงทุนระยะยาว โมโต จีพี มีคนดูต่อครั้ง 800 ล้านคนทั่วโลก ผลประโยชน์ที่ได้จะเป็นเรื่องของชื่อเสียงประเทศ และการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถวัดเป็นมูลค่าเชิงตัวเลขได้ จากภาษีที่เกิดขึ้นในสัปดาห์แข่งขันว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนเท่าไหร่ ส่วนด้านเอกชนก็เป็นการสร้างชื่อให้กับสนามเรา และเมื่อสนามมีชื่อก็จะเป็นที่มาของการดึงอีเวนท์ต่างๆเข้ามาอีกมากมาย จึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากทุกฝ่าย”
ขณะที่ฝั่งค่ายรถยักษ์ใหญ่ นายธีระพงษ์ โอภาสกรกุล ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสสนับสนุนการขายและการตลาด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ให้ความเห็นว่า “เรารู้ดีว่า โมโต จีพี เป็นสุดยอดของโลก ที่มีโอกาสเกิดขึ้นที่เมืองไทย แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล หากได้ภาครัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะถือเป็นการสร้างการท่องเที่ยว สร้างการยอมรับของประเทศสู่ศูนย์กลางของอาเซียนและเอเชีย ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อวงการมอเตอร์ สปอร์ต เมืองไทย หากได้มาจัดสักครั้ง จะช่วยให้กระโดดก้าวไปอีกขั้น และอนาคตจะได้เห็นคนไทยลงแข่งในรายการระดับโลกและประสบความสำเร็จ”
หากยังจำกันได้นับตั้งแต่วินาทีที่คนเรือนแสนแห่ไปรวมตัวกันที่ถนนราชดำเนินเมื่อปลายปี 2553 เพื่อร่วมงาน "ถนนแห่งประวัติศาสตร์ สตรีท ออฟ คิง ราชดำเนิน แบงค็อก 2010" สัมผัสความแรงของรถ ฟอร์มูลา วัน จากค่าย เรด บูลล์ เรซซิง ภายใต้การขับของ มาร์ค เว็บเบอร์ ชาวออสซี ก็เหมือนเป็นการจุดประกายอยากให้ไทยได้เข้าไปอยู่ในปฎิทินการแข่งขัน เอฟวัน ซึ่งมีการตั้งธงให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2014 เหนืออื่นใดติดปัญหามากมาย โดยเฉพาะสนามแข่งขันที่ยากให้เกิดขึ้นทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด
แต่วันนี้มีความเป็นไปได้ในวงการ 2 ล้อที่ดูชื่อชั้นแล้วก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เอฟวัน แถมไทยนั้นมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งหากผลักดันกันจริงๆ รับรองเกิดขึ้นได้แน่นอน อีกทั้งแฟนๆ โมโต จีพี ในเมืองไทยก็น่าจะมีมากกว่าเสียด้วย โดยน่าจะเป็นการชิมลางที่ดีกว่าเป็นไหนๆ ก่อนที่จะฝันเกินตัวก้าวกระโดดไปจัด ฟอร์มูลา วัน