xs
xsm
sm
md
lg

"เซฟตีเฟริสต์"ยื้อชีวิตแข้งไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ขณะที่วงการฟุตบอลในประเทศกำลังตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับโครงสร้างผู้บริหาร อีกทั้งการแข่งขันฟุตบอลลีกไทย ก็เตรียมกลับมาเปิดฤดูกาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามมีอีกเรื่องที่ต้องตระหนักคือความปลอดภัยของนักกีฬา ซึ่งระยะหลังมักมีข่าวคราวการสูญเสียนักฟุตบอลก่อนวัยอันควรขณะแข่งขันจากอาการหัวใจล้มเหลว

ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศจะกลับมาฟาดแข้งนัดประเดิมสนามวันที่ 5-6 มีนาคมนี้ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตผู้เล่นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดย น.อ.นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ รักษาการประธานฝ่ายแพทย์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ผู้มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เผยเบื้องลึกถึงเรื่องราวดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

"ต้องบอกไว้เลยว่าจำนวนเกินครึ่งของนักกีฬาที่เสียชีวิตไม่เคยมีอาการเตือนมาก่อน ซึ่งเหตุการณ์การเสียชีวิตจากโรคหัวใจในนักกีฬานั้นถือว่าน้อยมาก กล่าวคือพบแค่ 2 คนในนักกีฬา 100,000 คน และในประเทศไทยยังไม่เคยเกิดขึ้นกับนักกีฬาในไทยลีก หรือลีกระดับล่าง แต่มีรายงานว่าคนทั่วไปที่เล่นกีฬาชนิดนี้เสียชีวิตบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากการออกกำลังกายที่หนักหน่วงจนเกินไป ทำให้ระบบนำคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ส่งให้เกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก ก่อนจะเสียชีวิตลงในที่สุด"

ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยังได้มอบเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED ให้กับสโมสรในศึกโตโยต้าไทยลีก และดิวิชั่น 1 กว่า 38 “เครื่อง เออีดี หรือเครื่องช่วยหายใจ เป็นสิ่งที่ ฟีฟา และ เอเอฟซี กำหนดให้ทุกการแข่งขันที่รับรองต้องมีทุกสนาม ซึ่งหากสนามไหนไม่มี ก็ไม่สามารถทำการแข่งขันได้ โดยสถิติที่ผ่านมาเกมระหว่าง เนปาล กับ อัฟกานิสถาน มีเหตุการณ์นักฟุตบอลหมดสติระหว่างแข่งขัน ปรากฎว่าเครื่อง AED สามารถช่วยปั้มหัวใจจนนักเตะคนดังกล่าวสามารถกลับมาหายใจได้ทันเวลาพอดี จึงถือว่าเครื่องนี้มีความสำคัญ”

"โดยราคาต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท ทว่าหากสมาคม ซื้อผ่านฟีฟา จะได้ในราคาประมาณ 40,000 บาทต่อเครื่อง ปัจจุบันจึงได้นำเงินที่มาจากค่าปรับของสโมสร จึงได้สั่งเครื่องปั้มหัวใจรุ่นนี้เข้ามากว่า 40 เครื่อง แม้ในแต่ละแมตซ์ที่มีการแข่งขันเราจะเห็นทุกสโมสรมีรถพยาบาลมาคอยดูแล แต่เครื่อง AED สามารถใช้งานง่าย ซึ่งหลักการจะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้ในโรงพยาบาล แต่เครื่องมีขนาดเล็กสามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย"

"การใช้งานจะมีแผ่นนำไฟฟ้ามาแปะไว้ที่ทรวงอกของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจพบแล้วจะบอกเลยว่าผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะหรือไม่ โดยมีเสียงอธิบายหลายภาษาให้เลือกใช้ รวมทั้งภาษาไทย และหากจำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าก็สามารถทำได้ง่ายโดยกดปุ่มที่เครื่อง ทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วสามารถใช้เครื่องนี้ได้ปัจจุบันในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง รวมทั้งสนามกีฬานานาชาติชั้นนำ มักจะมีเครื่องนี้ติดตั้งกันไว้แล้ว"

นอกจากนี้ รักษาการประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลฯ ยังเปิดเผยว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ จะใช้เวลาประมาณ 40 วินาที ในการปั้มหัวใจให้กลับมาปกติ ดังนั้นหากนักเตะหยุดหายใจไป 1 นาที เท่ากับว่านักเตะคนนั้นมีโอกาสรอด 90 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการช่วยชีวิต โดยจะต้องเข้าถึงตัวผู้หมดสติภายใน 2 นาที "ช่วง 2 ปีมานี้ ถือเป็นเรื่องเพราะสมาคมฟุตบอล ได้มีการปรับกฏการทำหน้าที่ของพยาบาลในระหว่างที่มีการแข่งขัน ซึ่งหากพบผู้หมดสติหรือมีอาการหน้ามืดไม่สามารถแข่งขันต่อได้ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปทำการรักษาได้โดยไม่ต้องรอสัญญานนกหวีดจากผู้ตัดสิน เพื่อให้ผู้เล่นได้รับการรักษาที่ทันท่วงที"

แม้ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ยังไม่มีการแต่งตั้งประธานฝ่ายแพทย์ชุดใหม่ และการดำเนินการต่างๆ ต้องหยุดชะงักไป แต่ "หมอไพศาล" ยังยืนยันว่าหากได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่อจะจัดหาเครื่องปั้มหัวใจแจกจ่ายไปยังสโมสรในดิวิชั่น 2 เพราะยังมีการดูแลที่ไม่ทั่วถึง แต่หากไม่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่อ ก็ยังยืนยันที่จะช่วยพัฒนากีฬาฟุตบอลในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้ความรู้ในการรักษาอาการต่างๆ กับสโมสรที่ต้องการความรู้ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับกีฬาฟุตบอลมาอย่างยาวนาน
นักฟุตบอลอาชีพต้องระมัดระวังการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
เครื่อง AED ส่งมอบให้สโมสรในไทยลีกและดิวิชั่น 1 แล้ว
ใช้งานง่าย แม้ไม่ใช้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
หมอไพศาล (กลาง) ประธานฝ่ายแพทย์

กำลังโหลดความคิดเห็น