xs
xsm
sm
md
lg

“อัล คาลีฟา” จะเป็นประธาน ฟีฟ่า คนใหม่ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

การเลือกตั้งประธาน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ผู้นำองค์กรสูงสุดของโลกในวงการฟุตบอลต่อจาก โชเซ้ฟ บลั๊ทเท่อร์ (Joseph Blatter) ประธานคนเก่าที่ตอนนี้ถูกคำสั่งแบนบักโกรก 8 ปี กำลังจะมีขึ้นที่ ฮัลเลนชตาดิออน (Hallenstadion) ในเมืองซูริช (Zurich) ประเทศสวิส ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ผู้ที่มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งมากที่สุดก็คือ เช้ค ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล คาลีฟา (Sheikh Salman bin Ibrahim al Khalifa) ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอ๊ฟซี คนปัจจุบัน

ใครจะได้รับการเลือกตั้งก็ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกฟีฟ่าทั้งสิ้น 209 ชาติ นั่นคือ 140 เสียง ซึ่งหากยังไม่มีใครชนะก็ต้องมีการลงคะแนนในรอบสองหรือรอบต่อๆไปอีก โดยตัดผู้ที่ได้คะแนนเสียงอันดับสุดท้ายออกไปทีละรอบจนเหลือดวลกัน 2 คน และตั้งแต่รอบสองนี้ผู้ชนะได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งก็พอแล้ว

คณะผู้แทนของไทย 3 คนที่เดินทางไปลงคะแนนนั้นประกอบด้วย บิ๊กอ๊อด พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ บิ๊กเจี๊ยบ พลตำรวจโท พิสัณห์ จุลดิลก เลขาธิการสมาคมฯ และ พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการ ฝ่ายต่างประเทศ โดย บิ๊กอ๊อด บอกว่าจะเลือกคนที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาติของเรา ซึ่งผมขอเดาว่า ไม่น่าผิดไปจาก เช้ค ซัลมาน อัล คาลีฟา

การเลือกตั้งหนนี้อาจคาดเดาผลได้ไม่ง่ายเมื่อเปรียบกับครั้งก่อนๆ เนื่องจากเสียงภายในแต่ละทวีปมีแตกกระจัดกระจายให้เห็นอยู่ ผิดจากที่ผ่านมาที่มีการรวมกลุ่มกันทั้งทวีปเทคะแนนให้ที่เรียกว่า บล๊อค โหวททิ่ง (Bloc voting)

แม้ในปัจจุบัน เช้ค ซัลมาน อัล คาลีฟา จะเป็น ประธานเอเอ๊ฟซี แต่คงไม่ได้กวาดไปทั้ง 46 เสียง เนื่องจาก เจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน (Ali bin Al Hussein) วัย 40 ปี จาก จอร์แดน คู่แข่งอีกคนหนึ่งก็เป็นชาวเอเชีย ที่ชัดๆได้รับการสนับสนุนจาก อีรัก แน่นอน ในขณะที่ เชโรม ช็องปาญ (Jerome Champagne) อดีตผู้บริหาร ฟีฟ่า วัย 57 ปี ชาวฝรั่งเศส ก็ได้เสียงจาก ปาเลสตายน์ ไปด้วย

สมาพันธ์ฟุตบอลอัฟริกา หรือ ซีเอเอ๊ฟ มี 54 เสียง นับว่ามีคะแนนโหวทมากที่สุด แต่ โตเกียว เซ็กซ์เวล (Tokyo Sexwale) นักธุรกิจชาวอัฟริกาใต้ วัย 62 ปี ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของคนอัฟริกากลับได้รับการสนับสนุนจากพวกกันเองน้อยเหลือเกิน ในขณะเดียวกัน อัล คาลีฟา ของ เอเอ๊ฟซี ได้บินมาลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือกันกับ ซีเอเอ๊ฟ เรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา อันนี้คงเป็นสัญญาณให้เราเห็น “บล็อค โหวท” ที่ทวีปอัฟริกาจะเทคะแนนให้ใคร

ทวีปยุโรป มี 53 เสียง แม้ว่าคณะกรรมการบริหาร ยูเอ๊ฟฟ่า จะประกาศให้การสนับสนุน จานนี่ อินฟานตีโน่ (Gianni Infantino) เลขาธิการ ยูเอ๊ฟฟ่า ชาวสวิส เชื้อสายอิตาลี วัย 45 ปี ก็ตาม แต่ชาติอื่นที่เขาไม่ได้อยู่ในบอร์ดด้วยบางส่วนยังเหนียวแน่นกับ เจ้าชาย อาลี แห่ง จอร์แดน โดยเฉพาะ มอลต้า ยืนยันเลือกคนเดิมกับคราวที่แล้ว

โซนคอนคาแค้ฟ มี 41 เสียง นี่คือโซนที่เสียงแตกกระจายมากที่สุด เนื่องจากหลายชาติในโซนนี้ล้วนมีผู้บริหารถูกจับโดยหน่วยงานยุติธรรมของ สหรัฐอเมริกา จากกรณีทุจริตใน ฟีฟ่า ทำให้ผู้บริหารหน้าใหม่ หรือที่เข้ามาทำหน้าที่ชั่วคราว ยังคงมึนงง ไม่รู้จะลงคะแนนให้ใคร จับทิศจับทางไม่ถูกเอาเลยทีเดียว

จะมี บล๊อค โหวท มากน้อยขนาดไหนก็ตาม ในการลงคะแนนรอบแรกนั้น ผมคาดเดาว่า เช้ค ซัลมาน อัล คาลีฟา น่าจะได้ประมาณ 90 เสียง อินฟานตีโน่ 80 เสียง เจ้าชาย อาลี ยังอาจมีถึง 30 เสียง และเป็นตัวแปรในรอบต่อไป ส่วนตัวประกอบอีก 2 คนน่าจะได้คนละ 5 เสียง แล้วถ้าเหลือดวลกัน 2 คน อัล คาลีฟา เนื้อหอมกว่าเยอะครับ น่าจะได้เป็น ประธานฟีฟ่า คนต่อไป

มันจะผิดจากนี้ก็ด้วยเหตุเดียวก็คือ ถ้า อเมริกา บังคับเทคะแนนให้คนที่จะช่วยยึดสิทธิ์เจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 คืนจาก กาตาร์ ด้วยข้อหาทุจริต เพราะมันส่งกลิ่นออกมาแล้วว่า ถ้าหลุดจาก กาตาร์ ไป สิทธิ์ดังกล่าวต้องตกเป็นของ อเมริกา ทันที เพราะตอนนั้นได้คะแนนโหวทมาเป็นอันดับสอง อันนี้ก็ตัวใครตัวมันครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น