xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตลาดรอบสอง “ทีมล่าง” ทุ่มเงินหนีตาย อยู่โกยค่าลิขสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมกลางถึงล่างยอมควัก
เอเยนซี - ตลาดซื้อ-ขายนักเตะรอบสองเดือนมกราคมปี 2016 ปิดทำการเรียบร้อย บรรดาสโมสรหัวแถวของ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ แทบไม่ขยับ แต่ที่น่าสนใจคือทีมระดับกลางไปจนถึงล่างพร้อมใจกันทุ่มเงินคว้าผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพ เพราะมีส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากตกชั้น แถมทีมลีก แชมเปียนชิป ยังอยากจะเลื่อนขึ้นมาด้วย

ตลาดปีใหม่ 20 สโมสร พรีเมียร์ ลีก ควักเงินรวมกัน 186.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,252 ล้านบาท) นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ใช้ไปมากที่สุด 28.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,567 ล้านบาท) คว้า 3 แข้ง จอนโจ เชลวีย์ (กองกลาง) แอนดรอส ทาวน์เซนด์ (ปีก) และ อองรี ชิเวต์ (กองหน้า) เพื่อเป้าหมายหนีตายที่ตอนนี้เกาะอันดับ 18 รองลงมาคือ วัตฟอร์ด 26.10 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,353 ล้านบาท) ตามด้วย สโต๊ก ซิตี 18.30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 พันล้านบาท)

แต่ถ้ารวมตลอดทั้งฤดูกาล 2015-16 บรรดา 20 สโมสร พรีเมียร์ ลีก ใช้เงินรวมกันไป 1,085 ล้านปอนด์ (ประมาณ 59,675 ล้านบาท) สูงที่สุดเป็นครั้งแรก โดย แมนเชสเตอร์ ซิตี หักกลบลบหนี้จากที่ขายผู้เล่นใช้ไปมากที่สุด 101.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,582 ล้านบาท) ที่ 2 นิวคาสเซิล 70.1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,850 ล้านบาท) และที่ 3 วัตฟอร์ม 56.2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,091 ล้านบาท)

โดย 5 สโมสรของยุโรปที่จ่ายเงินมากกว่า 10 ล้านปอนด์ (ประมาณ 550 ล้านบาท) แลกกับผู้เล่นคนเดียวช่วงปีใหม่นี้มี 4 ทีมมาจาก พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ คือ บอร์นมัธ, สโต๊ก ซิตี, เอฟเวอร์ตัน, นิวคาสเซิล อีกทีมคือ โรมา ซื้อ เกอร์สัน กองกลางจาก ฟลูมิเนนเซ 12.83 ล้านปอนด์ (ประมาณ 700 ล้านบาท)

แดน โจนส์ จาก “เดลลอยต์” บริษัทวิเคราะห์ทางด้านการเงินชื่อดังระดับโลกสายธุรกิจกีฬาเผยว่า "เราได้เห็นบรรดาสโมสร พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ใช้เงินอีกครั้งช่วงตลาดเปิดเดือนมกราคมนี้ที่เหมือนเป็นการส่งสัญญาณด้านการลงทุน วันสุดท้ายมีการใช้เงินรวมกันจนทะลุ 1 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 55,000 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก"

เหตุที่หลายทีมยอมทุ่มเงินเนื่องจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ เริ่มฤดูกาล 2016-17 ต่อเนื่องถึง 3 ปีจบปี 2019 เพิ่มขึ้นมหาศาลจากการที่ "สกาย" และ "บีที สปอร์ต" ยอมจ่าย 5.14 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 282,700 ล้านบาท) ยังไม่นับรวมรายได้จากต่างประเทศเท่ากับว่าตัวเลขทั้งหมดจะสูงถึง 8 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 440,000 ล้านบาท) ดังนั้นไม่แปลกใจที่การจัดอันดับล่าสุดทีมผู้ดีถึง 17 สโมสรติดโผร่ำรวยท็อป 30

ร็อบ วิลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของกีฬาฟุตบอลจากมหาวิทยาลัย เชฟฟิลด์ ฮัลลัม กล่าวสนับสนุนว่า "เราได้เห็นการเคลื่อนไหวที่มั่นคงของบรรดาสโมสรระดับล่างเวที พรีเมียร์ ลีก ที่ใช้เงินค่อนข้างเยอะในการซื้อผู้เล่นแต่ละคน สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ในลีกสูงสุดเพื่อที่จะได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ทีวีที่มากขึ้น แต่น่าสนใจที่ทีม แชมเปียนชิป ก็ซื้อเช่นกัน เป็นปฎิกิริยาแสดงถึงการลงทุนที่ต้องการจะเลื่อนชั้น"

ซัมเมอร์ที่ผ่านมาเราเห็น แมนเชสเตอร์ ซิตี กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุ่มเงินคว้านักเตะที่สูงเป็นสถิติ อาทิ เควิน เดอ บรุยน์ ปีกเบลเยียมที่ย้ายจาก โวล์ฟสบวร์ก ค่าตัว 55 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,025 ล้านบาท) ไปอยู่ "เรือใบ" และ "ผีแดง" จ่าย 36 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,980 ล้านบาท) พ่วงเงื่อนไขค่าตัวพุ่งกว่านี้อีกซื้อ อองโตนีย์ มาร์กซิอาล หอกดาวรุ่งฝรั่งเศสจาก โมนาโก ส่วนปีใหม่ก็เป็นทีของทีมอย่าง นิวคาสเซิล ที่ไม่ต้องการตกชั้นเพื่อเสียรายได้ในอนาคต ส่วน แอสตัน วิลลา บ๊วยของตารางที่มกราคมนี้ไม่ซื้อแต่ปิดฤดูกาลปี 2015 ก็ใช้ไม่เบาถึง 54.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,992 ล้านบาท)

ส่วนทีมล่างที่ทุ่มเงินเสริมก็มี สโต๊ค ซิตี จ่าย 18.3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 พันล้านบาท) ซิว จานเนลลี อิมบูลา กองกลางจาก เอฟซี ปอร์โต ทุบสถิติสโมสรที่คว้า เซอร์ดาน ชากิรี ปีกชาสวิส 12 ล้านปอนด์ (ประมาณ 660 ล้านบาท) และ บอร์นมัธ น้องใหม่ พรีเมียร์ ลีก ปีนี้ที่เท 10 ล้านปอนด์ (ประมาณ 550 ล้านบาท) และ เบนิค เอโฟเบ เครื่องจักรถล่มประตูจาก วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ที่ปีที่แล้วซัดในลีก แชมเปียนชิป ไปถึง 32 ประตู
สโต๊ค ซื้อเป็นสถิติ
บอร์นมัธ ก็ทุ่ม
หวังโกยคืนจากค่าลิขสิทธิ์

กำลังโหลดความคิดเห็น