เดินทางเข้าสู่วันที่ 7 ของศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ณ กรุง เนปิดอว์ ประเทศพม่า โดยนับเป็นการจัดมหกรรมกีฬาระดับอาเซียนหนแรกในรอบ 44 ปี ซึ่งการเปิดประเทศครั้งแรกนี้ ทำให้ยังมีหลายเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับ "เนปิดอว์ เกมส์" รวมถึงเรื่องน่ารู้เล็กๆ น้อยๆ ต่างในเมืองหลวงแห่งใหม่ดังนี้
มาตรการความปลอดภัย
ขึ้นชื่อว่าพม่า ที่เคยปกครองด้วยระบบทหาร ทำให้การรักษาความปลอยต้องถือว่าอยู่ในระดับสุดยอด ทว่าเรื่องที่ผู้สื่อข่าวไทยรวมถึงชาติอื่นงงไปตามๆ กันคือมาตรการความปลอดภัยของแต่สนามหรือแต่ละวันการตรวจค้นจะไม่เหมือนกัน บางวันคนน้อยตรวจเข้มสแกนบัตรและค้นทุกอย่าง ขณะที่บางวันกองเชียร์เยอะเดินผ่านตามสบาย ส่วนรถสื่อบางวันรถเข้าได้ บางวันห้ามเข้าทั้งที่มีบัตรผ่าน
ถนน 14 เลนเพื่อจอดเครื่องบินฉุกเฉิน
ระหว่างทางไป เซยา ธิรี สปอร์ต คอมเพล็กซ์ สนามแข่งบาสเกตบอล และวอลเลย์บอล ทางการพม่าสร้างถนนขนาดใหญ่จำนวน 14 เลน เพื่อไว้สำหรับกรณีลงจอดเครื่องบินขนาดใหญ่แบบฉุกเฉิน
การวางผังเมือง-การจราจร
เมืองหลวงใหม่ของพม่า ได้รับการช่วยเหลือและเรียนรู้จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในหลายส่วน รวมทั้งการวางผังเมืองหรือโครงสร้างต่างๆ ที่เป็นแบบใยแมงมุมขยายความเจริญจากนอกเข้าสู่ใน แบ่งโซนพื้นที่ชัดเจนเป็นโซนโรงแรม ห้ามสรรพสินค้า สถานที่ราชการ หรือโซนบ้านพักอาศัย ขณะที่การจราจรค่อนข้างโล่งแม้มีทัวร์นามเมนต์ใหญ่ ตามสี่แยกสร้างเป็นวงเวียนขนาดใหญ่เพื่อลดปัญหาการจราจรและรองรับความเจริญในอนาคต
ไม่เปิดแอร์รถยนต์
ด้วยความที่ เนปิดอว์ มีสภาพอากาศที่ไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไป ออกแนวเย็นๆ มีลมพัดมาให้หนาวพอสัมผัส ทำให้ผู้คนส่วนมากมักไม่ค่อยเปิดเครื่องปรับอากาศเวลาขับรถกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติแต่หากเป็นชาวต่างชาติคงไม่คุ้นชินนัก
ป้ายห้ามบ้วนน้ำหมาก
พม่าอาจเป็นประเทศแรกๆ ของอาเซียนที่ยังคงวัฒนธรรมการเคี้ยวหมากไว้อย่างเหนียวแน่น และคงแก้ไขลำบากสำหรับการสั่งห้ามประชาชนบ้วนน้ำหมากลงพื้นถนนที่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว งานนี้ฝ่ายจัดการแข่งขันจึดต้องมีการนำป้าย “ห้ามบ้วนน้ำหมาก” ติดตามจุดในสนามหลักต่างๆ ใน วันนะ เต็กกี สเตเดียม
บัตรเข้าชมการแข่งขัน
เตือนไว้ก่อนว่า หากมาชมทัวร์มาเมนต์นี้และตามหาตั๋วชมการแข่งขันแบบแบบแมตช์ต่อแมตช์ วันต่อวัน ไม่มีแน่นอน หากต้องการซื้อตั๋วเข้าชมเจ้าหน้าที่อาสาจะขอพาสปอร์ต พร้อมชื่อเพื่อทำบัตรผ่านประตูที่ใช้อักษรย่อ AU เพื่อสแกนและเข้าชมทุกสนาม ทุกชนิดกีฬาได้ฟรี (ยกเว้นพิธีเปิด-ปิด และ ฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ซีเกมส์ครั้งนี้ทุกคนจะมีบัตรพร้อมชื่อของตัวเอง แม้กระทั่งคนขับรถแท็กซี่
โทรศัพท์-บัตรเติมเงิน
ในฐานะนักท่องเที่ยวหรือนักข่าว ทางผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพม่าได้จัดเตรียมซิมการ์ดโทรศัพท์สำหรับทัวร์นาเมนต์นี้โดยเฉพาะในราคา 20,000 จ๊าด (ประมาณ 650 บาท) มีเงินในซิมการ์ดให้ 16,000 จ๊าด สำหรับโทรนอกประเทศ และ 2,000 จ๊าด สำหรับการสื่อสารในประเทศ พร้อมเครือข่าย 3G คอยบริการ แต่หากดวงไม่ดีซิมนั้นจะเปิด 3G ไม่ได้ดื้อๆ ทั้งที่เป็นแบบเดียวกัน ส่วนบัตรเติมเงินราคา 5,000 จ๊าด ได้เงินในโทรศัพท์ 1,500 จ๊าด (ต่างจากของไทยเติม 100 ได้ 100)
สีสันกองเชียร์เจ้าถิ่น
ซีเกมส์ เรียกได้ว่า เป็นมหกรรมกีฬาที่ทำให้ผู้คนพม่ามีความสุข สร้างรอยยิ้มและความตื่นตัวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี หลายชนิดกีฬาไม่มีนักกีฬาตัวเองลงแข่งแต่พวกเขายังเข้ามาสร้างสีสัน และร่วมเชียร์ประเทศเพื่อนบ้านแบบสนุกสนาน และเมื่อถึงคราวชาติตัวเองชาวพม่าให้กำลังใจกันเต็มที่แม้เข้าจะไม่ได้ลุ้นเหรียญก็ตาม