เมื่อเดือนก่อนได้ลงบทความเรื่อง การรักษาโรคหมอนนองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทขา โดยการเจาะ (Neucleo plasty) ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านมาก อย่างไรก็ตาม อยากจะเรียนให้ทราบว่า นวัตกรรมการรักษาใหม่ๆเหล่านี้ ยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่ เช่น
1 จะใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหรือข้อบ่งชี้ ที่เหมาะกับวิธีการรักษาหรือเครื่องมือนั้นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเป็นรายๆไป
2 แพทย์ผู้ให้การรักษา จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือใหม่ๆเหล่านั้น คือต้องเป็นแพทย์ที่ได้ฝึกฝนมาโดยเฉพาะ จึงไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
3 ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างแพง เนื่องจากต้องมีการลงทุน ทั้งเครื่องและคน
สรุปได้ว่า วิธีรักษาใหม่ๆเหล่านี้ จะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่เหมาะสมบางรายเท่านั้น
สำหรับวันนี้ก็มีคำถามจากนักกอล์ฟอาวุโส ที่มีปัญหาเรื่องการเดิน อยากทราบเรื่องการรักษาข้อเข่าเสื่อม ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องอีก เอ้า…มาดูข้อมูลเรื่องนี้กันครับ
การผ่าตัดข้อเข่าด้วยการส่องกล้องคืออะไร?
วิธีนี้แพทย์จะทำการเจาะรูเล็กๆบริเวณข้อเข่า แล้วสอดกล้องเข้าไปเพื่อทำการรักษา ซึ่งต่างจากอดีตที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด ด้วยแผลขนาดใหญ่
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
1 จะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นสภาพภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถวินิจฉัยความรุนแรงของการเสื่อมสภาพของข้อเข่า ได้อย่างละเอียดมากขึ้น
2 ทำให้สามารถล้างทำความสะอาดในข้อเข่า (Debridement) ช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวด รวมทั้งสามารถลดเสียงที่เกิดขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหวของข้อเข่าด้วย
3 ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เครื่องมือนี้ ใช้ในการรักษาผิวกระดูกอ่อนที่สึกหรอเป็นแผลให้หายเร็วขึ้น และยังเป็นการช่วยป้องกันการเกิดภาวะเสื่อมของข้อเข่า และชะลอให้เสื่อมช้าลงได้อีกด้วย
4 การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องนี้ มีความปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ เพราะแผลผ่าตัดเล็ก เสียเลือดระหว่างการผ่าตัดน้อยมาก ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก สามารถลงน้ำหนักได้ทันทีหลังผ่าตัด ทำให้กลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
1 ผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในขั้นเริ่มต้น หรือปานกลาง ที่ทานยาไม่ได้ผล
2 ในผ็ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมมาก แต่อายุยังน้อยเกินไปที่จะทำการผ่าตัดผิวข้อเข่าเทียม
3 ทำในกรณีเพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรัง ชื่งไม่สามารถเห็นได้โดยการ x-ray ตามปกติ
นักกอล์ฟเข่าเสื่อม 3 ประเภทนี้ จึงจะทำการผ่าตัดส่องกล้องแล้วได้ผลดีมากครับ