xs
xsm
sm
md
lg

ไฟโอลิมปิก ทนกว่านี้มีมั้ย / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปยัง กรุงลอนเดิ้น ประเทศอังกฤษ เพื่อซึมซับบรรยากาศก่อนที่ “ลอนเดิ้น ทเว็นตี้ ทแว้ลฟ” มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 30 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ มันเป็นช่วงที่ไฟโอลิมปิกเดินทางถึง สหราชอาณาจักรแล้ว

ในสมัยกรีกโบราณถือว่า ไฟ เป็นสัญลักษณ์แห่งเทพ เขาบอกว่า เทพเจ้า โพรเมเธอุส (Prometheus) ขโมยจาก เทพเจ้าซุส (Zeus) ลงมามอบให้แก่มนุษย์เอาไว้ใช้ จึงมีการจุดและรักษาเพลิงให้โชติช่วงตลอด ณ ศาสนสถานหลายแห่งในเมืองโอลิมเปีย (Olympia) ประเทศกรีซ

ในปัจจุบัน ประเพณีการจุดและรักษาเพลิงไว้แบบสมัยโบราณได้รับการฟื้นฟูขึ้นตั้งแต่ปี 1928 ใน โอลิมปิก เกมส์ ที่ กรุงอัมสเตอร์ดัม และอีก 8 ปีต่อมา ที่กรุงแบร์ลิน คาร์ล ดีม (Carl Diem) เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้แนะนำให้มีประเพณีการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกไปยังประเทศเจ้าภาพ ซึ่งไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการแข่งขัน

สำหรับ ลอนเดิ้น ทเว็นตี้ ทแว้ลฟ นี้ ไฟโอลิมปิก เริ่มออกจาก กรุงเอเธนส์ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กว่าจะไปจุดที่กระถางคบเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขันที่ โอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงลอนเดิ้น วันที่ 27 กรกฏาคม ใช้คนวิ่งผลัดกันจำนวนถึง 8,000 คน เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 12,875 กิโลเมตร

คบเพลิงที่ให้คนวิ่งเหล่านี้ถือนั้นผลิตมาอย่างแข็งแกร่ง ทนทาน ต้านแรงลม เขาบอกว่า ทนต่ออุณหภูมิในช่วง -5 ถึง +30 องศาเซลเซียส ได้สบาย ถึงขนาดนำไปทดสอบในอุโมงค์ลมของโรงงานผลิตรถยนต์ เบแอ็มเว (BMW) มาแล้ว ปรากฏว่า สามารถทนต่อแรงลมที่มีความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลองจุดคบเพลิงแล้วฉีดน้ำจากฝักบัวใส่ เอาไปจุ่มหิมะ ก็ยังเฉย ดังนั้น เมื่อคบเพลิงที่ว่านี้ถูกจุดไฟวิ่งไปตามเส้นทางใน สหราชอาณาจักร รับรองไฟไม่มีดับ

ความจริงเขาผลิตคบเพลิงเผื่อเอาไว้หลายอันทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีตะเกียงวิเศษที่เก็บไฟตัวแม่ เอาไว้อีก เผื่อเกิดเหตุไฟในคบเพลิงที่คนวิ่งถือมีอันดับไป จะได้ไม่ต้องเขินอาย รีบไปต่อไฟจากตะเกียงดังกล่าวมาจุดใหม่ ตะเกียงนี้เขาเรียกว่า เดวี่ แล้มพ์ (Davy Lamp) อันนี้เรียกชื่อตาม เซ่อร์ ฮัมฟรี่ เดวี่ (Sir Humphry Davy) คนที่คิดค้นขึ้นมาใช้ในเหมืองถ่านหินตั้งแต่ปี 1815

แม้จะทนทานอย่างไร ไฟคบเพลิงที่ว่านี้ก็ดับมาหลายหนแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ขณะที่ เดหวิด ฟอลเหล็ท (David Follett) นักกีฬาแบ๊ดมินเติ้นคนพิการกำลังนั่งรถเข็นที่มีคบเพลิงเสียบอยู่ข้างๆ จู่ๆ ไฟก็ดับลง ทีมคุ้มกันต้องรีบนำคบเพลิงสำรองมาเปลี่ยนให้ แล้วจัดการต่อไฟจาก ตะเกียงเดวี่ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนต่อไป

เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา เรื่องให้ต้องเสียฟอร์มเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อคบเพลิงถูกนำลงเรือแคนูผ่านสายน้ำลดเลี้ยวเคี้ยวคดและเชี่ยวเหลือกำลังที่ เฮิร์ทเฝิร์ดเช่อร์ (Hertfordshire) ใน ลูเทิ่น (Luton) โดนทั้งน้ำ โดนทั้งลม ไฟดับสนิท แต่ก็ไม่เป็นไร ไฟจาก ตะเกียงเดวี่ ช่วยได้อีกครั้ง

นอกจากต้องฝ่าฟันสภาพดิน ฟ้า อากาศแล้ว ไฟโอลิมปิก ยังต้องเผชิญกับคนอยากลองตลอดทาง แม้ว่าจะมีทีมรักษาความปลอดภัยคบเพลิง (Torch Security Team - TST) ที่คัดมาจากผู้สมัคร 644 คน ทั้งขับขี่มอเตอร์ซายเคิ่ล จักรยาน และวิ่งประกบอย่างแน่นหนา

เมื่อ คบเพลิง มาถึงสนามบินแห่งราชนาวี คัลด์โรส (RNAS Culdrose) ใน คอร์นวอล (Cornwall) ด้วยเที่ยวบิน BA 2012 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม และถูกวิ่งนำมาจากบริเวณแหลมทางตะวันตกสุดของ เกาะอังกฤษ ที่เรียกว่า แลนด์ส เอ็นด์ (Land’s End) มีชายคนหนึ่งวิ่งฝ่าทีมคุ้มกันเข้าไป หมายจะแย่งชิง แต่เพียงเสี้ยววินาทีก็เสร็จทีมคุ้มกัน พุ่งเข้ากดตัวลงนอนกับพื้นแล้วลากออกไป

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ โคเวนทรี่ ก็เช่นกัน คราวนี้เป็นเด็ก 2 คนวิ่งเข้าไปคว้าจากมือนักวิ่งคบเพลิงมาถือได้เพียง 2 วินาทีก็โดนกันตัวออกไป หลังจากนั้น 4 วัน เพียงแค่เด็กขี่จักรยานล้ำเข้าไปในแนววิ่งคบเพลิงนิดเดียว คราวนี้โหดหน่อย ทีมคุ้มกันจับเหวี่ยงออกไปทันที ทั้งคน ทั้งจักรยาน
กำลังโหลดความคิดเห็น