คอลัมน์ ON TRACK โดย เด็กปั๊ม
หากเปรียบทริปการเดินทางของ "เด็กปั๊ม" ในการตะลุยศึกมาเลเซียนกรังด์ปรีซ์ 2011 ที่สนามเซปัง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 19-23 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นบทภาพยนตร์สักเรื่อง คงต้องบอกว่ามันคือบทหนังที่สุดจะดราม่าและหักมุมแบบสุดๆในตอนจบที่ลงเอยด้วยเรื่องเศร้าของ "นักบิดหัวฟู" มาร์โก ซิมอนเชลลี
ก่อนอื่นต้องเอ่ยขอบคุณการท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่เทียบเชิญทีมข่าว MGR SPORT ในทริปโมโตจีพีตลอดระยะเวลาถึง 5 วันในครั้งนี้ เพราะไฮท์ไลท์ของงานอยู่ที่การได้เข้าสนามเซปังในแบบเอ็กซ์คลูซีฟจริงๆ ที่สำคัญนอกจากตัวผมแล้วก็ยังมีผู้สื่อข่าวจากเมืองไทยอีกเพียง 3 เจ้าเท่านั้นคือมติชน และกรังด์ปรีซ์ ชาแนล และมอเตอร์สปอร์ตไลฟ์ ที่ได้รับเชิญเป็นตัวแทนร่วมกับนักข่าวอีก 9 ชาติในการเยือนดินแดนเสือเหลือง
การมาเยือนถิ่นกัวลาลัมเปอร์ หรือ เคแอล ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ของเด็กปั๊มที่มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศความเร็วที่สนามเซปัง อินเตอร์ เนชันแนล เซอร์กิต หลังเมื่อ 8 ปีที่แล้วเคยควักงบส่วนตัวบินมาดูเอฟวัน ชิงแชมป์โลก แต่อย่างที่บอกครับแม้จะเป็นคนละชนิดกีฬาแต่กับโอกาสพิเศษที่ได้ลงไปเดินในช่วงพิตวอร์ค รวมถึงได้ประจำการอยู่บนแพดดอค วิลเลจ ช่างเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งแม้ว่าอากาศจะร้อนระอุตลอด 2 วันที่เดินทางเข้าสนามเซปัง จนผมเองที่ปกติผิวออกคล้ำๆอยู่แล้วถูก เอสเก้ ไกด์มาเลเซียนแซวว่า มาเคแอลเดี๋ยวเดียวกลายเป็นคนผิวดำไปเสียแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าบรรยากาศของผู้ชมในวันแข่งขันนั้นคึกคักกว่าที่คิด เพราะจากบริเวณแพดด็อกที่ผมประจำการอยู่ เห็นได้ชัดเจนเลยวแกรนด์แสตน ทั้ง 2 ฝั่ง และสแตนช่วงโค้งหนึ่งเต็มทุกที่นั่ง
แต่ความชื่นมื่้นในการเยือนเซปังครั้งนี้่ของผมรวมถึงทัพนักข่าวทุกคนต้องจบลงที่เรื่องเศร้าของวงการโมโตจีพีกับข่าวการเสียชีวิตคาแทร็กของ ซิมอนเซลลี โดยในจังหวะนั้นผมเองยืนดูอยู่บนดาดฟ้าแพดด็อกตรงข้ามแกรนด์สแตน และเพียงรอบที่ 2 ก็ได้ยินเสียงฮือจากแฟนๆทั่วสนาม รวมถึงมีธงแดงยุติการแข่งขัน ก่อนที่ "เด็กปั๊ม" จะวิ่งไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากจอโปรเจคเตอร์ยักษ์ จนได้เห็นภาพอุบัติเหตุสยองของนักบิดหัวฟู
ช่วงเวลากว่าครึ่งชั่วโมงที่ผมยืนรออยู่ที่หน้าจอและลุ้นว่าการแข่งขันจะดำเนินต่อหรือไม่ บรรดาแฟนความเร็วในบริเวณนั้นก็มีการจับกลุ่มพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างซิมอนเชลลี ,คอลิน เอ็ดเวิร์ดส์ และวาเลนติโน รอสซี ซึ่งจากเวลาที่นานผิดปกตินี้เอง ผมอดคิดไม่ได้ว่าจะมีข่าวร้ายเกิดขึ้นกับนักบิดเกรซินีฮอนด้า เพราะในช่วงธงแดง ภาพในสนามไม่มีการจับให้เห็นภาพของซิมอนเชลลีเลยแม้แต่ครั้งเดียว
จากนั้นด้วยความสงสัยผมเองตัดสินในเดินเลาะแพดด็อกด้านหลังไปที่หลังพิตการาจของทีมเกรซินี ฮอนด้า ซึ่งมีช่างภาพและนักข่าวยืนมุงเพื่อรออะไรสักอย่างอยู่ร่วม 100 คน ก่อนที่จะได้รับคำตอบแบบสะเทือนอารมณ์จากนักข่าวอิตาเลียนที่สวมเสื้อหมายเลข 46 ของวาเลนติโน รอสซีว่า "เขา(ซิมอนเชลลี)ตายแล้ว"
นักข่าวท่านนั้นบอกกับผมว่า ซิมอนเชลลี หรือที่เรียกสั้นๆว่า SIC คือว่าที่แชมป์โลกโมโตจีพีของคนอิตาเลียน และเป็นความหวังใหม่ต่อจาก "เดอะด็อกเตอร์" วาเลนติโน รอสซี ซึ่งนี่นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการความเร็วอิตาเลียน และวงการโมโตจีพีจริงๆ
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆครับว่าสไตล์การขับแบบบู๊แหลกของมาร์โก รวมถึงบุคลิกอันเป็นเอกลักษ์ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายของศึกโมโตจีพีในช่วง 2 ปีล่าสุด และตัวของซิมอนเชลลีเองก็เพิ่งจะได้ขึ้นโพเดียมอันดับที่ 2 ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดในโมโตจีพีจากแข่งขันสนามล่าสุดที่ออสเตรเลียมาหมาดๆ สุดท้ายเชื่อแน่ว่าแฟนๆความเร็วทั่วโลกจะไม่มีวันลืมนักบิดจอมสีสันรายนี้ และเขาจะอยู่ในความทรงจำของวงการมอเตอร์สปอร์ตโลกตลอดไป "R.I.P. Marco Simoncelli"