xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 67 / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ในยุค ฮาย เท็คนอลลอจี เรามีช่องทางให้ละเลงความคิดเห็นสาดใส่บุคคลเป้าหมายได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งส่วนมากจะมี ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แต่จะออกเสียง และดันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับบุคคลดังกล่าว ขยันเขียนข้อความประณามหยามเหยียด ทำลายให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ขาดความน่าเชื่อถือ หลายคนใช้มุขอ้างความสนิทสนม รู้จักกันดี มีเบื้องลึกเด็ดๆของหมอนั่น บางทีอ้างว่าเคยร่วมงานกัน หรือกระทั่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นก็มี เพื่อปลอมแปลงความถูกต้องแม่นยำของข้อความที่ตนต้องการยัดเยียด คนพวกนี้มีจำนวนไม่น้อยที่คอยทำลาย ด้วยความริษยาในใจ เห็นคนอื่นมีความโดดเด่น เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะในวงการการเมือง บันเทิง หรือวงการอื่นใดเป็นไม่ได้

ผมว่าหลายปีมานี้ คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจใน เนื้อหาสาระ คือไม่สนใจใน คอนเท็นท์ แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นพรรคพวกมากกว่า ใครเป็นคนของเรา เป็นพรรคของพวกเรา ไม่ว่าจะดีจะเลว ผิดหรือถูก ปกป้องไว้ก่อน นั่นหมายถึงมีความพึงพอใจในการเห็นผลประโยชน์เข้าฝ่ายตนมากกว่าความถูกต้อง เป็นธรรม และความเจริญของชาติบ้านเมือง ในขณะเดียวกันก็หมั่นขุดหาเหตุร้อยพันประการมากล่าวอ้างเพื่อย่ำยีบุคคลเป้าหมาย แม้จะมีกฎหมายทยอยออกมาให้เอาผิดได้ แต่น้อยคนที่คิดจะเหน็ดเหนื่อยติดตามเอาเรื่อง เสียเวลา เสียเงิน เสียทั้งชื่อไปเปล่าๆ เพราะคนมีภูมิปัญญาระดับนี้ที่เทใจให้ ข่าวเอามัน มันเยอะอยู่

หากคนไทยให้ความสนใจกับ คอนเท็นท์ แล้วใช้เหตุใช้ผลมาสำแดงในเวทีด้วยความรับผิดชอบ บ่งบอกมาเลยว่าตนคือใคร ไม่ต้องเป็นอีแอบ บ้านเมืองคงไม่ต้องมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาอย่างฝังลึกเช่นในปัจจุบัน ความริษยา อันนี้คงเป็นสันดานแบบฉบับไทยที่ฝรั่งเขารู้มานานแล้ว มันจึงเป็นคำตอบได้ดีว่า ทำไมประเทศไทยจึงไม่เคยอยู่อย่างร่มเย็น เจริญรุดหน้า แต่ต้องตีกันเองเป็นประจำ นับเป็นกรรมของคนที่เกิดมาเป็นไทย ทั้งๆที่ฝรั่งเขาเอาดาวเทียมส่องพบว่า ตรงนี้คือผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

ในวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ บนลู่วิ่งของสนามศุภชลาศัยถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ใช้บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองและกระแสสังคมของไทยได้เป็นอย่างดี นักการเมืองคนไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล หากเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไป มีความโดดเด่นในขณะดำรงตำแหน่ง หรือมีเรื่องฉาวโฉ่ ก็ต้องถูกนำมาล้อเลียนกัน รวมทั้งบางเหตุการณ์ที่เกิดเป็นกระแสสังคมจะถูกหยิบยกขึ้นมาในรูปของหุ่นและป้ายข้อความล้อเลียน เสียดสี กระตุ้นจิตสำนึก มีการแปรอักษร ทั้งแซวกันไปแซวกันมาเรื่องเกมการแข่งขัน และเรื่องการเมืองเป็นระยะ อันนี้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน มีที่มาที่ไป บ่งบอกชาติตระกูลของผู้จัดทำเรียบร้อยครับ ไม่ต้องสื่อกันแบบแอบๆ โดยเรื่องล้อการเมือง เหน็บแบบเจ็บๆ คันๆ เป็นเรื่องของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นเรื่องสะท้อนสังคม จับประเด็นที่เป็นปัญหาทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน

งานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 67 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “ เติมเต็ม ” เนื่องจากได้เล็งเห็นว่า 2-3 ปีมานี้ สังคมไทยมีความแตกแยกกันอย่างรุนแรง จึงพยายามรณรงค์ให้คนไทยรู้จักอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

สำหรับสถิติของการแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 66 ครั้งที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ ชนะ 22 ครั้ง จุฬาฯ ชนะ 13 ครั้ง นอกนั้น เสมอกัน 31 ครั้ง ผมขอเชิญชวนศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน และท่านที่สนใจในงานฟุตบอลประเพณีที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ที่ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ประตูเปิดตั้งแต่ 12.30 น. ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น