ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เริ่มดำเนินการจัดจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2010 รอบสุดท้าย ณ แอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคมปีเดียวกัน อันเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณแห่งการนับถอยหลังเข้าสู่สมรภูมิกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงมีความกังวลใจต่อการเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพ แม้ว่าแอฟริกาใต้จะอุตสาห์ลงทุนลงแรงเป็นจำนวนเงินร่วม 2.5 พันล้านบาท (ประมาณ 8.75 หมื่นล้านบาท) แต่ข่าวคราวที่ออกมาปรากฏว่าการดำเนินการในด้านต่างๆยังคงไม่เรียบร้อยสมบูรณ์จนอาจเสร็จไม่ทันกำหนดการ มีข่าวลือแม้กระทั่งการถอนสิทธิจัดการแข่งขันจากฟีฟ่า และนี่คือการอัพเดตความพร้อมล่าสุดของฟุตบอลโลก 2010 ของแอฟริกาใต้ ณ นาทีนี้
ปัญหาสนามแข่งขัน
แอฟริกาใต้ลงทุนเป็นเงินราว 665 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) เพื่อจัดเตรียมสนามเป็นจำนวน 10 สนามใน 9 เมืองสำคัญเพื่อรองรับการแข่งขัน 64 แมตช์ตลอดทัวร์นาเมนท์ แบ่งเป็นการสร้างขึ้นใหม่ 5 แห่งและปรับปรุงเพิ่มเติมจากสนามรักบี้เก่าอีก 5 แห่ง โดยซอกเกอร์ ซิตี สเตเดียมซึ่งมีความจุ 94,700 คนในเมืองโยฮันเนสเบิร์กจะเป็นสนามที่ใช้ในพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน
ข้อที่น่ากังวลคือความล่าช้าต่อการสร้างสนามใหม่ที่อาจเสร็จไม่ทันกำหนดการที่ฟีฟ่าวางเส้นตายให้ทุกแห่งต้องเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลามคมปีนี้ โดยตอนนี้มีปัญหาอยู่ 2 สนามคือกรีน พอยต์ สเตเดียม ในเมืองเคปทาวน์ และ เนสสัน แมนเดลา เบย์ สเตเดียม ในเมืองพอร์ท เอลิซาเบธ อันเป็นผลมาจากการสไตรก์ของคนงานเมื่อ 2 ปีก่อน แม้แต่ทางฝ่ายเจ้าภาพเองยังยอมรับว่าสนามทั้งสองแห่ง อาจจะต้องลุ้นเสร็จทันกำหนดเส้นตายแบบฉิวเฉียดเลยทีเดียว
ปัญหาการคมนาคมและสาธารณูปโภค
ก่อนหน้านี้แอฟริกาใต้มีระบบขนส่งที่ไม่ดีนักทั้งรถไฟและรถโดยสารประจำทางที่มีจำนวนจำกัดรวมถึงมีอายุการใช้งานนานจนเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ยิ่งจำนวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางมาร่วมในมหกรรมคราวนี้ราว 450,000 คนย่อมไม่สามารถรองรับได้ เจ้าภาพจึงมีการปรับปรุงระบบคมนาคมขนานใหญ่ด้วยการทุ่มงบประมาณราว 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท) เพื่ออัพเกรดสนามบินสำคัญของประเทศและถนนหนทางต่างๆ รวมถึงระบบรางรถไฟที่จะมีการสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินนานาชาติโออาร์ แทมโปในเมืองโยฮันเนสเบิร์กไปยังเมืองแซนด์ตันซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจและที่พักโรงแรมเป็นระยะทางรวม 80 กิโลเมตร แต่ว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงต้องรอจนถึงปลายปีนี้ซึ่งจะทำให้เหลือเวลาทดสอบระบบอีกเพียง 6 เดือน
ด้านสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเรื่องหนักอกของเจ้าภาพเช่นกัน เนื่องจากปกติแล้ววประชาชนภายในประเทศอุปโภคบริโภคกันยังไม่พอเพียง จนต้องมีนโยบายปิดใช้งานในบางช่วงบางเวลา ปัญหานี้ย่อมส่งผลต่อการแข่งขันฟุตบอลที่สนามแต่ละแห่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก แม้ทางเจ้าภาพจะมีการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองบริเวณใกล้เคียงสนามแต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเวลาแข่งจริงจะเกิดเหตุขัดข้องประการใดหรือไม่
อีกหนึ่งปัญหาคือที่พักและโรงแรมสำหรับแฟนบอลที่จะเดินทางมาร่วมชมการแข่งขันยังมีให้บริการไม่เพียงพอ แม้รัฐบาลจะใช้เงินลงทุนเป็นจำนวน 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 800 ล้านบาท) เพื่อสร้างเกสต์เฮาส์และโรงแรมเพิ่มเติมบริเวณพื้นที่รอบๆเมืองโยฮันเนสเบิร์ก แต่กว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต้องรอจนกระทั่งปลายปีเช่นกัน
ปัญหาด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ความแตกต่างด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และความเหลื่อมล้ำทางระดับรายได้ของประชากรทำให้สังคมของงแอฟริกาใต้ขาดความมั่นคงและมีสถิติการก่ออาชญากรรมอย่างสูงลิ่ว แม้หลังจากได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แต่ประเทศยังไม่สามารถจัดการลดสถิติดังกล่าวลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นเมื่อปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวถูกฆาตกรรมเป็นจำนวนกว่า 50 คนเนื่องจากแนวความคิดเกลียดกลัวชาวต่างชาติ แม้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก 140,000 เป็น 190,000 คนในช่วงระหว่างทัวร์นาเมนท์ แต่หลายฝ่ายก็ยังคงไม่มั่นใจต่อการรักษาความปลอดภัยอยู่ดี นี่อาจจะเป็นสิ่งที่แก้ยากและน่าหนักใจที่สุดของเจ้าภาพในจำนวนหลายๆปัญหาที่ระบุไปแล้ว
ประเมินสถานการณ์แล้วการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกของกาฬทวีป จะประสบผลสำเร็จลงด้วยดีหรือไม่ เห็นทีจะต้องลุ้นกันชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด!