นับตั้งแต่กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาถือกำเนิดขึ้นมาในสาระบบราชการไทยเมื่อปี 2545 หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลงานด้านการท่องเที่ยว และกีฬาแห่งนี้ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้ากระทรวงเรื่อยมา ตั้งแต่ สนธยา คุณปลื้ม, สมศักดิ์ เทพสุทิน, ประชา มาลีนนท์, ร้อยโทสุวิทย์ ยอดมณี และ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ทว่าซึ่งจะว่าไปแล้วดูเหมือนรัฐมนตรี แต่ละคนที่เข้ามาทำงานล้วนเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับนโยบายด้านท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่มีงานด้านกีฬาเป็นเรื่องรองของกระทรวงน้องใหม่
แต่ความเปลี่ยนแปลงของกระทรวงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่องยุคสมัยของ "รมต.สุวิทย์" ที่เข้ามาดูแลงานช่วงที่ประเทศไทยเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาถึง 3 งานใหญ่ ประกอบด้วย ฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007, กีฬาซีเกมส์ 2007 และฟุตบอลอาเซียนคัพ 2007 ส่งผลให้รัฐมนตรีมาดนิ่มต้องลงมาดูแลงานกีฬาชาติอย่างเข้มข้น และยังส่งผลให้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องส่ง ดร.ณัฐ อินทรปาณ คนกีฬาตัวจริงมานั่งบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแห่งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระกิจของเจ้ากระทรวงในด้านกีฬาเป็นหลัก
จากผลงานที่ผ่านลุล่วงไปด้วยดีของงานกีฬาระดับชาติถึง 3 งานใหญ่ในครั้งนั้น ส่งผลให้มีกระแสเรียกร้องขึ้นมาอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ที่กระทรวงแห่งนี้จะดูแลงานควบคู่ไปทั้งด้านกีฬา และการท่องเที่ยว อีกหรือไม่
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงยังคงไม่มีมาเช่นเคย เนื่องจากฝ่ายการเมืองมักมองข้ามความสำคัญของงานด้านกีฬา โดย "คิวทอง" ศักดา รัตนสุบรรณ คนโตแห่งวงการสนุกเกอร์ของไทย ยืนยันว่างานของกระทรวงนี้จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องกีฬาเหมือนกัน
"ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐมนตรีหลายคนที่ถูกส่งมาที่กระทรวงนี้จะมาเน้นที่งานด้านท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วงานด้านกีฬาก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ถ้าเมืองไทยมีคนรู้จริงเรื่องกีฬามาทำงานด้านนี้ นักกีฬาของเราจะก้าวไปไกลระดับโลกได้ไม่ยาก"
สอดคล้องกับ "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มองว่ารัฐมนตรีใหม่นั้นไม่เพียงแต่ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ดีเท่านั้น
"เรื่องการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้นไม่ใช่คุณสมบัติเพียงอย่างเดียวของผู้ที่จะมาทำงานในกระทรวงนี้ หากแต่ต้องมีความสามารถในการบริหารงานอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องกีฬา และการท่องเที่ยว แม้ว่าจะยอมรับว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยสามารถทำงานได้กับรัฐมนตรีทุกคน แต่อยากให้ท่านรัฐมนตรีคนใหม่มีความชัดเจนในนโยบายการบริหารงานด้านกีฬาด้วย"
ถึงวันนี้แม้ว่า "อาจารย์เอ" วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนเก่าจะต้องยุติบทบาททางการเมือง และอำลาเก้าอี้กระทรวงที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินไปแล้ว ทว่ายังได้รับความอาลัยอาวรณ์จากผู้คนในแวดวงกีฬา เนื่องจาก "รมต.วีระศักดิ์" แม้จะไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญงานกีฬาโดยตรง ทว่ากลับมีความสามารถในการบริหารงานไม่น้อย โดยเฉพาะการสางปัญหาด้วยการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม จนซื้อใจคนกีฬาได้
ซึ่งการมาถึงของ ชุมพล ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในการทำงานที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ที่ไม่เคยปรากฎชื่ออยู่ในสายงานกีฬาโดยตรง รวมทั้งความรู้ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และการปกครองเป็นหลัก ก็สร้างความเสียวสันหลังให้กับคนในวงการกีฬาได้ไม่น้อยว่ากระทรวงแห่งนี้อาจจะกลับสู่ยุคมืดที่ไร้การเหลียวแลจากเจ้ากระทรวงอีกครั้งก็เป็นได้...