xs
xsm
sm
md
lg

กาสซ่า ในความทรงจำ / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ผมจำได้ว่า ได้ยินชื่อ โพล กาสคอยน์ ( Paul Gascoigne ) ครั้งแรกในปี 1988 ตอนนั้น ผมยังใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กำลังติดตามการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนยุโรปอายุไม่เกิน 21 ปี ( European Under-21 Football Championship ) ตอนนั้น กาสคอยน์ โชว์ฟอร์มเด่นมาก เริ่มฉายแววให้แฟนบอลได้เห็น อย่างไรก็ตาม เส้นทางของทีมเยาวชนอังกฤษต้องจบลงแค่รอบรองชนะเลิศ เพราะโคจรมาเจอกับ ฝรั่งเศส ซึ่งมี เอริก ก็องโตนา ( Eric Cantona ) ฟร็องก์ โซเซ ( Franck Sauzee ) และ โลร็อง บล็อง ( Laurent Blanc ) เป็นกำลังสำคัญ และแพ้ในเลกแรกที่บ้านฝรั่งเศส 2-4 หลังจากนั้น เมื่อไปพบกันในเลกที่ 2 ที่อังกฤษบ้าง ก็ทำได้แค่เสมอ 2-2 ทำให้สกอร์รวม แพ้ฝรั่งเศส 4-6 อดเข้าชิงชนะเลิศ ส่วนฝรั่งเศสเข้าชิงกับกรีซและได้แชมป์จากการเสมอที่บ้านกรีซ 0-0 และชนะที่ฝรั่งเศส 3-0 ยุคนั้นเป็นช่วงที่ กาสคอยน์ ยังอยู่กับ นิวคาสเซิล ก่อนที่จะเซ็นสัญญาไปค้าแข้งกับ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ที่ทำให้ นิวคาสเซิล ได้ค่าปล่อยตัวไปถึง 2.3 ล้านพาวนด์ นับเป็นสถิติสูงสุดในตอนนั้น และเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์เกิสซัน ที่คอยจ้องตะครุบตัวก็ต้องอกหักไป

ลูกกรรมกรแบกอิฐ โพล กาสคอยน์ เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เล่นมันกลางถนน หรือไม่ก็ข้างๆสวนสาธารณะนี่แหละ เด็กคนนี้เล่นฟุตบอลอย่างเอาจริงเอาจังทั้งวัน ซึ่งก็ทำให้เขาก็ติดทีมโรงเรียนเมื่ออายุได้ 8 ขวบ ต่อจากนั้นก็ได้เล่นในสโมสรท้องถิ่น เรดฮิวช์ บอย ( Redheugh Boys' Club ) ทั้งๆที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ด้วยซ้ำ ตอนเขาอายุ 12 ขวบขณะเล่นให้ทีม เกทส์เฮด บอยส์ ( Gateshead Boys ) ก็เริ่มมีแมวมองให้ความสนใจ เขาได้รับการชักชวนให้ไปทดสอบฝีเท้ากับหลายๆสโมสรอย่าง อิพสวิช ทาวน์ มิดเดิลสเบรอ และเซาธ์แฮมตัน แต่ก็ไม่ได้เรื่อง จนในที่สุด นิวคาสเซิล มาคว้าตัวไปเซ็นสัญญาในปี 1980 ในฐานะนักเรียนก่อน เรียนไป ฝึกเล่นบอลไปด้วย ซึ่งเด็กคนนี้คงจินตนาการไปไกล ว่าต้องโด่งดังแน่ ถึงกับหัดเซ็นชื่อตัวเองเอาไว้ เผื่อว่าจะต้องแจกแฟนบอล คุณครูกำลังสอนอะไร ไม่สนใจ จนครูเห็นเข้าก็ดุเอา และบอกกับเขาว่า “ ไอ้หนูเอ๋ย สำเหนียกเอาไว้เถอะว่า คนจะมีโอกาสเป็นนักเตะอาชีพน่ะ มัน 1 ในล้านเท่านั้นหรอก ”

กาสคอยน์ ได้เล่นในทีมเยาวชนของ นิวคาสเซิล จริงๆในปี 1983 ซึ่งตอนนี้เอง ที่เขาถูกเรียกชื่อว่า “ กาสซ่า ” เขาขึ้นมาเล่นทีมใหญ่ในปี 1985 ก่อนที่จะย้ายไปเล่นให้ สเปอร์ ช่วงปี 1988-1992 ซึ่งเขามีส่วนสำคัญทำให้ สเปอร์ จบฤดูกาล 1989-1990 ด้วยอันดับที่ 3 และในฤดูกาลถัดมาก็ได้เข้าชิงชนะเลิศ FA Cup กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งตอนนั้น กาสคอยน์ มีข้อตกลงกับ ลาซิโอ ทีมใน กัลโช เซริเอ อา อิตาลี ไว้แล้ว ด้วยค่าตัว 8.5 ล้านพาวนด์ และเขาก็หวังจะโชว์ศักยภาพในเกมให้เห็นใครๆได้เห็นในนัดชิงชนะเลิศนี่เอง กาสคอยน์ วิ่งสู้ฟัด เสียบไม่ยั้ง จนตนเองเจ็บเอง ถึงกับถูกหามเข้าโรงพยาบาล แม้ สเปอร์ จะได้แชมป์ แต่เขาต้องบาดเจ็บที่หัวเข่า และอดลงเล่นไปตลอดฤดูกาล 1991-1992

ในที่สุด กาสคอยน์ ได้ร่วมทีม ลาซิโอ สมใจในเดือนกันยายนปี 1992 ด้วยค่าตัว 5.5 ล้านพาวนด์ ช่วงเวลาที่เล่นในสตาดิโอ โอลิมปิโก นี้ ถือเป็นความทรงจำที่ไม่ดีเอาเลย มีปัญหากับสื่อมวลชน โหนกแก้มแตก ขาหัก พักยาว ฤดูกาล 1994-1995 แทบไม่ได้ลงเล่นเลย รวมอยู่กับ ลาซิโอ ตั้ง 3 ปี ได้เล่นเพียง 47 แมตช์ ทำประตูได้แค่ 6 ประตู กลางปี 1995 นั่นเองที่ กาสคอยน์ ย้ายมาเล่นในลีกสก็อตแลนด์ กับ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ด้วยค่าตัว 4.3 ล้านพาวนด์ กาสคอยน์ ดูท่าจะมีความสุข ทุ่มเททุกนัด บางครั้งคึกจัด โดยเฉพาะในนัดที่พบกับ ฮิเบอร์เนียน เขาเป็นนักฟุตบอลคนเดียวในโลกกระมังที่ให้ใบเหลืองผู้ตัดสิน เพราะจังหวะที่ผู้ตัดสินทำใบเหลืองตกลงพื้น กาสคอยน์ เข้าไปเก็บให้ แล้วก็หยอกเล่นด้วยการชูใบเหลืองใส่ผู้ตัดสิน แต่ผู้ตัดสินไม่นึกสนุกด้วย จึงลงโทษด้วยการให้ใบเหลือง กาสคอยน์ แทน

นั่นคงเป็นช่วงที่ กาสคอยน์ กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง เขานำ เรนเจอร์ส คว้าแชมป์ชุ่ยเลย แถมตนเองยังได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยม ทั้งจากการโหวตโดยเพื่อนนักเตะเอง และอีกรางวัลจากการโหวตของบรรดาผู้สื่อข่าวกีฬา ถ้าจะต้องย้ายหนีกลับอังกฤษในปี 1998 ก็เพราะถูกขู่ฆ่าจากขบวนการ IRA โดย กาสคอยน์ เผลอไปแสดงท่าทางเป่าฟลุทล้อเลียน อันเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพพวกโปรเตสตันท์ ในนัดที่เจอกับคู่ปรับร่วมเมืองที่เป็น คาทอลิก คือ กลาวโกว์ เซลติค ซึ่งขบวนการปลดปล่อยชาวอายริช ( Irish Republican Army ) มีความเกลียดชัง อาฆาตแค้นพวกกองทัพโปรเตสตันท์อย่างมาก และงานนั้น กาสคอยน์ โดนปรับโดยสโมสรต้นสังกัดอีก 20,000 พาวนด์ด้วย

ไอ้อ้วนจอมซ่า คนนี้อยากให้ใครๆเรียกตัวเองว่า “G8” เพราะ G หมายถึง Gascoign และตนเองก็สวมเสื้อหมายเลข 8 ซึ่งไปพ้องกับชื่อกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่ปัจจุบันรวมตัวกัน 8 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี รัสเซีย และแคนาดา ท้ายๆรายการของ กาสคอยน์ สุดเศร้า ทั้งเหล้า ทั้งโรค นี่ขนาดไม่ได้พูดถึงผลงานที่มีกับทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่เลย แต่สำหรับผมแล้ว กาสซ่า คือ 1 ในตำนานที่ยิ่งใหญ่ร่วมสมัยกับ เอริก ก็องโตนา ครับ วกมาที่ฟุตบอลของไทย วันเสาร์ที่ 1 มีนาคมนี้ ใครอยากเชียร์จุฬาลงกรณ์ ก็ให้กำลังใจกันได้ นัดนี้ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าบ้านที่ใช้สนามจุฬาลงกรณ์เป็นสนามเหย้า พบ จุฬาลงกรณ์ เจ้าของสนามตัวจริง ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.chulafc.com ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น