xs
xsm
sm
md
lg

ดังทั่วโลก แต่มาดับที่เมืองไทย / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ "EYE ON SPORTS" โดย กษิติ กมลนาวิน

การแข่งขันกีฬาที่วัดกันที่ความเร็ว โดยเฉพาะกรีฑานั้นต้องอาศัยนาฬิกาเป็นเครื่องช่วยจับเวลา แรกๆก็ใช้นาฬิกาธรรมดาจับเวลากันดื้อๆเลย พอถึงปี 1940 เริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Super-chronographe เข้ามาใช้ ซึ่งเข็มของมันสามารถหมุนครบรอบได้ภายใน 3 วินาที และมีความแม่นยำถึงเศษ 1 ส่วน 100 วินาที ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ก็มีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นเป็นลำดับ ทั้งแม่นยำและละเอียดขึ้นเรื่อยๆ วัดได้ถึงขนาดเศษ 1 ส่วน 10,000 ของวินาที จนในปัจจุบันเป็นระบบจับเวลาแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องยกให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นจ้าวแห่งความเที่ยงตรง และมักได้รับความไว้วางใจใช้ในการแข่งขันรายการต่างๆอยู่เสมอ รวมทั้งกีฬามหาวิทยาลัยโลก ฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอยู่ขณะนี้ด้วย

ที่ผ่านมา การจับเวลาในการแข่งขันรายการต่างๆทั่วโลกก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวมากมาย แต่การแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย กีฬามหาวิทยาลัยโลก รอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อ Simeon Williamson ลมกรดจากเกรท บริเทน วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 แต่ถูกประท้วงจากทีมจีนและทีมยูเครน ว่าเขาออกสตาร์ทผิดกติกา โดยออกสตาร์ทหลังจากเสียงสัญญาณปืนปล่อยตัวไม่ถึง 0.10 วินาที จนทำให้คณะกรรมการต้องจัดให้มีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกันอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่งแม้ผลการแข่งขันในครั้งที่ 2 จะได้ผู้ชนะเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงตามลำดับเป็นรายเดิมกับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศครั้งแรก แต่ก็ยังเป็นปัญหาคาใจอยู่ว่า ทำไมกรรมการไม่ทราบว่า Williamson ออกสตาร์ทผิดกติกา

ผมต้องขออธิบายกฎ กติกาของกรีฑาให้ทราบก่อนว่า ในการออกสตาร์ท นักกรีฑาจะต้องฟังจากสัญญาณปืนปล่อยตัวสถานเดียว โดยจะมีลำโพงเล็กๆอยู่ด้านหลังนักวิ่งทุกช่อง คำสั่งจะเป็น 3 จังหวะ คือ “ เข้าที่ ” “ ระวัง ” แล้วก็ ยิงปืนสัญญาณปล่อยตัว ห้ามใช้วิธีเดาหรือเก็งจังหวะเอาเอง

หลังจากคำสั่ง “ ระวัง ” ซึ่งจากการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์การกีฬาจนกลายเป็นกติกา ระบุว่าปฏิกิริยา ( Reaction Time ) ของนักวิ่งจะต้องไม่ออกสตาร์ทเร็วกว่า 0.10 วินาที ถ้าเร็วกว่านั้น มันเป็นไปไม่ได้ หมอนั่นคงใช้วิธีเก็งจังหวะแน่นอน ให้ถือว่า ฟาวล์ ซึ่งในการวิ่งระยะสั้น จนถึง 400 เมตร รวมทั้ง นักกรีฑาผลัดแรกของรายการวิ่งผลัดนั้น เขาจะใช้เครื่องช่วยในการออกสตาร์ทที่เรียกว่า เครื่องยันเท้า ( Starting Block ) ที่จะมีการต่อเชื่อมกับระบบจับการออกสตาร์ทผิดกติกา ( False Start ) แล้วไปเข้าหูฟังที่ผู้ให้สัญญาณปล่อยตัวสวมอยู่ นอกจากนั้น จะมีลำโพงส่งเสียงบี๊ปให้ผู้ชมทั่วไปได้ยินด้วย ถ้าออกสตาร์ทเร็วกว่า 0.10 วินาที เครื่องก็ฟ้องทันที และกรรมการปล่อยตัวจะยิงปืนสัญญาณอีกครั้งเพื่อแจ้งว่ามีการออกสตาร์ทผิดกติกา

ในรอบชิงชนะเลิศที่เกิดปัญหานั้น เมื่อปล่อยตัวออกไปแล้ว ไม่มีเสียงบี๊ปของการออกสตาร์ทผิดกติกา กรรมการก็ไม่ได้ยินอะไรผิดปกติ จึงไม่มีการยิงปืนสัญญาณแจ้ง False Start แต่ในใบรายงานผลการแข่งขันฟ้องชัดๆว่า Williamson มีปฏิกิริยาเพียง 0.099 วินาที เมื่อมีการประท้วง คณะกรรมการจึงต้องยอมจำนวน จัดให้มีการแข่งใหม่ คำถามก็เกิดขึ้นว่า เครื่องจับการออกสตาร์ทต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ทำงานผิดพลาดแหงๆ เป็นเหตุให้ ดาเนียล โคห์เลอร์ (Daniel Kohler) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ 112 ชีวิตจากบริษัท Swiss Timing ที่ทำหน้าที่ควบคุมการจับเวลาทั้งหมดในกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งนี้ต้องทำการตรวจสอบเพื่อค้นหาสาเหตุให้ได้ว่า มันผิดพลาดตรงไหน

คืนนั้นจนถึงตีหนึ่ง พวกเขาทดสอบอย่างละเอียดทุกจุด ทำการจำลองเหตุการณ์นับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งทุกครั้งก็จะได้ผลเป็นปกติทุกอย่างคือ ถ้าออกสตาร์ทไม่ก่อน 0.10 วินาที เครื่องก็ไม่มีเสียงบี๊ป แต่ครั้งใดก็ตามที่ออกสตาร์ทก่อนเวลาดังกล่าว เครื่องจะฟ้องทันที จนในที่สุดต้องยอมแพ้และได้ข้อสรุปว่า ไม่ทราบสาเหตุ คุณโคห์เลอร์กล่าวกับผมอย่างละเหี่ยว่า มันคงเป็นภูติ ผี ปีศาจอะไรสักอย่างที่ทำให้มันผิดปกติแค่รอบชิงชนะเลิศครั้งนั้นครั้งเดียว

ในโอลิมปิก เกมส์ 2008 ที่กรุงเป่ยจิ๊ง ประเทศจีนนั้น ก็ยังคงต้องใช้ทีมงานควบคุมการจับเวลาในการแข่งขันจากสวิตเซอร์แลนด์อีก แต่คราวนี้เป็นของโอเมกา ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นข้อให้ควรระวัง สกัดจุดบกพร่องทุกจุด เพราะชื่อเสียงความเที่ยงตรงแม่นยำ สวิสสร้างสมจากประวัติศาสตร์ความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ตรงต่อเวลา มานับพันปี แล้วคราวนี้จะมาพังที่เมืองไทยก็ให้มันรู้ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น