xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟลอย แลนดิส’ ความพ่ายแพ้บนบัลลังก์แชมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เสื้อเหลือง” หรือ (Maillot Jaune ในภาษาฝรั่งเศส) อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ครองแชมป์จักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ รายการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของแวดวงสองล้อ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างให้แลนซ์ อาร์มสตรอง กลายเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกแล้ว ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันที่นักปั่นทุกคนมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะโดยไม่สนใจวิธีการเข้าเส้นชัยว่าจะต้องใช้สารกระตุ้นหรือกลโกงมากน้อยเพียงใด

ฟลอยด์ แลนดิส ไม่ใช่นักปั่นจักรยานทางไกลรายแรกของรายการนี้ที่พบกับข้อกล่าวหาว่าใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน แต่ที่กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกนั่นเป็นเพราะแลนดิส คือแชมป์ของการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์ ประจำปี 2006 เป็นแชมป์ที่สร้างผลงานที่เรียกว่าเหลือเชื่อบนเส้นทางขึ้นเทือกเขาแอลป์ในสเตจที่ 17 จากที่เวลาร่วมตามหลังผู้นำอย่าง ออสก้าร์ เปไรโร่ ถึง 10 นาที

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นหลัง แลนดิส รับแชมป์ไปแล้ว 5 วันและเจ้าหน้าที่ในห้องแล็ปตรวจพบว่าตัวอย่างปัสสาวะของแชมป์ชาวสหรัฐฯมีปริมาณสารกระตุ้น "เทสโตสเตอโรน" มากกว่าระดับปกติ และเป็นการตรวจตัวอย่างปัสสาวะเอ จากสเตจที่ 17 อันเป็นสเตจที่แลนดิส กลับคืนสู่ตำแหน่งผู้นำในเวลารวม และยังคว้าชัยในสเตจดังกล่าวมาครองได้อีกด้วย

ก่อนหน้าที่การแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ในปีนี้จะเริ่มต้นขึ้นนั้น มีนักปั่นจักรยานทางไกลชื่อดังอย่างน้อยสองคนไม่ได้รับสิทธิ์ให้ลงสนามในกรุงปารีส หลังมีผลตรวจปัสสาวะจากสเปน แจ้งมาว่า แยน อูลลิช และ อีวาน บาสโซ่ มีการใช้สารกระตุ้นในรายการดังกล่าว ทำให้ทั้งคู่หมดสิทธิที่จะเข้าร่วมในรายการนี้ และท้ายที่สุด อูลลิช นักปั่นชาวเยอรมันถูกที โมบายล์ ทีมต้นสังกัดสั่งปลดกลางอากาศทันทีที่ทราบผลการตรวจ

ความอื้อฉาวดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการแข่งขัน และระยะทางตลอดทั้ง 20 สเตจ เพียงพอจะทำให้ผู้คนลืมเรื่องราวดังกล่าว ในขณะเดียวกันนั้นชัยชนะของ “แลนดิส” นักปั่นหนุ่มวัย 30 ปีแห่งทีมโฟแน็ค ซึ่งเข้าเส้นชัยที่ปารีสเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 49 ที่ผ่านมาผลงานในฐานะแชมป์คนใหม่หลังจาก อาร์มสตรอง ครองแชมป์ในรายการนี้นับตั้งแต่ปี 1999 ดูเหมือนว่าภาพของ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ จะกลับคืนสู่ความสดใสอีกครั้ง

แต่ชัยชนะของ แลนดิส อยู่กับเขาได้เพียง 5 วัน นักปั่นจากสหรัฐฯ ก็ต้องเจอกับข่าวร้ายเมื่อห้องแลปในฝรั่งเศสตรวจพบว่ามีสาร"เทสโตสเตอโรน" ในปัสสาวะมากกว่าปกติของการแข่งขันช่วงสเตจที่ 17 ซึ่งแลนดิส สร้างตำนานปั่นอันน่าอัศจรรย์ด้วยการคว้าแชมป์ในสเตจดังกล่าวจนกระทั่งทำให้ขึ้นเป็นผู้นำในเวลารวม

โดยการแข่งขันในช่วงสเตจที่ 16 นั้นแลนดิสซึ่งประสบอุบัติเหตุและทำเวลาได้ไม่ดีมีอันดับร่วงลงไปจากตำแหน่งผู้นำ และมีเวลาตามหลัง เปไร์โร่ นักปั่นชาวสเปนถึง 10 นาที แต่การแข่งขันในช่วงสเตจที่ 17 กลายเป็นผลงานอันน่าอัศจรรย์ที่ แลนดิส สามารถกลับคืนสู่สนามและคว้าตำแหน่งแชมป์สเตจพร้อมกับผู้นำในเวลารวมกลับคืนมาได้

สำหรับตัวอย่างปัสสาวะของแลนดิส ที่ถูกตรวจพบว่ามีสารกระตุ้น "เทสโตสเตอโรน" นั้นเป็นตัวอย่างเอ และจะมีการพิสูจน์ตัวอย่าง บี เพื่อยืนยันอีกครั้งว่าการตรวจพบดังกล่าวถูกต้อง ซึ่งเจ้าตัวเองออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้สารกระตุ้น แต่อาจเป็นเพราะการดื่มวิสกี้กับเพื่อร่วมทีมหลังจบการแข่งขันในสเตจที่ 16 รวมไปถึงยาที่แก้อาการปวดสะโพกของเขา ที่ทำให้ตรวจพบสารดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะก็เป็นได้

ข้อแก้ตัวของ แลนดิส ที่เปิดแถลงข่าวในรัฐเท็กซัสเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เหล่ากองเชียร์แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อ แต่สำหรับผลงานอันน่าอัศจรรย์ของแลนดิส ในช่วงสเตจที่ 17 ก็กลายเป็นเรื่องน่ากังขา หากผลการพิสูจน์ตัวอย่างปัสสาวะครั้งที่สองยังยืนว่ามีสารกระตุ้นอยู่จะทำให้ ออสก้าร์ เปไรโร่ ในฐานะอันดับที่สองจะคว้าตำแหน่งแชมป์ไปในทันที

แม้ว่าเรื่องดังกล่าวยังต้องรอการพิสูจน์อีกครั้งแต่ดูเหมือนว่าเวลานี้หลายคนต่างเชื่อกันแล้วว่า แลนดิส ใช้สารกระตุ้นจริง เพราะทีม โฟแน็ค นั้นได้ชื่อว่าเป็นทีมที่เปรียบเสมือนกับศูนย์กลางของนักปั่นที่ใช้สารกระตุ้น โดยก่อนหน้านี้ เทย์เลอร์ ฮามิลตัน นักปั่นไทม์ไทรอัล เหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งสังกัดอยู่กับทีมโฟแน็ค ก็เคยถูกโทษแบนถึงสองปีหลังถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นและแน่นอนว่าในครั้งนี้ แลนดิส ก็หนีไม่พ้นความสงสัยดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ แลนซ์ อาร์มสตรอง เจ้าของแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 7 สมัยก็เคยถูกข้อกล่าวหาว่าใช้สารกระตุ้นเช่นกัน โดยหัวเรือใหญ่ที่ประโคมข่าวดังกล่าวได้แค่ หนังสือพิมพ์เลส์ กิปส์ ของฝรั่งเศส ที่กัดไม่ปล่อยหลังมีกระแสข่าวว่าแลนซ์ใช้สารกระตุ้นในการคว้าชัยชนะตูร์ เดอ ฟรองซ์ปี 1999 อันเป็นครั้งแรกที่แลนซ์ ลงสนามหลังจากผ่านการบำบัดทางเคมีจนหายจากโรคมะเร็ง

ซึ่งชัยชนะดังกล่าวต่างตกอยู่ในความสงสัยของเกจิ รายการตูร์เดอ ฟรองซ์ หลายคนเพราะเส้นทางการแข่งขันตลอด 20 สเตจรอบประเทศฝรั่งเศสผ่านเข้าพรมแดนสเปนนั้น ก่อนจะถึงเส้นชัยบนถนน ฌองป์ เอลิเซย์ ในมหานครปารีสเป็นเส้นทางการแข่งขันที่นักปั่นต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของตนเองเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเส้นทางถนนแล้ว การขึ้นเขาไม่ต่ำกว่า 5 ลูก ก็เป็นอีกหนึ่งในความยากลำบากของการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งภายหลังแม้ไม่มีข้อพิสูจน์จากทางผู้จัดการแข่งขันแต่แลนซ์ ก็พ้นข้อกล่าวหาใช้สารกระตุ้นและฟ้องกลับหนังสือพิมพ์เลส์ กิปส์ เป็นที่เรียบร้อย

ปัญหาเรื่องการใช้สารกระตุ้นในการแข่งขัน จักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ในมีมานานแล้วเพียงแต่มากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของทีมหรือนักปั่นที่ถูกจับได้ว่าใช้สารกระตุ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าแลนดิส จะผิดจริงหรือรอดตัว วงการจักรยานทางไกลก็ถูกวางสถานะให้เป็นแวดวงที่อุดมไปด้วยนักกีฬาที่มุ่งมั่นเพียงเพื่อคว้าชัยชนะ โดยไม่สนใจว่าเกียรติยศดังกล่าวจะได้มาด้วยความถูกต้องหรือไม่ ดังเช่นการเสียชีวิตของ “ทอม ซิมป์สัน” นักปั่นชาวอังกฤษก็ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้น หลังเสียชีวิตระหว่างการแข่งขันในเส้นทางขึ้นเขา มองท์ เวนทูซ์ ในปี 1967 โดยก่อนจะเสียชีวิต ซิมป์สันกล่าวกับเพื่อนร่วมทีมว่า "เอาฉันกลับขึ้นไปบนจักรยานที" อันเป็นประโยคที่ยังคงสะเทือนใจนักแข่งทุกคนมาจนทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น