xs
xsm
sm
md
lg

‘Don’t Cry For Me South America’ ความล้มเหลวของทีมอเมริกาใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดฉากอย่างเร้าใจไปแล้ว สำหรับทีมชาติที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่เป็นตัวแทนจากทวีปอเมริกาใต้ ไม่หลงเหลือทีมใดอยู่อีกเพื่อฝ่าฟันไปสู่แชมป์โลก

พลันที่ทีมชาติอาร์เจนติน่า ดวลจุดโทษพ่ายให้กับเจ้าภาพ เยอรมนี เสียงเพลง ‘Don’ Cry For Me Argentina’ จากผลงานการประพันธ์ของเซอร์แอนดริว ลอยด์ เวบเบอร์ ก็กระหึ่มก้องในใจของกองเชียร์อาร์เจนติน่า และคนทั่วโลกที่เชียร์ทีมฟ้าขาวทีมนี้

ในอีกวันถัดมา มนต์เพลงแซมบ้าก็หงอยเหงาเมื่อทีมชาติบราซิลพ่ายอย่างหมดรูปกับฝรั่งเศส เพียงแค่ประตูเดียวเท่านั้นของเธียรี่ อองรี ทำให้เสียงเฉลิมฉลองในแบบคาร์นิวาลเงียบเหงาหายไปในสายลม

ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ไม่ใช่ที่ทางของทีมฟุตบอลจากอเมริกาใต้ที่จะประกาศศักดาหรือความยิ่งใหญ่ ปารากวัยตกรอบแรกแบบหมดรูปตั้งแต่ 2 นัดแรกผ่านพ้นไป, เอกวาดอร์ผ่านเข้ารอบ 2 มาแบบสวยหรู แต่ก็ตกม้าตายพ่ายแพ้ลูกฟรีคิกของเดวิด เบ็คแฮม กัปตันทีมชาติอังกฤษ

ผืนแผ่นดินในทวีปยุโรปเป็นยาขม สำหรับทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลกที่ทีมจากอเมริกาใต้ไม่เคยขึ้นบนยอดสูงสุดได้ชูถ้วยฟุตบอลโลกเหนือศีรษะเลย ยกเว้นบราซิลในอดีตเพียงหนเดียว

จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็น ‘อาถรรพ์’

อย่าร้องไห้เพื่อฉัน อเมริกาใต้ ‘Don’t Cry For Me South America’ น่าจะเป็นการสรุปสภาวการณ์และภาพความรันทดโศกเศร้าของกองเชียร์ชาวละตินอเมริกาได้เป็นอย่างดี

หากมาดูตั้งแต่รอบคัดเลือกในฟุตบอลโลกโซนอเมริกาใต้ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชาติด้วยกันคือ บราซิล, อาร์เจนติน่า, ปรากวัย, เอกวาดอร์, อุรุกวัย, โคลัมเบีย, เปรู, ชิลี, โบลิเวีย และเวเนซุเอลา ซึ่งกว่าจะผ่านมาสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกทุกทีมต้องแข่งขันในแบบเหย้าเยือนกันถึง 18 นัด ไม่นับอุรุกวัยที่เล่นไป 20 นัด รวมกับรอบเพลย์ออฟที่แพ้ออสเตรเลียจากโซนโอเชียเนีย

แสดงให้เห็นว่า เกมการแข่งขันที่เตะกันอย่างมากมายในรอบคัดเลือก รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้หรือโคปา อเมริกา ที่มี 2 ปีครั้งก็น่าจะส่งผลไม่มากก็น้อย เพราะนักฟุตบอลส่วนมากค้าแข้งอยู่ในสโมสรในลีกต่างๆ ของยุโรปที่ต้องบินกลับประเทศอย่างสมบุกสมบันใช่น้อย แต่ก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัว

แม้ฟุตบอลโลก 2002 ครั้งที่แล้วที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น ทั้ง 2 ทีมยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกาใต้จะมีผลงานแตกต่างราวฟ้ากับเหวก็ตาม บราซิลคว้าแชมป์โลก แต่อาร์เจนติน่าตกรอบแรก แต่ครั้งนี้มาตกรอบน๊อคเอ้าท์ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายพร้อมๆ กัน ถือว่าเป็นความน่าผิดหวังอย่างแทบจะรับไม่ได้

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่า ทั้งบราซิลและอาร์เจนติน่าแพ้ภัยจากเนื้อในของตัวเองมากกว่า เพราะว่าสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และกองเชียร์ในยุโรปก็เป็นที่คุ้นเคยกับพวกเขา อาจจะมีเรื่องกรรมการเป็นพิษบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอในเกมฟุตบอลที่มีความกดดันและมาแข่งนอกทวีปของตัวเอง

ความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 ทีมจากอเมริกาใต้ก็คือ อาร์เจนติน่าใช้ทีมพลังหนุ่มซึ่งนักเตะมีความสามารถเฉพาะตัวแบบสุดยอดต่างล้วนประสบความสำเร็จในเกมเยาวชนชิงแชมป์โลก และกีฬาโอลิมปิคมาแล้วเกือบทั้งทีม เพราะฉะนั้นแรงกระหายในฟุตบอลโลก ความสด และการประสานทีมเวิร์คจึงมีอย่างเพียบพร้อม เป็นทีมฟุตบอลที่เรียกว่า สมบูรณ์แบบอีกชุดหนึ่งเท่าที่อาร์เจนติน่าเคยมีมา

ส่วนบราซิลน่าจะเรียกว่า ทีมสิงห์เฒ่าที่นำเอานักฟุตบอลระดับเขี้ยวลากดินที่ผ่านการกรำศึกในฟุตบอลโลกมาแล้วอย่างต่ำ 2-3 ครั้งเกือบทั้งทีมเป็นแกนหลัก และ 3 ครั้งหลังสุดพวกเขาเข้าชิงชนะเลิศทั้งหมด และคว้าแชมป์โลกมาได้ถึง 2 ครั้ง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ทีมชุดนี้มากล้นด้วยความสามารถ มีความเก๋าเกม ประสบการณ์โชกโชนเข้มข้น เป็นทีมที่สมบูรณ์แบบ แต่ขาดแรงทะเยอทะยานและความทุ่มเทแบบลืมตาย

เพราะฉะนั้นการที่บราซิลและอาร์เจนติน่าต้องพลาดท่าเดินออกจากสนามในฐานะผู้แพ้ก็ต้องโทษการวางแผนเกมและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเกม 90 นาทีของโค้ชทั้ง 2 ทีมคือ คาร์ลอส อัลเบอร์โต ปาร์ไรร่า ของบราซิล กับโฮเซ่ เปเกร์มัน ของอาร์เจนติน่า

ซึ่งในเกมของอาร์เจนติน่าจะเห็นได้ชัดในการตัดสินใจเปลี่ยนรูปเกมที่ผิดพลาดจากเกมที่ได้เปรียบนำอยู่ 1 ประตู แต่เปเกร์มันเลือกที่จะเปลี่ยนนักเตะหัวใจเกมรุกออกมาเพื่อเปลี่ยนมาสู่เกมตั้งรับแทน จนทำให้ถูกตีเสมอและแพ้ดวลจุดโทษ ทั้งที่เยอรมนีเจ้าภาพไม่ได้มีศักยภาพเหนือกว่าเลย

ส่วนบราซิลเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า เล่นเกมในแบบอนุรักษ์นิยมที่เน้นนักเตะจอมเก๋าเป็นหลัก แม้จะมีความเหนือชั้นในฝีเท้า แต่สภาพร่างกาย ความสด แรงฮึกเหิมนั้นไม่สามารถปลุกกระตุ้นได้อีกแล้ว รวมถึงนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง โรนัลดินโญ่ กลับกลายสภาพสู่นักเตะที่อยู่ในมาตรฐานปกติไม่สามารถดึงฟอร์มสุยอดออกมาได้ ปาร์ไรร่าไม่มีอะไรต้องทำนอกจากยอมรับแท็คติคการแก้เกมและรู้จุดอ่อนของบราซิลจากทีมฝรั่งเศสที่มาผนวกฟอร์มแบบถูกที่ถูกเวลา

ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้หรือคอนมีโบล (CONMEBOL) นิโคลัส ลีออซ อัลมิรอน ชาวปรากวัยที่นั่งในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 1986 ซึ่งในขณะนี้ก็นั่งในตำแหน่งมายาวนานถึงสมัยที่ 6 รวมแล้วถึง 20 ปีเต็ม คงไม่ต้องกังวลมากมายถึงความตกต่ำของทีมฟุตบอลจากอเมริกาใต้

แม้ฟุตบอลโลกของชาวอเมริกาใต้จะจบลงแล้ว แต่เชื่อได้แน่นอนว่า พวกเขาจะกลับมายิ่งใหญ่ในอีก 4 ปีข้างหน้าที่แอฟริกาใต้ ในปี 2010 ในดินแดนที่เป็นกลางระหว่างยุโรปและอเมริกาใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น