อีกครั้งกับการเชียร์ฟุตบอลโลกที่คนดูในสนามกับความพร้อมใจในการเชียร์ที่เรียกว่า ‘เม็กซิกัน เวฟ’ หรือ ‘เดอะ เวฟ’ โดยเริ่มตั้งแต่รอบแรกเป็นต้นมา จนถึงในรอบที่ 2 การเชียร์แบบนี้ก็เข้มข้น สนุกสนานเพลิดเพลินตามากยิ่งขึ้น
‘ออเดียนซ์ เวฟ’ ซึ่งถูกนำมาจำกัดความและนิยามใหม่ในชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘เม็กซิกัน เวฟ’ โดยเฉพาะใน สหราชอาณาจักร ซึ่งเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า ‘เดอะ เวฟ’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นในหมู่คนดูในช่วงการแข่งขันกีฬาท่ามกลางคนดูที่มีจำนวนมหาศาล
‘เวฟ’ เป็นการลุกยืนขึ้นและชูมือสองข้างขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันของกลุ่มคนดูบนอัฒจันทร์ในแต่ละช่วงไล่ขยายไปเรื่อยๆ จนครบรอบ แล้วจะวนย้อนกลับไปทางเดิมอีกครั้ง โดยจุดเด่นของการเวฟก็คือการสร้างภาพที่น่าตื่นตะลึงให้เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมายในกลุ่มคนดู โดยไม่จำกัดอยู่กับกลุ่มกองเชียร์ฝ่ายไหน สามารถร่วมเล่นเวฟประสานกันได้ทั้งหมด แม้จะมีกองเชียร์บางคนบนอัฒจันทร์ไม่ยอมร่วมในการเวฟ โดยนั่งอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของคลื่นคนที่ลุกขึ้นยืนแหว่งหายไป
ต้นกำเนิดดั้งเดิมของการเวฟที่แท้จริงยังเป็นที่โต้เถียงกัน แต่สามารถสืบค้นร่องรอยไปได้ว่าการเวฟมีรากที่มาจากการชมกีฬาที่แตกต่างกันออกไปใน 3 ประเภทกีฬาในทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีหลักฐานของการเวฟในสนามการแข่งขันกีฬาก็คือ ในสนามแข่งขันเนชั่นแนล ฮอคกี้ ลีกแคนาดา ในปี 1980 (พ.ศ. 2523) ซึ่งทำให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและขยายสู่ในหมู่คนดูที่นำมาใช้ในสนามเบสบอลในการแข่งขันระดับเมเจอร์ลีกในสหรัฐอเมริกา ในปี 1981 (พ.ศ.2524) และได้ขยายรุกคืบจนสู่ระดับนานาชาติเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก ในศึกฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม็กซิโก เจริญเติบโตจนเป็นการเชียร์เทรนด์หลักไปในที่สุดจนถึงปัจจุบันในชื่อที่รู้จักกันว่า ‘เม็กซิกัน เวฟ’
สำหรับการปรากฏของการเวฟในการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาตินั้นเกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1984 (พ.ศ. 2527) ในฟุตบอลโอลิมปิกฤดูร้อนที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่สนามสแตนฟอร์ด ในพาโล อัลต้า แคลิฟอร์เนีย ในรอบรองชนะเลิศ เป็นการพบกันระหว่างทีมบราซิลที่เอาชนะอิตาลีไปได้ 2-1 ประตู ซึ่งผู้ชมกว่า 80,000 คนพร้อมใจกันเชียร์ด้วยการเวฟ และถือเป็นประวัติศาสตร์การเวฟที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
ตามมาด้วยในปี 1986 (พ.ศ. 2529) การแข่งขันฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก ชื่อของการเชียร์ในลักษณะนี้ยังถูกเรียกว่า เดอะ เวฟ หรือการเชียร์ด้วยการเวฟแบบลูกคลื่นในสนามฟุตบอล ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำเวลาที่ฟุตบอลอยู่ในเกมที่อืดอาดน่าเบื่อหรือในกลุ่มขี้เมา และได้ขยายตัวในหมู่แฟนอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอลด้วย
จากฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก การเชียร์แบบลูกคลื่นหรือ เดอะ เวฟ ก็ถูกเรียกว่า ‘เม็กซิกัน เวฟ’ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งมีการเชียร์แบบเวฟในทุกสนามการแข่งขัน และกลายเป็นรูปแบบในการเชียร์กีฬาและเชียร์ฟุตบอลในระดับนานาชาติและระดับโลกไปในที่สุด สำหรับในบราซิล, เยอรมนี, อิตาลี และอีกหลายประเทศ บางทีก็เรียกการเชียร์แบบนี้ว่า ‘ลา โอเล’ หรือการโอเลแบบง่ายๆ ซึ่งมาจากภาษาสเปนที่แปลว่า คลื่นหรือเดอะ เวฟ
สำหรับการบันทึกสถิติที่มีการเวฟใหญ่ที่สุดในโลกคือ ในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ปี 2000 (2543) ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย คนดูจำนวน 110,000 คน ได้ทำเม็กซิกัน เวฟ ใน 2 ทิศทางที่ตรงข้ามกันจนเป็นความตระการตาที่น่าตกตะลึง
ในปี 2002 ( พ.ศ. 2545) ได้มีการทำการวิจัยพฤติกรรมการเชียร์ด้วยการเวฟในสนามฟุตบอล โดยทามัส วิคเซค แห่งมหาวิทยาลัยอีออตวอส โลแรน ของฮังการี ซึ่งวิเคราะห์วีดีโอที่บันทึกภาพในสนามฟุตบอล 14 แห่งที่มีการเชียร์ด้วยการเวฟของเหล่าแฟนบอล จะเห็นถึงมาตรฐานการพัฒนารูปแบบของผู้ชมฟุตบอลในพฤติกรรมการเวฟ ซึ่งจะแตกต่างกันไปไปตามวัฒนธรรมและประเภทของกีฬา
สัญชาติญาณรวมหมู่ สร้างพฤติกรรมร่วมของฝูงชนในทางสร้างสรรค์ด้วยการเวฟในสนามฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาที่ถูกยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมหาศาลที่เข้ามาอยู่ในสถานที่เดียวกันเพื่อชมฟุตบอล เพราะฉะนั้นการเวฟจึงเป็นการเชื่อมมิตรภาพของผู้ชมในสนามทั้งหมดที่ทำการเชียร์แบบเดียวโดยสมัครใจอย่างพร้อมเพรียงกัน แม้จะมาจากคนละประเทศเชียร์ทีมชาติของตัวเอง เป็นศัตรูคู่แข่งในสนามฟุตบอลก็ตาม
เวฟ จึงเป็นการเชียร์ที่ก่อให้เกิดสันติภาพในหมู่แฟนบอลที่สวยงามอลังการอย่างแท้จริง