xs
xsm
sm
md
lg

จาก‘แมนฯยูฯ’ถึง‘มติชน’ / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์"สุดฟากสนาม" โดย "ธีรพัฒน์ อัครเศรณี"

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงบทความนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและเพิ่งจบลงหมาดๆ นั่นคือการเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง “มติชน” ย้อนให้เห็นภาพซ้ำรอยและเกิดความรู้สึกคล้ายกับตอนที่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้าเขมือบสโมสรแมนฯยูไนเต็ดของอังกฤษยังไงชอบกล

มัลคอล์ม เกลเซอร์ มหาเศรษฐีวัย 77 ปีผู้ไม่เคยมีพื้นเพและความเกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอลเก่าแก่และทรงคุณค่าแห่งถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

เขาเกิดที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะรับธุรกิจเป็นมรดกตกทอดมาจากบิดา เมื่อปี ค.ศ.1943 จากนั้นก็เริ่มสั่งสมความร่ำรวยของตน ด้วยการลงทุนในธุรกิจหลายๆประเภท ในช่วงปี 1950-90 พอถึงปี 1995 ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองครั้งด้วยการทุ่มทุน 190 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบๆ 1หมื่นล้านบาท) ซื้อแทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์สทีมอเมริกันฟุตบอลใน NFL

จากนั้นในเดือนมีนาคม ปี 2003 เกลเซอร์ ริเริ่มแผนการฮุบ แมนฯยูไนเต็ด ด้วยการค่อยๆซื้อหุ้นจำนวน 2.9 เปอร์เซ็นต์ แล้วเริ่มไล่สะสมหุ้นจากผู้ถือรายย่อยมาเรื่อย จนในที่สุดได้ถือครองในสัดส่วนที่มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

หลังจากพอระแคะระคายเรื่องนี้ บรรดาแฟนๆแมนฯยูไนเต็ด ออกมาต่อต้านการเข้าซื้อสโมสรของ เกลเซอร์ มาตลอด อย่างเต็มตัว ออกมาประท้วงหนักด้วยการถือป้ายประท้วง และขู่ไม่เข้าชมเกมในสนาม แถมจะยกเลิกการซื้อตั๋วปีอีกต่างหาก

แม้กระแสการต่อต้านจากแฟนฟุตบอลปิศาจแดงจะโหมกระพืออย่างไร แต่ลงท้ายความภักดีก็ถูกระบบทุนนิยมโค่นอย่างราบคาบ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2005 เจพี แมคมานัสและจอห์น แมคเนียร์ สองนักลงทุนไอริชผู้ทรยศ ตกลงใจยอมขายหุ้น 28.9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐีอเมริกันเขมือบสโมสร “ปิศาจแดง”สำเร็จ หลังจากถือหุ้นในมือได้เกินกว่าครึ่ง

สโมสรที่มีประวัติศาสตร์อันเกรียงไกรของอังกฤษ ต้องตกอยู่ในกำมือของมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน!!

จะโทษ มัลคอล์ม เกลเซอร์ ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะกลุ่มทุนของเขาทำทุกอย่างตามกฎเกณฑ์บัญญัติทุกประการ วงจรอุบาทว์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเสี่ยงเอาสโมสรเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง

แฟนๆแมนฯยูไนเต็ด เลยต้องก้มหน้ายอมรับและรอลุ้นอนาคตข้างหน้าต่อไป ว่าทีมตนเองจะเป็นอย่างไรภายใต้กำมือครอบครัวเกลเซอร์

ยามใดที่ระบบทุนนิยมสยายปีกแห่งความน่ากลัว เรามักจะได้โฉมหน้าของผู้ทรยศ การแย่งชิง เหตุการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และคนที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นผู้ที่มีความรักความภักดีต่อสถาบันนั้นๆ

เสมือนถูกข่มขืนทางจิตใจนั่นเอง

โชคดีที่ในเมืองไทยเหตุการณ์เทคโอเวอร์ “มติชน” จบลงอย่างมีทางออก เนื่องจากสังคมเรามีลักษณะพร้อมที่จะรับฟังและประนีประนอมต่างกับชาติใด

ประกอบกับเสียง “นกน้อย” ทุกตัวที่แสดงจุดยืนชัดเจน แถมรวมพลังกันอย่างเข้มแข็ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้นึกถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์ ที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เรื่อง Dead Poet Society เมื่อความอัดอั้นต่อความไม่เป็นธรรมถึงขีดสุด

นักเรียนทั้งชั้นพากันแสดงพลังให้กับอาจารย์ผู้จากไป ด้วยการลุกขึ้นยืนบนโต๊ะเรียน เป็นฉากที่มีคำพูดอยู่เพียงประโยคเดียวแต่งโดย Walt Whitman แสดงให้เห็นความไม่ยอมจำนน

“O Captain! My Captain! our fearful trip is done”
กำลังโหลดความคิดเห็น