หลังการขึ้นเป็นนักเทนนิสหมายเลขหนึ่งของโลกครั้งแรกของ มาเรีย ชาราโปว่า ทำให้ชื่อเสียงของเธอกลับมาหอมหวนอีกครั้ง พร้อมๆกับการจับตามองของสื่อมวลชน และแฟนเทนนิสทั่วโลกว่าเธอจะทำผลงานลบเสียงครหาว่าเป็น “แอนนา2” เหมือนเมื่อครั้งที่คว้าแชมป์วิมเบิลดันเมื่อปี 2004 ในการแข่งขันยูเอส โอเพ่นในปีนี้ได้หรือไม่
ปัจจุบันความสำเร็จของ ชาราโปว่า กำลังเป็นดาบสองคม ที่ปลายมีดด้านหนึ่งแทงกลับมาที่ตัวเธอไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เข้าร่วมทีมเฟดคัพ ของรัสเซีย ไปจนถึงความเบื่อเหนื่อยของคนรัสเซีย ที่มาเรีย กลายเป็น "รัสโซฟลอริเดี้ยน" (คนรัสเซียที่อยู่ในฟลอริด้า) และเกือบจะเป็นอเมริกันชนเต็มตัวไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการออกเสียงชื่อของเธอ ที่มีการถกเถียงว่าควรจะเรียกให้ถูกต้องตามสำเนียงไซบีเรียน แต่ชื่อสกุลของมาเรียในสหรัฐฯนั้นมักจะถูกอ่านออกเสียว่า "ชา-รา-โป-วา” ตามที่สมาพันธ์นักเทนนิสหญิงอาชีพใช้เรียก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วชื่อของเธอนั้นชาวไซบีเรียน ซึ่งเป็นเชื่อสายเลือดหนึ่งในตัวเธอ จะออกเสียงว่า "ชา-ราพ-โอ-วา" แต่ความถูกต้องดังกล่าวได้รับการเพิกเฉยจากสื่อมวลชน และดูเหมือนว่าเจ้าตัวเองก็ชอบที่จะให้เรียกชื่อเธอตามสำเนียงอเมริกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามว่า ชาราโปว่า รู้สึกภูมิใจในความเป็นรัสเซียของตนเองหรือไม่ และแชมป์วิมเบิลดันหญิงเดี่ยวปี 2004 ที่ระบุว่าชาวรัสเซียเป็นผู้คว้าแชมป์นั้นถูกต้องมากน้อยเพียงใด เพราะชาราโปว่านั้นมีเชื้อสายหลากหลายอยู่ในตัวเอง ที่สำคัญเธอจากรัสเซียมาตั้งแต่อายุเพียง 9 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1996 ชาราโปว่าเดินทางมายังสหรัฐฯพร้อมกับ บิดาของเธอ ยูริ ซึ่งเป็นโค้ชเทนนิสให้กับเธอในระยะแรกก่อนที่จะพาลูกสาวเข้าฝึกกับสถาบัน นิค บอลเลตเทียร์รี่ ในฟลอริด้า มีเรื่องเล่ากันว่า ยูริ พ่อของชาราโปว่า นั้นยืมเงินเพื่อนฝูงมา 400 เหรียญสหรัฐฯเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญพวกเขาต้องทิ้งให้ เยเลน่า มารดาของชาราโปว่า ให้อยู่เดียวดายที่รัสเซียนานถึง 2 ปี
หลังจากฝึกฝนจนแข็งแกร่งนานถึง 9 ปี ในที่สุดสาวน้อยผมบลอนด์พร้อมโฟร์แฮนด์อันลือลั่น ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักเทนนิสหญิงหมายเลขหนึ่งของโลกได้สำเร็จ ที่สำคัญชาราโปว่า กลายสภาพเป็นคนอเมริกันไปแบบเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นสำเนียงการพูด, ชีวิตส่วนตัว หรือแม้กระทั่ง ทัศนคติ
หลายคนบอกว่า ชาราโปว่า เป็นนักเทนนิส “เมดอินอเมริกา” ของแท้ ที่เหลือความเป็นรัสเซียอยู่น้อยมาก เมื่อถามความคิดเห็นของ แชมป์ยูเอสโอเพ่นชาวรัสเซีย สเวตลาน่า คุซเนตโซว่า เธอกล่าวว่า "ชาราโปว่า นั้นมีชื่อเสียงมากในรัสเซีย แต่ก็ไม่คิดใครเรียกเธอว่าเป็นชาวรัสเซียได้เต็มปากนัก พวกเราคิดว่าเธอเป็นอเมริกันมากกว่ารัสเซีย เพราะสำเนียงภาษารัสเซียนของ มาเรียนั้นแย่มาก"
สำหรับ อนาสตาเซีย มิสกิน่า แชมป์เฟรนช์โอเพ่นปี 2004 และนักเทนนิสหญิงหมายเลข 13 ของโลกก็มีปัญหากับ ชาราโปว่า เช่นกันในการแข่งขันเฟดคัพ เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจาก ‘ยูริ’ บิดาของชาราโปว่า เข้าไปยุ่มย่ามกับการฝึกซ้อมมากไปจน มิสกิน่า ออกปากว่าถ้า ชาราโปว่า เข้าร่วมทีมเฟดคัดรัสเซีย เธอจะไม่ยอมเข้าร่วมโดยเด็ดขาด และในที่สุด ชาราโปว่า ก็ต้องถอนตัวจากทีมเฟดคัพรัสเซีย
ปัญหาดังกล่าว ชามิล ทาร์พิเชฟ กัปตันทีมเฟดคัพ รัสเซียกล่าวว่า พวกเรานั้นสนับสนุนให้ชาราโปว่าลงทำการแข่งขัน แต่ยังมีนักเทนนิสบางคนรู้สึกอิจฉากับความสำเร็จของเธอ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นภายในทีม เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะตัดไฟเสียแต่ต้นลม แต่ในอนาคตหาก ชาราโปว่า ยังคงแสดงความต้องการเข้าร่วมทีมเฟดคัพ รัสเซีย พวกเราก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด”
ถึงเวลานี้มาเรีย ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเธอคงไม่ขอโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน ดังเช่นที่ มาร์ติน่า นาฟราติโลว่าและโมนิก้า เซเลส เคยขอก่อนหน้านี้ ชาราโปว่า ยังคงเป็นสาวน้อยจากไซบีเรีย ที่หวังว่าวันหนึ่งบ้านเกิดของเธอจะเปิดประตูต้อนรับ และเธอสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติรัสเซียได้อย่างสบายใจ
ในการแข่งขัน ยูเอส โอเพ่น 2005 แกรนด์สแลมรายการสุดท้ายของปี ที่กำลังจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคมนี้ ชาราโปว่า ถูกจัดให้เป็นมืออันดับที่ 1 ของรายการในขณะที่แชมป์เก่า สเวตลาน่า คุซเน็ตโซว่า เป็นเพียงมือวางอันดับที่ 5 เท่านั้น ครั้งนี้ผลงานของ ชาราโปว่า ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญหากเธอสามารถคว้าแชมป์ได้ ก็จะเสมอตัวในฐานะมือวางอันดับหนึ่งของโลก แต่ถ้าพลาดท่าพ่ายแพ้ แน่นอนว่าเสียงครหาว่า “ดีแต่สวย” น่าจะกลับมาดังขึ้นอีกครั้ง
*******************************************
จำนวนสัปดาห์ที่ครองอันดับ 1 ของนักเทนนิสหมายเลขหนึ่ง WTA ที่ผ่านมา
สเตฟฟี่ กราฟ 377 สัปดาห์
มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า 331 สัปดาห์
คริส เอฟเวิร์ท 262 สัปดาห์
มาร์ติน่า ฮินกิส 209 สัปดาห์
โมนิก้า เซเลส 178 สัปดาห์
ลินด์เซย์ ดาเวนพอร์ต 82 สัปดาห์
เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ 57 สัปดาห์
จัสติน เอแนง อาร์เดน 45 สัปดาห์
เทรซี่ ออสติน 22 สัปดาห์
เจนนิเฟอร์ คาพริอาตี้ 17 สัปดาห์
คิม ไคลจ์สเตอร์ 12 สัปดาห์
อลันซ่า ซานเชส วิคาริโอ 12 สัปดาห์
วีนัส วิลเลี่ยมส์ 11 สัปดาห์
อเมลี โมเรสโม 5 สัปดาห์
มาเรีย ชาราโปว่า 1 สัปดาห์