ไทยขัดแย้งกัมพูชาอยู่ในยุค 3 นายกตระกูลชินวัตร “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-แพทองธาร” ตั้งแต่เผาสถานทูต-พระวิหาร-ตาเมือนธม ฮุนเซนกุมบัญชาการมาตั้งแต่ปี 2546 เลือกช่วงที่ชินวัตรเรืองอำนาจ แฉที่ปะทะเดือดเพราะต้องการกลบความล้มเหลว ทั้งปิดด่านและหางานให้คนกัมพูชาไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สายสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับ สมเด็จฮุนเซน แห่งกัมพูชานั้น มีมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี เห็นได้จากหลายภาพที่ยืนยันถึงความสนิทสนมกันเป็นพิเศษของทั้ง 2 ตระกูล แต่ต้องมาแตกหักกันในยุคที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ ฮุน มาเนต ลูกชายฮุนเซน ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของบุคคลทั้ง 2 ตระกูลถูกจับตาว่า มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการผลักดันให้คนในตระกูลเข้ามารับช่วงต่อทางการเมืองจนขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
ฮุนเซนก็เป็นนายรัฐมนตรีของกัมพูชา และส่งต่อให้กับ ฮุน มาเนต ลูกชายขึ้นมาทำหน้าที่แทน เช่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลงสนามการเมืองจนเป็นนายกรัฐมนตรี
ทักษิณ-เผาสถานทูต
ที่ผ่านมาไม่รู้เป็นความบังเอิญหรือไม่ หลายครั้งที่ประเทศไทยมีเรื่องข้อพิพากับกัมพูชา มักมีคนของตระกูลชินวัตรอยู่ในสถานะที่มีบทบาททางการเมืองเกี่ยวข้องเสมอ
เริ่มที่เหตุการณ์เมื่อปี 2546 ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเหตุเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา จากบทความในหนังสือพิมพ์กัมพูชา รัศมี อังกอร์ วันที่ 18 มกราคม 2546 มีเนื้อหากล่าวหาว่า นักแสดงหญิงชาวไทยได้กล่าวว่ากัมพูชาได้ขโมยนครวัดไปจากไทย และกล่าวว่าเธอจะไม่เดินทางมากัมพูชาจนกว่านครวัดจะกลับคืนเป็นของไทย รายงานดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นโดยวิทยุและสื่อตีพิมพ์เขมร
27 มกราคม 2546 นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้ย้ำการกล่าวหานี้ และกล่าวว่าสุวนันท์ "ไม่มีค่า เทียบได้กับใบหญ้าใกล้กับเทวสถาน" รุ่งขึ้นรัฐบาลกัมพูชาสั่งห้ามรายการโทรทัศน์ไทยทั้งหมดในประเทศ
29 มกราคม 2546 ผู้ก่อการจลาจลได้โจมตีสถานทูตไทยในพนมเปญ ซึ่งได้ส่งผลให้อาคารดังกล่าวถูกทำลาย ม็อบยังได้โจมตีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของธุรกิจของคนไทย รวมทั้งการบินไทยและชินคอร์ป ซึ่งครอบครัวของทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าของ
ยิ่งลักษณ์-ส่งมอบพระวิหาร
กรณีปราสาพระวิหารนั้นไทย-กัมพูชามีการปะทะกันมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ที่รุนแรงคือช่วงกุมภาพันธ์ 2554 ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เจอศึกหนักเรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) ที่ถูกปราบปรามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากนั้นต้องมาเจอปัญหาชายแดนกัมพูชาการปะทะกันด้วยอาวุธได้ยุติลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554
พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านขณะนั้น ชูนโยบายว่า หากชนะเลือกตั้งจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชาเพื่อยุติความขัดแย้ง ส่วนสมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ก็ใช้วิกฤตชายแดนเป็นเครื่องมือสร้างความรักชาติภายในกัมพูชาและลดทอนบารมีของรัฐบาลไทยที่ไม่เป็นมิตรกับตน
กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาวของนายทักษิณ) ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2554 ความสัมพันธ์กับกัมพูชาก็ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ช่วงการบริหารประเทศของยิ่งลักษณ์ชินวัตร ศาลโลกมีคำพิพากษาเรื่องเขาพระวิหาร 2556 ทุกอย่างจึงราบรื่น สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
แพทองธาร-ฮุนเซนเพิ่มคะแนน
ล่าสุดยุคที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้สมเด็จฮุนเซนใช้เหตุการณ์ปะทะในพื้นที่ปราสาทตาเหมือนธมเมื่อ 28 พฤษภาคม 2568 เป็นจุดเริ่มและขยายวงมาเรื่อย ๆ
จุดแตกหักน่าจะเป็น 18 มิถุนายน 2568 หลังฮุนเซนปล่อยคลิปสนทนากับแพทองธาร ชินวัตร ถึงแนวทางในการแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา จนทำให้แพทองธารถูกคำสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ความคุกรุ่นระหว่าง 2 ประเทศมีมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายกัมพูชาพยายามยั่วยุในทุกรูปแบบ บิดเบือนข้อเท็จจริงเหตุการณ์เกิดขึ้น แบบหนึ่งก็รายงานอีกแบบให้เกิดประโยชน์ฝ่ายตนเอง ขณะที่ฝ่ายไทยเน้นยึดกรอบกติกาสากล
แต่จากเหตุที่ทหารไทยเหยียบกับระเบิด 16 กรกฎาคม 2568 และพิสูจน์แล้วว่าเป็นการวางระเบิดใหม่ ตามมาด้วยเหยียบครั้งที่ 2 เมื่อ 23 กรกฎาคม 2568 จนกองทัพบกมีคำสั่งปิดด่านและปิดปราสาท รุ่งเช้า 24 กรกฎาคม 2568 กัมพูชาจึงเปิดปฏิบัติการยิงที่มาที่ฝั่งไทยแถบปราสาทตาเมือนธมและการปะทะกันในหลายจุดริมชายแดน
ขี่คอคน“ชินวัตร”
แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์นี้กล่าวว่า เราก็ไม่รู้ว่าเขาแตกหักกันจริงหรือไม่ แต่ก็น่าสงสัยตรงที่ฝ่ายกัมพูชาขอนำเข้าสินค้าจากไทย ยกเว้นผัก ผลไม้ และสินค้าพลังงาน เมื่อ 16 กรกฎาคม วันที่ 18 ฝ่ายไทยประกาศเปิดด่านและย้อนบังคับใช้เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม หลายฝ่ายก็งงว่า ทำไมมันพอดีกันเหลือกัน ภายหลังก็มีคำชี้แจงออกมาตามหลักการอ้างเรื่องการลดผลกระทบ แต่นาทีนี้ที่มีการปะทะกันด่านก็ถูกปิดไปโดยปริยาย
ถ้าลองสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าตระกูลชินเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา 3 เหตุการณ์ เริ่มที่ยุคพ่อคือทักษิณ โดนเมื่อปี 2546 ถือว่ารุนแรงเพราะถึงขั้นเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา คนที่ยุยงปลุกปั่นก็เป็นผู้นำคนเดิม หลังจากนั้นก็ได้เห็นว่าทั้ง 2 ผู้นำคือทักษิณและฮุนเซน สนิทสนมกันเรื่อยมา
ในทางการเมืองแล้ว ทุกคนก็ตั้งข้อสังเกตุว่าฮุนเซนเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลายเรื่องให้กับรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่มีใครออกมายอมรับ อย่างเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 กองกำลังชายชุดดำก็ถูกมองว่ามีการส่งเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือคนเสื้อแดงที่หลบหนีคดีก็ไปอาศัยอยู่ที่กัมพูชา
หรือช่วงที่ยิ่งลักษณ์มีการหลบหนีคดี ฮุนเซนก็เป็นผู้อำนวยความสะดวก จนส่งไปประเทศปลายทางได้ตามที่ต้องการ เมื่อไม่นานมานี้ฮุนเซนก็ได้เปิดเผยภาพห้องนอนที่เคยใช้รับรองทักษิณและยิ่งลักษณ์
“เชื่อว่าจริง ๆ แล้วทักษิณและแพทองธารก็ไม่อยากตัดสัมพันธ์กับฮุนเซน เพราะโอกาสในการใช้บริการในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา”
ปมขัดแย้ง
สำหรับสาเหตุที่ 2 ตระกูลเกิดปัญหาระหว่างกัน หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นความต้องการของฝั่งกัมพูชาต้องการเพิ่มคะแนนนิยมให้ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงต้องใช้วิธีการเดิม ๆ แต่ได้ผลมาใช้อีกครั้ง ไม่ต่างไปจากการปลุกเรื่องกุนแขมร์มาเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งในปี 2566
อีกมุมหนึ่งคือ เรื่องการที่พรรคเพื่อไทยผลักดันโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะจะทำให้นักพนันชาวไทยไม่ข้ามไปเล่นที่ฝั่งกัมพูชา ทำให้ฝั่งกัมพูชาเสียรายได้ไปไม่น้อย
อีกประการหนึ่งเป็นการสร้างเหตุการณ์ใหม่ที่ใหญ่กว่าขึ้นมากลบความล้มเหลวนโยบายที่ล้มเหลวในช่วงที่ผ่าน เช่น ฮุนเซนเชิญชวนให้แรงงานกัมพูชากับบ้านและแจกข้าวสาร ไข่ไก่ และมาม่า ให้กับผู้เดินทางกลับ พร้อมสัญญาว่าจะหางานให้ทำทั้งในและต่างประเทศ
แต่ 22 กรกฎาคม 2568 โฆษกกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งกัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวคิริโพสต์ ระบุว่านับตั้งแต่ข้อจำกัดด้านชายแดนมีผลบังคับใช้ มีชาวกัมพูชามากกว่า 53,000 คน ที่เดินทางกลับบ้าน พร้อมยืนยันว่าในนั้นมี 13,500 คน ได้งานทำแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพนมเปญ กำปงสปือ และสวายเรียง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการจ้างงานมากที่สุด
"เราเรียกร้องให้ชาวกัมพูชา ผู้ที่เดินทางกลับมาแล้วหรือกำลังจะเดินทางกลับ ให้ติดต่อกับหน่วยงานของเรา สำนักงานการจ้างงานแห่งชาติ เพื่อเข้ารับข้อมูลตำแหน่งงานว่าง และเข้ารับการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย"
รบ-กลบความล้มเหลว
แล้วอีกเกือบ 4 หมื่นคนนั้นจะทำงานอะไร จะมีรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัวพอหรือไม่ สุดท้ายพวกเขาก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเองเพื่อหาเลี้ยงชีพ อาจกลับเมืองไทยในช่วงที่สถานการณ์ผ่อนคลาย
หรือเรื่องการปิดด่านหรือการแบนสินค้าไทย สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือคนกัมพูชา สินค้าแพงขึ้น สินค้าขาดตลาด สุดท้ายก็ต้องยอมนำเข้า เมื่อ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ของกินของใช้ที่มาจากฝั่งไทยเป็นหลักนั้นเหลือน้อยลงทุกขณะ
“ผู้นำของท่านที่ออกนโยบายมานั้น เขารับผิดชอบกับความเดือดร้อนที่ท่านได้รับหรือไม่”
จะเห็นได้ว่า การเปิดฉากรบทำให้เรื่องของความล้มเหลวในการดึงแรงงานกลับกัมพูชาหรือเรื่องสินค้าขาดแคลน ถูกลบหายไปทันที ผู้คนหันมาให้ความสนใจสถานการณ์การปะทะแทน สร้างกระแสรักชาติไปในตัว พร้อมโยนความผิดไปให้คนอื่น
เป็นที่น่าสังเกตุว่าฮุนเซนมักเลือกจังหวะที่ตระกูลชินวัตรครองอำนาจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะหากเกิดปัญหาใดก็คุยง่าย และฮุนเซนก็มีบุญคุณกับคนในตระกูลชินวัตรอยู่ไม่น้อย
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j