เพจดังอธิบายความหมายของแผน “จักรพงษ์ภูวนาถ” เป็นแผนเผชิญเหตุขั้นปกติไปจนถึงขั้นตอบโต้ ไม่นำไปสู่การประกาศสงครามหรือการระดมพลทั่วประเทศ ออกแบบมาตั้งรับและเข้าตีตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ใช่แผนเชิงรุกเพื่อยึดครองดินแดน เสมือนเป็นการแสดงเจตนาว่าไทยต้องการป้องกันตนเองจากการที่กำลังพลเผชิญกับเหตุการณ์ทุ่นระเบิด
จากกรณีที่ เหตุการณ์ที่กำลังพลของกองทัพบกจากชุดลาดตระเวน กองพันทหารราบที่ 14 เหยียบทุ่นระเบิดบริเวณห้วยบอน ช่องอานม้า อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแนวพื้นที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา เมื่อเวลาประมาณ 16.55 น.วันที่ 23 ก.ค. เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย สาหัสขาขาด 1 นาย และต่อมา พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) สั่งการให้กำลังกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกำลังส่วนต่าง ๆ เตรียมพร้อมปฏิบัติตามแผน “จักรพงษ์ภูวนาถ” นั้น
เพจ thaiarmedforce.com ได้อธิบายความหมายของแผน “จักรพงษ์ภูวนาถ” ว่า “ไม่ใช่แผนการรบกับกัมพูชา แต่เป็นแผนเผชิญเหตุสำหรับภาคตะวันออก โดยชื่อแผนนำมาจากจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีบทบาทในการวางรากฐานกิจการการทหารสมัยใหม่เมื่อครั้งการปฏิรูประบบราชการ และเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการป้องกันประเทศจะมีแผนป้องกันประเทศซึ่งใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 3 ขั้น คือ
1. ขั้นปกติ ใช้กองกำลังป้องกันชายแดนต่าง ๆ รับผิดชอบ เช่นในภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชามีกองกำลังบูรพา กองกำลังสุรนารี และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดซึ่งเป็นกองกำลังของกองทัพเรือดูแลอยู่ ซึ่งการใช้แผนป้องกันประเทศในภาวะปกติจะมีแผนเผชิญเหตุต่าง ๆ เป็นขั้นป้องกันชายแดน แต่ถ้ามีปัญหาด้านความมั่นคง ก็จะเข้าสู่ขั้นเตรียมการซึ่งใช้กำลังของกองทัพภาคเป็นหลัก
2. ขั้นตอบโต้หรือขั้นปฏิบัติการ ซึ่งใช้ในกรณีมีภัยคุกคามอย่างชัดเจนและต้องใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งมีทางเลือกในการใช้กำลังแตกต่างกันไปตามภัยคุกคามและสถานการณ์
3. ขั้นป้องกันประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อการใช้กำลังในขั้นตอบโต้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ โดยจะเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งหมดในการป้องกันประเทศ ซึ่งก็คือการประกาศสงคราม
ส่วนแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถมักจะใช้งานตั้งแต่ขั้นปกติไปจนถึงขั้นตอบโต้ ซึ่งใช้สำหรับการรับมือหนทางปฏิบัติฝ่ายตรงข้าม (Enemy Course of Action) ที่อันตรายที่สุด ซึ่งจะไม่ใช่แผนหลัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาจะไม่นำไปสู่การประกาศสงครามหรือการระดมพลทั่วประเทศ เนื่องจากจำกัดการใช้กำลังอยู่ในขั้นปกติจนถึงขั้นตอบโต้นั่นเอง
ที่สำคัญแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถเป็นแผนที่ออกแบบมาตั้งรับและเข้าตีตอบโต้ ซึ่งหมายถึงการเน้นที่การป้องกันตนเองและการโจมตีเพื่อผลในการป้องกันตนเอง ไม่ใช่แผนเชิงรุกเพื่อยึดครองดินแดนหรือทำลายข้าศึก ซึ่งเสมือนเป็นการแสดงเจตนาของของไทยว่าต้องการป้องกันตนเองจากการที่กำลังพลของตนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดจากทุ่นระเบิดของกัมพูชา
และเพื่อให้เห็นภาพ การปะทะกับกัมพูชาเมื่อปี 2554 นั้น เป็นการปะทะที่อยู่ในขั้นปกติเท่านั้นครับ”
ทั้งนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า กองทัพไทยเคยนำแผนจักรพงษ์ภูวนาถมาใช้ในช่วงการปะทะกันที่เขาพระวิหาร เมื่อปี 2554 ซึ่งทำให้กองทัพกัมพูชาได้รับความเสียหายอย่างหนัก และสถานการณ์ชายแดนสงบมากว่า 10 ปี มีขั้นตอนของแผน โดยสรุปดังนี้
การเตรียมพร้อม
การสั่งการและเตรียมกำลังพล ผบ.ทบ.สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 1 และ 2 เตรียมความพร้อมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีเมื่อมีการสั่งการ
ประสานงานข่าวกรอง มีการดำเนินการตามการฝึกในแผนป้องกันประเทศ โดยเฉพาะด้านการข่าวกรอง เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์และประเมินภัยคุกคาม
การเตรียมกลไกตอบโต้ กองทัพบกเตรียมพร้อมใช้ทุกกลไกที่มีอยู่เพื่อปกป้องความปลอดภัยของกำลังพลและประชาชน
การปฏิบัติการ
การประเมินสถานการณ์และลงพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ผบ.ทบ.อาจจะลงพื้นที่เพื่อบัญชาการและติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตัดสินใจในการดำเนินการตามกรอบที่เหมาะสม
แผนนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยจะดำเนินการตามกรอบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย และปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
การตอบโต้หากจำเป็นแม้จะเน้นการแก้ไขปัญหา แต่กองทัพบกก็ยืนยันว่าจะต่อสู้ทุกวิถีทางด้วยกลไกที่มีอยู่ หากมีความจำเป็นในการตอบโต้
หลักการของแผนจักรพงษ์ภูวนาถ คือการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ เป็นหลักการสำคัญที่สุดในการดำเนินการใด ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศไทย
ปกป้องความปลอดภัยของกำลังพลและประชาชน เน้นการดูแลและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับกำลังพลและประชาชนในพื้นที่ชายแดน
แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นแผนที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนอย่างมีแบบแผนและประสิทธิภาพ
ใช้กลไกที่เหมาะสม ดำเนินการตามกรอบและกลไกที่เหมาะสม ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้กำลังโดยทันที แต่พร้อมที่จะตอบโต้หากมีความจำเป็น