ตีแผ่เหตุและปัจจัยที่ทำให้พระสงฆ์มีสถานะร่ำรวย ดร.ประยุทธ หรือ‘มหาหมี’ เปรียญ 7 ประโยค ชี้ชัดที่มาของทรัพย์สินพระยิ่งวัดไหนมีเกจิดังสร้างวัตถุมงคล‘เจ้าอาวาส’ จะได้ส่วนแบ่ง เผย‘หลวงตา’เสียงเพราะ มีพลังจิต วัดดังสมุทรสาคร คือผู้กำหนดชั้นยศและอัตราเงินใส่ซองกิจนิมนต์ชั้นสมเด็จพระราชาคณะต้องแสนขึ้นไป ชั้นรองสมเด็จฯ 50,000 บาทชั้นธรรม 40,000 บาท พระราชาคณะและชั้นต่ำสุดต้อง 10,000 บาท ส่วนพระครู ต้อง 5,000 บาทจนกลายเป็นจารีตจนทุกวันนี้สุดท้ายหลวงตาก็ต้องสึกไปเพราะนารีพิฆาต แจงวัดดัง ๆ เจ้าอาวาสมีเงิน 50 ล้านเป็นเรื่องปกติ ยันปัญหาวงการสงฆ์ล้วนมีฆราวาสเข้าไปเกี่ยวข้องยอมรับพระยิ่งรวยมาก กิเลสยิ่งมากซึ่งเป็นจุดสำคัญดึงฆราวาสเข้ามาหาประโยชน์เสนอรัฐถึงเวลาต้องสังคายนาวงการสงฆ์ได้แล้ว!
วงการผ้าเหลืองร้อนฉ่า! เห็นได้ชัดว่าแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ยิ่งทำให้สังคมเกิดวิกฤตศรัทธาต่อวงการสงฆ์ ไม่ว่าจะเรื่องพระมั่วสีกา เล่นพนันออนไลน์ มั่วสุมเสพยา แสวงหาผลประโยชน์ด้วยการยักยอกเงินบริจาคหรือการใช้เงินวัดไปในทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะหากเป็นพระผู้ใหญ่หรือพระที่มีสมณศักดิ์สูง ๆ กระทำดังกล่าว จะยิ่งทำให้สังคมเบื่อหน่ายและเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา
ตัวอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวดัง ทั้งกรณี ‘ทิดแย้ม’ หรือ อดีตพระธรรมวชิรานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง , พระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ “เจ้าคุณอาชว์” อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร หรือ ‘ทิดอาชว์’ ซึ่งพัวพันกับสีกากอล์ฟ โดยสีกากอล์ฟไม่ใช่มีแค่ทิดอาชว์ เธอยังมีพฤติกรรมล่าแต้ม ‘พระผู้ใหญ่’ ที่มีฐานะดี
อย่างไรก็ดี เมื่อตำรวจตรวจโทรศัพท์สีกากอล์ฟ กลับสร้างความฮือฮาให้ผู้คนในสังคมเพราะพบภาพและคลิปลับสัมพันธ์ฉาวกับพระผู้ใหญ่กว่า 8 หมื่นภาพ ที่น่าแปลกกว่านั้นคือยังปรากฏเป็นพระผู้ใหญ่ถึงระดับเจ้าคณะจังหวัดด้วย
หากจะตั้งสมมุติฐานว่าเพราะ ‘ความรวย’ ของพระผู้ใหญ่จึงทำให้มารศาสนาเหล่านี้เข้ามาตีสนิทและหาประโยชน์ได้ง่าย จนทำให้พระที่บวชเรียนมานานยัง ‘ตบะแตก’ ได้ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องใช่หรือไม่? พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามต่อว่าผลประโยชน์ในวงการสงฆ์มาจากแหล่งใดบ้าง และควรดำเนินการอย่างไรกับทั้งพระและฆราวาสที่กระทำความผิดสร้างความเสียหายให้วงการสงฆ์
ดร.ประยุทธ ประเทศเสนา รองประธานมูลนิธิกองทัพธรรม หรือที่รู้จักกันในนาม ‘มหาหมี’ ทนายกองทัพธรรม เปรียญธรรม 7 ประโยคซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางพระปริยัติธรรมเป็นอย่างดี ระบุว่า เหตุที่พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ที่สังคมเห็นว่าร่ำรวยนั้น ต้องเข้าใจที่มาก่อนว่า เรื่องเงินวัดนั้นเป็นเพราะเมืองไทยไม่ได้มีกฎหมายห้ามไม่ให้วัดกับพระมีทรัพย์สินส่วนตัว ในข้อเท็จจริงตามหลักพระธรรมวินัยไม่ให้พระสะสม มีหน้าที่จำพรรษาและปฏิบัติธรรมและสอนธรรมอย่างเดียว ส่วนการสร้างสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องคหบดีและชาวบ้านจัดหาให้
แต่ในยุคปัจจุบันเมื่อทุนนิยมเข้ามา พระภิกษุต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ต้องซื้อประกันชีวิต เรียนหนังสือต้องจ่ายค่าเทอมและซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เอง จึงเป็นที่มาให้รัฐไม่ได้ห้ามที่พระจะมีทรัพย์สินส่วนตัว
“ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบทั้งภายใน ภายนอก พระก็สะสมกันเกินควร จึงนำมาซึ่งกิเลส เมื่อมีเงินก็อยากจะใช้ เห็นฆราวาสมีอะไรก็อยากซื้อบ้าง ซื้อรถหรูดี ๆ มาสนองกิเลสตัวเอง และยิ่งมีเงินมากก็เป็นการดึงฆราวาสที่ต้องการหาประโยชน์เข้ามาคลุกคลีกับพระเป็นการนำไปสู่เหตุต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในสังคม”
มหาหมี บอกว่า รายได้หรือเงินที่สังคมเห็นนั้นมีที่มาดังนี้!
ประการแรก รายได้ของวัด มีที่มาจากอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่มาจากที่ตั้งวัด และที่ดินที่ไม่ติดกับที่ตั้งวัด แต่มีคนมาถวาย รวมไปถึงที่ดินที่ไม่ใช่ของวัด แต่รายได้ที่เกิดบนพื้นที่ตรงนี้ เจ้าของอุทิศหรือบริจาคให้กับวัด
“รายได้จากที่ดินที่ตั้งวัด เช่น ตั้งเมรุ เผาศพ มีศาลาต่าง ๆ หักค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่แล้ว รายได้ทั้งหมด 80% เข้าวัด ลานจอดรถ เก็บเข้าวัด ค่าบูชาดอกไม้ธูปเทียน คนมาสักกาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รายได้ทั้งหมด เข้าวัดทั้งหมด”
ที่สำคัญรายได้ที่เกิดจากการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้นทุนผลิตพระเครื่องต่อองค์จะอยู่ที่ 20 บาท แต่วัดจะนำมาให้ประชาชนเช่า 200 บาท หรือจะปล่อยสูงกว่านั้นก็อยู่ที่แรงศรัทธา และกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถควบคุมราคาได้ ซึ่งรายได้ในการสร้างวัตถุมงคลเป็นของวัด สร้างกำไรล้วน ๆ
ประการที่ 2 รายได้ของเจ้าอาวาส จะมาจากรายได้เดิมของท่าน จากญาติพี่น้องจัดสรรมาให้ , รายได้ที่เกิดจากความศรัทธาของญาติโยมซึ่งเรียกว่าเป็นปัจเจกราชของท่าน , รายได้จากการสร้างวัตถุมงคลที่เกิดจากการแบ่งส่วนมาถวาย ยิ่งวัดไหนมีเกจิอาจารย์ดัง ๆ ปลุกเสกวัตถุมงคลท่านก็จะอยู่ได้สบายๆ และรายได้จากรัฐสนับสนุนคือเงินนิติยภัต ซึ่งจะได้รับไม่เท่ากัน
“เมืองไทยมีวัดประมาณ 23,000 วัด แต่มีวัดที่รวยจริง ๆ ประมาณ 2,000 -3,000 วัด เมื่อพระมีเงิน ไม่ต้องเสียภาษี ไม่มีใครมาตรวจสอบก็สะสมไปเรื่อย ๆ พระบางรูปตอนมรณภาพเราถึงจะรู้ว่ามีเงินเป็นพันล้าน พระบางรูปบอกไม่มี ๆ นะแต่จริง ๆ มี 50 ล้านบาทเป็นเรื่องปกติและถือว่าเล็กน้อยมากสำหรับพระผู้ใหญ่”
มหาหมี บอกอีกว่า หากฆราวาสจะถวายเงินใส่ซองมาหนึ่งหมื่นบาท ระบุไว้ว่าเป็นการช่วยค่าน้ำค่าไฟไว้สร้างโบสถ์ ตรงนี้เงินจะเข้าวัด แต่ถ้าระบุเป็นชื่อเจ้าอาวาสถือว่าเป็นปัจเจกราช ก็จะเป็นของเจ้าอาวาสโดยตรง
“สิ่งที่ปรากฏทุกวันนี้ถ้าเราศรัทธามาก ๆ ก็จะถวายวัด 2 พันบาท แต่จะถวายเจ้าอาวาส 2 หมื่นบาท”
เรื่องการใส่ซองถวายพระนั้น หลักในการถวายพระจะถวายตามศรัทธาของญาติโยม แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะห้ามพระรับเงิน ชาวบ้านก็ถวายตามศรัทธา รู้จักพระรูปนี้ ก็ถวายมากหน่อย ไม่รู้จัก ก็ถวายน้อยหน่อย
“การที่คนบริจาคโดยไม่บันยะบันยัง ไม่มี limit ทำให้พระมีเงิน และการที่พระมีเงินเอง มีทรัพย์สินเอง มาจากชาวบ้านบริจาคเอง ในฐานะผม คนเคยบวชเปรียญ 7 ประโยค เป็นนักวิชาการศาสนา ผมไม่โทษทั้งสองฝ่าย แต่โทษระบบในเรื่องพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ เพราะเมืองไทยไม่ได้มีกฎหมายห้ามไม่ให้วัดกับพระมีทรัพย์สินส่วนตัว”
ดังนั้นการจัดการเงินพระจะต้องทำโดยคณะสงฆ์ ซึ่งมหาเถรสมาคม ควรออกประกาศเลยว่าให้พระมีบัญชีส่วนตัวเท่าไหร่ เพราะเมื่อพระมีเงินมากก็ไม่รู้จักควบคุมนำไปสู่ความเสียหายต่อพระพุทธศาสนา อีกทั้งกฎหมายบ้านเมืองจะต้องมีการร่างพระราชบัญญัติในการที่จะปกครองช่วยคณะสงฆ์โดยเข้าไปตรวจสอบ ตรวจตรา กฎตรงไหนหย่อนยาน ต้องเข้าไปอุดช่องว่างตรงนั้นให้ได้
รวมทั้งประชาชนต้องช่วยตรวจสอบและไม่นำสิ่งต่าง ๆ ไปประเคนหรือกองให้กับพระจนเกิดปัญหาตามมา ต้นเหตุจึงอยู่ที่ตัวฆราวาสเองที่ไปยกพระ ดังนั้นฆราวาสใช่มั้ยที่มีปัญหา
“พระสงฆ์ในประเทศไทยมีสองแสนกว่ารูป มีปัญหาจริง ๆ ผมให้ไปเลยหมื่นรูป เรื่องนี้ทั้ง 3 ส่วนต้องช่วยกัน ทั้งคณะสงฆ์ กฎหมายบ้านเมืองและประชาชนอย่าไปกองให้พระจนเกิดปัญหา”
ทั้งนี้จุดเปลี่ยนในการใส่ซองซึ่งรู้กันในวงการสงฆ์นั้น เกิดจากพระผู้ใหญ่ชั้นเทพ รูปหนึ่ง มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังจิต ที่รู้จักกันในนาม ‘หลวงตา ’ขณะนั้นอยู่ในวัยกลางคน อยู่วัดดังจังหวัดสมุทรสาคร มีลูกศิษย์ล้วนแต่เป็นคนมีสี เป็นบิ๊กในวงราชการ หรือวงการเศรษฐี ไฮโซ และเชื่อมโยงพระผู้ใหญ่ระดับบนโดยตรง แม้จะสึกไปเป็นฆราวาสแล้วว่ากันว่าต้นเหตุมาจากนารีพิฆาตเช่นกัน ก็ยังมีคนศรัทธาตามไปหาท่านตลอด
“เมื่อก่อนไม่มีการกำหนดว่าต้องใส่รูปไหนเท่าไหร่ แต่หลวงตาท่านนี้ตั้งแต่ช่วงปี2535 ทำให้คณะสงฆ์มีปัญหาเรื่องเงิน และกลายเป็นจารีตประเพณีในการถวายซองพระมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหลวงตาท่านกำหนดชั้นยศว่ารูปไหนต้องถวายเท่าไหร่ ตอนนั้นหลวงตาท่านดังมาก ๆ ใครก็ฟังท่าน”
ขณะเดียวกันหลวงตาท่านจำแนกชั้นยศ ว่าหากถวายชั้นสมเด็จพระราชาคณะต้องถวายซองเป็นแสนขึ้นไป ชั้นรองสมเด็จฯ ต้องถวาย 50,000 บาท ชั้นธรรมลงมาถวาย 40,000 บาท พระราชาคณะและชั้นต่ำสุดต้องถวาย 10,000 บาท ส่วนพระครู ต้องถวาย 5,000 บาท
“แยกซองเป็นชนชั้น เมื่อถูกนิมนต์ไปงานต่าง ๆ ผู้เชิญก็ต้องทำตามเพราะกลายเป็นจารีตไปแล้ว แม้พระไม่ได้กำหนด แต่ความที่เคยได้ พองานไหนได้น้อยจากที่เคยได้รับ พอลูกศิษย์เปิดซอง ก็จะบอกไปว่า งานนี้ถวายน้อยจังเลย ซึ่งวิธีการหรือจารีตแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี”
นอกจากนี้ยังมีการเขียนระบุว่าให้ถวายสังฆทานเป็นรถยนต์ ยุคนั้นมีการถวายเจ้าคณะจังหวัด 76 จังหวัด เป็นรถยี่ห้อหนึ่งผูกโบ คือหลวงตาพูดอะไรบรรดาเศรษฐีที่นิมนต์ไปก็จะทำตาม
“ทุกวันนี้การใส่ซองก็ยังคงเป็นตัวเลขนี้อย่างที่บอกมันคือจารีตประเพณีไปแล้วในการนิมนต์พระผู้ใหญ่ แต่ก็มีวัดอื่น ๆ ที่เป็นวัดอารามหลวง ท่านก็ไม่ให้ใช้จารีตนี้ ก็บอกให้ถวายพอเหมาะพอควร อย่างถวายสมเด็จพระราชาคณะ ก็ถวาย 1 หมื่น หรือ 5 พันบาท เจ้าของงานก็จะรู้สึกว่ามันน้อย ก็จะรู้สึกละอายใจว่า นิมนต์มาแล้วถวายน้อย ทั้ง ๆ ที่ สมเด็จพระราชาคณะ ไม่ได้เรียก แต่คนนิมนต์เข้าใจไปเอง”
ดร.ประยุทธ บอกว่า ผู้ที่แสบที่สุดที่ทำให้การถวายซองต้องใส่ คือพระราชาคณะต้องเป็นแสนบาท และต่ำสุดต้อง 5 หมื่นบาท รวมไปถึงวัดใหญ่ ๆ ก็ต้องตัวเลขนี้ ส่วนชั้นรองสมเด็จก็ต้อง 2 หมื่น-5 หมื่นบาท ก็คือบรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดพระนั่นเอง ทั้งที่พระผู้ใหญ่ไม่ได้กำหนดอัตราไว้ เมื่อกำหนดแบบนี้คนที่จะนิมนต์ท่านมาได้ก็ต้องเป็นคนมีฐานะเท่านั้น จึงกลายเป็นว่าพระผู้ใหญ่ ถูกโจมตีว่าคนจนไม่สามารถนิมนต์ท่านได้เพราะไม่สามารถใส่ซองได้เท่านั้น ทั้งที่ท่านไม่ได้คิดเช่นนั้น
“ในวงการสงฆ์ จะรู้กันว่าพระชั้นไหนควรถวายเท่าไหร่ ยิ่งยุคนี้มีปัญหาเศรษฐกิจตัวเลขในซองก็จะลดลงไปบ้างแต่ก็ยังคงอยู่ในหลัก 3 หมื่น หรือ 4 หมื่นเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม อยากให้สังคมมองพระผู้ใหญ่ หรือพระเกจิอาจารย์ที่ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองก็มีจำนวนมาก เงินรายได้ทั้งจากวัดและที่เป็นเงินส่วนตัว ที่ได้จากการสร้างวัตถุมงคลท่านก็ได้มาทำคุณประโยชน์ มาสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ดูแลผู้ป่วยยากไร้ก็มีให้เห็น
“สมเด็จพระญาณสังวร ได้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร หลายแห่ง สร้างโรงเรียน ก็เป็นเงินหลายพันล้าน หรือวัดที่ได้สร้างวัตถุมงคล หรือเงินบริจาค ได้นำไปทำคุณประโยชน์ เช่น หลวงปู่ศิลา หลวงพ่ออลงกต พระพะยอม พระพุทธแสงธรรม สระบุรี”
สิ่งสำคัญที่สังคมต้องเข้าใจคือ ปัญหาที่เกิดกับวงการสงฆ์ ล้วนมีฆราวาสเข้าไปเกี่ยวข้องทุกกระบวนการ คือพระทำเองไม่ได้ เช่นพระวัดหนึ่ง จะยักยอกเงิน เบิกเงินวัด ท่านไม่สามารถเบิกเงินเองได้ กฎหมายสงฆ์กำหนดไว้ จะต้องมี 3 คนเซ็น คือเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร และคณะกรรมการที่เชื่อถือได้อีก 1 คน
“เจ้าอาวาสจะยักยอกเงินวัด เข้าบัญชีตัวเองจะทำคนเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีชาวบ้านเข้าไปทำ เพราะเงินวัดเข้าบัญชีกลาง จึงต้องมีบทลงโทษฆราวาสด้วย ทุกอย่างมีฆราวาสเข้าไปเกี่ยว หรือการสร้างวัตถุมงคล ก็มีการกีดกั้นคนไม่ให้เข้าพบเกจิอาจารย์ มีการกำหนดวงเงินที่จะนิมนต์ไป ก็เป็นพวกฆราวาสกำหนดหากมองภาพรวมปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวพระอย่างเดียว รวมไปถึงเรื่องสีกาก็ตาม
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งสังคายนาวงการสงฆ์เพื่อให้พระพุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อไป!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j