xs
xsm
sm
md
lg

“นิด้า”แนะ วิธีแก้ทุจริตเงินวัด ! ตั้ง ปปง.-สตง.ร่วมเป็นกรรมการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.ณดา” ผอ.ศูนย์ศึกษาพัฒนาเศรษฐกิจ นิด้า เผย 4 ปัจจัยที่เป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเงินวัด แนะ วัดทั่วประเทศควรทำบัญชีตาม”คู่มือมาตรฐานบัญชีวัด” ที่ “สำนักพุทธฯ” ออกมาตั้งแต่ปี 62 ซึ่งแสดงทั้งรายรับ-รายจ่าย-บัญชีทรัพย์สินของวัด แต่ไม่ได้นำมาประกาศใช้ พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์วัด มั่นใจมติ “มหาเถรสมาคม” 4 ข้อ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการทุจริตเงินวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ ควรให้ ปปง.-สตง. ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ

จากกรณีที่เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ยักยอกเงินวัดจำนวนกว่า 300 ล้านบาท ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อีกทั้งยังนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายฝ่ายจึงเริ่มมองหาว่าจะมีวิธีใดบ้างที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาการทุจริตเงินวัดไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

รศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA)
รศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งได้ศึกษาและทำวิจัยเรื่องการบริหารจัดการการเงินของวัดในประเทศไทย ได้เสนอมุมมองและแนวทางในการแก้ปัญหาการทุจริตเงินวัดไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตเงินวัดก็คือระบบในการบริหารการเงินของวัดซึ่งยังขาดกลไกที่ช่วยในการกับกับดูแล ทั้ง 4 ด้าน อันได้แก่

1. โครงสร้างในการบริหารจัดการวัด ซึ่งส่วนใหญ่อำนาจจะอยู่ที่เจ้าอาวาสวัดเพียงคนเดียว

2. การจัดทำข้อมูลทางการเงิน ซึ่งไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ระเบียบการรับการจ่ายเงินไม่มีมาตรฐานในการดำเนินการ การทำบัญชีของวัดไม่ได้จัดทำอย่างครบถ้วนและไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลในการติดตามการบริหารงานของวัดได้

3. ขาดกลไกในการตรวจสอบ ทั้งจากภายในวัดเองและจากภายนอกวัด ขณะที่องค์กรไม่แสวงกำไรอื่นๆ เช่น มูลนิธิหรือสมาคมจะมีการบริหารงานภายใต้คณะกรรมการ การจัดทำบัญชีจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่บัญชีที่ได้รับใบอนุญาต แต่วัดไม่มีกลไกหรือระบบที่ปิดโอกาสในการทุจริต จึงเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริต

4.กฎหมายที่เกี่ยวกับวัดซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันยังล้าสมัย ขาดโครงสร้างในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กำหนดเพียงว่าการดูแลความเรียบร้อยต่างๆภายในวัดเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส โดยเจ้าอาวาสสามารถแต่งตั้งไวยาวัจกรช่วยในการดูแลกิจต่างๆที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์หรือพระสงฆ์ดำเนินการไม่สะดวก โดยไม่ได้ระบุว่าไวยาวัจกรต้องมีคุณสมบัติอย่างไร คณะกรรมการวัดต้องมีองค์ประกอบและที่มาอย่างไร ปัจจุบันคณะกรรมการวัดจึงเป็นคณะบุคคลที่ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ

“ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลการบริหารจัดการการเงินของวัดและครอบคลุมเรื่องโครงสร้างในการบริหารจัดการวัดที่สามารถถ่วงดุลกัน ทั้งการตรวจสอบภายในวัดและการตรวจสอบจากภายนอกวัด ไม่ใช่แค่ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้ตรวจตราภายในวัดเท่านั้น ดังนั้นอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ ” รศ.ดร.ณดา ระบุ


รศ.ดร.ณดา กล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันจะมี “กฎกระทรวงการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ.2564” แต่กฎกระทรวงดังกล่าวก็ยังไม่มีการพูดถึงการจัดทำข้อมูลทางการเงินของวัด โดยให้ใช้กฎกระทรวงการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ.2511 ไปพลางก่อน ซึ่งกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2511 ก็ค่อนข้างล้าสมัย คือเดิมมีแบบฟอร์มการทำบัญชีของวัดอยู่แล้วโดยเป็นแบบฟอร์มอย่างง่าย คือมีแบบฟอร์มรายรับ-รายจ่าย ทั้งรายเดือนและรายปี แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินของวัด

แม้ในปี 2561-2562 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เคยทำ“คู่มือมาตรฐานบัญชีวัด”ออกมา โดยร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ซึ่งเป็นระบบบัญชีที่มีความละเอียด มีบัญชีอยู่ 6 แบบฟอร์ม ซึ่งแบบฟอร์มสุดท้ายเป็นแบบฟอร์มที่มีการแสดงฐานะการเงินของวัด คือแสดงทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของวัด รวมถึงมีงบดุล อีกทั้งสำนักพุทธฯพยายามนำมาตรฐานบัญชีวัดดังกล่าวมาใช้กับวัดในโครงการนำร่อง จำนวน 16 วัด แต่โครงการนี้กลับไม่ได้มีการขยายผลต่อไปยังวัดอื่นๆ ขณะที่วัดต่างๆก็ไม่ได้มีความพร้อมในการทำบัญชีมากนัก โดยเฉพาะวัดขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนมากกว่าวัดขนาดกลางและขนาดใหญ่ ดังนั้นปัจจุบันข้อมูลบัญชีของวัดจึงเป็นเพียงบัญชีอย่างง่าย แสดงรายรับ-รายจ่ายรายเดือน และรายรับ-รายจ่ายรายปี แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องลงบัญชีแบบระเอียดอย่างไร หรือจะต้องส่งบัญชีสมุดเงินฝากเพื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินของวัดหรือไม่อย่างไร จึงไม่มีแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมการบริหารจัดการเงินทั้งหมด

รศ.ดร.ณดา ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันวัดใหญ่ๆมีระบบการจัดทำบัญชีอยู่แล้วและได้จัดส่งรายงานบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดทั้งบัญชีรายเดือนและบัญชีราย 9 เดือน ไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม โดยบัญชีรายเดือนต้องส่งทุกเดือน ส่วนราย 9 เดือน คือช่วงระหว่าง วันที่ 1 ต.ค.-30 มิ.ย. แต่ไม่ทราบว่าสำนักพุทธฯได้นำบัญชีดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือตรวจสอบเพื่อให้เห็นภาพรวมในการบริหารจัดการเงินของแต่ละวัดหรือไม่ อย่างไร แต่เท่าที่ทราบเราไม่พบข้อมูลตรงนี้ ดังนั้นในอนาคตหากจะปิดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตเงินวัดก็น่าจะมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการทุจริตของวัดต่างๆ รวมถึงการทุจริตของหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาซึ่งเคยเกิดกรณีทุจริตเงินทอนวัด

“ มีคำสั่งมหาเถรสมาคมปี 2558 ที่ให้แต่ละวัดจัดทำบัญชีตามแบบฟอร์มที่สำนักพุทธฯกำหนดและนำส่งสำนักพุทธฯ โดยหากเป็นวัดในภูมิภาคก็ให้ส่งที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัด ส่วนวัดใน กทม.ก็ให้ส่งที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีบัญชีจากวัดต่างๆที่ส่งให้ทางสำนักพุทธฯแล้วจำนวนไม่น้อย และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่สำนักพุทธฯได้นำบัญชีวัดเหล่านี้ไปทำอะไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบหรือกำกับดูแลการบริหารจัดการเงินของวัดต่างๆหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สาธารณชนไม่เคยได้เห็นบัญชีการเงินของวัด แต่ก็เข้าใจว่าสำนักพุทธฯอาจจะมีข้อจำกัด เพราะประเทศไทยมีวัดอยู่ถึง 40,000 วัด ดังนั้นสำนักพุทธฯอาจจะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อจะได้เห็นปัญหาหรือความผิดปกติที่เกิดจากการบริหารจัดการการเงินวัด ” รศ.ดร.ณดา กล่าว


รศ.ดร.ณดา ชี้ว่า จากมติของมหาเถรสมาคมที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2568 ใน 4 ประเด็นนั้น ถือว่าเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการทุจริตเงินวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 4 ประเด็นดังกล่าว ได้แก่

1.ให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการวางแนวทางในการจัดการทรัพย์สินของวัด โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ....ซึ่งจะช่วยให้กลไกในการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.จัดทำแนวทางบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดให้ทันสมัย ตรวจสอบได้ โดยมีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้....ซึ่งจะช่วยให้วัดที่มีข้อมูลการเงินจำนวนมาก และสามารถจัดทำข้อมูลได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น

3.รณรงค์ให้ทุกวัดใช้ระบบ ‘อี-โดเนชั่น’(ระบบการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้น) มาใช้ในการรับบริจาคจากพุทธศาสนิกชน....ซึ่งการบริจาคเงินผ่านระบบดังกล่าวจะช่วยป้องกันการทุจริตเงินวัดได้ เนื่องจากมีการบันทึกข้อมูลการรับบริจาคทำให้สามารถตรวจสอบได้ ต่างจากการบริจาคเป็นเงินสด อีกยังป้องกันการนำเงินสีเทามาบริจาคได้ด้วย

4.ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยการจัดตั้ง ‘กองศาสนสมบัติวัด’ ขึ้นมาดูแลการจัดการศาสนสมบัติของวัดโดยเฉพาะ...ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างก็น่าจะให้สำนักพุทธฯมีบทบาทในการดูแลการบริหารจัดการการเงินวัดได้เข้มข้นมากขึ้น ต่างจากปัจจุบันที่สำนักพุทธฯเป็นแค่หน่วยสนับสนุนในการเผยแผ่พุทธศาสนา เป็นเหมือนเลขาฯของมหาเถรสมาคม ทำให้บทบทในการตรวจสอบของสำนักพุทธฯไม่เข้มข้นเท่าที่ควร

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)
รศ.ดร.ณดา ระบุว่า การวางรูปแบบในการบริหารจัดการการเงินของวัดต่างๆเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตเงินวัดนั้นอาจจะไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกันทั้งหมดเนื่องจากแต่ละวัดมีขนาดไม่เท่ากัน โดยอาจทำในลักษณะให้วัดขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงวัดขนาดกลางและวัดขนาดเล็ก และให้วัดแต่ละขนาดมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ซึ่งวัดขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องทำบัญชีครบทั้ง 6 แบบฟอร์ม โดยสามารถทำแค่บัญชีราย-รายจ่าย แต่ทำข้อมูลให้ครบถ้วนมากขึ้น

ส่วนโครงสร้างในการติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการการเงินวัดนั้น เนื่องจากวัดเป็นองค์กรที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ดังนั้นโครงสร้างในการติดตามตรวจสอบฯ นอกจากมีตัวแทนของสำนักพุทธฯแล้ว ควรจะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยอาจจะเข้ามาร่วมกับสำนักพุทธฯในรูปของคณะกรรมการที่ร่วมกันกำหนดรูปแบบในการบริหารการเงินวัด รวมถึงวิธีติดตามตรวจสอบ เพื่อปิดช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการทุจริต แทนที่จะเข้ามาตรวจสอบหลังจากที่เกิดปัญหาแล้วดังเช่นในปัจจุบัน

“ ในการปรับปรุงรูปแบบการทำบัญชีของวัดนั้นเราสามารถนำคู่มือมาตรฐานบัญชีวัด ที่สำนักพุทธฯทำออกมาเมื่อปี 2562 มาใช้ได้เลย โดยหากเป็นวัดขนาดใหญ่ก็ให้ทำครบทั้ง 6 แบบฟอร์ม ส่วนวัดขนาดก็เลือกทำเฉพาะแบบฟอร์มที่เหมาะสมกับขนาดและกิจกรรมของวัด ส่วนเรื่องการติดตามตรวจสอบนั้นตามมติของมหาเถรสมาคมที่ให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการวางแนวทางในการจัดการทรัพย์สินของวัด ซึ่งมีพระผู้ใหญ่เป็นประธาน ก็คงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งน่าจะดึงเข้ามาร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการดำเนินงาน เพื่อช่วยกันออกแบบระบบที่เหมาะสม ” รศ.ดร.ณดา กล่าว

รศ.ดร.ณดา ยังได้เสนอว่า ควรมีการเปิดเผยบัญชีการเงินของวัดให้สาธารณชนรับทราบ เพราะหากข้อมูลโปร่งใส เข้าถึงได้ ภาคประชาสังคมก็สามารถช่วยเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องการบริหารจัดการการเงินของวัด ขณะเดียวกันก็เป็นแรงกระตุ้นให้ทางวัดมีความรอบคอบในการบริหารจัดการเงินมากขึ้น และลดช่องโหว่ในการทุจริต โดยอาจจะมีการหารือระหว่างทางวัดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะเปิดเผยในระดับไหน ผ่านช่องทางใดบ้าง เช่น อาจเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของวัด

“ เราเห็นอยู่แล้วว่าช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริตเงินวัดนั้นอยู่ตรงไหน จึงอยู่ที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงมาแก้ปัญหาหรือไม่ อีกทั้งมีวิธรการอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะทำไหม ในหลักการแล้วสำนักพุทธฯควรจะเป็นแม่งาน โดยสำนักพุทธฯอาจจะชงเรื่องให้มหาเถรสมาคมพิจารณาและเร่งดำเนินการ โดยใช้มติของมหาเถระสมาคม ทั้ง 4 ประเด็นเป็นกรอบในการดำเนินงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดรายละเอียด ขณะเดียวกันสำนักพุทธฯก็อาจจะหาแนวร่วมโดยผ่านทางสถาบันการศึกษา ซึ่งเท่าที่ทราบบรรดานักวิชการก็ยินดีจะเข้าไปช่วยอยู่แล้ว ” รศ.ดร.ณดา ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น