xs
xsm
sm
md
lg

ยัน G-Token ไม่มีกฎหมายรองรับ เตือน ! ขรก.-รมว.คลัง เสี่ยงคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต รมว.คลัง และ อดีตรอง ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ แบงก์ชาติ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน ฟันธงตรงกัน G-Token ทำไม่ได้ เหตุ ไร้กฎหมายรองรับ “ธีระชัย” ชี้ งานนี้ ครม.รอด แต่ “ขรก.-รมว.คลัง”เสี่ยงติดคุก และอาจโดนคดีแพ่ง ต้องชดใช้หากเกิดความเสียหายตามมา ระบุ เกณฑ์ลงทุน 2 หมื่น คนเงินน้อยเอื้อมไม่ถึง ด้าน “ดร.ชัยวัฒน์” เผย ปัจจุบัน ก.คลัง มีพันธบัตรแบบไร้ตราสาร ซื้อขั้นต่ำแค่ 100 บาท ซึ่งประชาชนสามารถซื้อผ่านแอพเป๋าตังได้อยู่แล้ว เชื่อ G-Token อาจมีเป้าหมายอื่นแอบแฝง

เป็นที่จับตาไม่น้อยทีเดียว สำหรับมติ ครม. ที่อนุมัติให้ออก G-Token ซึ่งเป็นพันธบัตรดิจิทัล ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้คนไทยสามารถลงทุนได้ง่าย ผ่านระบบดิจิทัล โดยเฉพาะรายย่อยที่มีศักยภาพทางการเงินไม่มากนัก ซึ่งแม้ด้านหนึ่งจะมองว่านี่คือโอกาสใหม่ในการลงทุน แต่อีกด้านหนึ่งก็อดวิตกไม่ได้ว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมาดังเช่นที่เคยเกิดกับหลายโครงการของรัฐบาลเพื่อไทยในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ?

ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และอดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประเด็นแรกที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือ การออก G-Token สามารถทำได้หรือไม่ มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า

ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และอดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยีการเงินดิจิทัล ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การออก G-Token ของรัฐบาลนั้นในเรื่องของกฎหมายรองรับอาจยังไม่สมบูรณ์และมีความเสี่ยงด้านกฎหมายอยู่บ้าง โดยต้องแยกเป็นสองส่วนคือ การกู้เงิน และการออกโทเคนดิจิทัล

ในส่วนของการกู้เงิน คงไม่มีประเด็นนักเพราะสามารถทำได้โดยวิธีการอื่นใด ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อ้างอิงไว้

บทกฎหมาย มาตรา ๑๐ การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญา หรือออกตราสารหนี้ หรือใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ซึ่งการกู้เงินโดยวิธีการออกตราสารหนี้ ให้ออกได้ตามจำนวนเงิน ระยะเวลา และวิธีการออกตราสารหนี้ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จะใช้ว่าเป็นการออกตราสารหนี้ หรือจะใช้ว่าเป็นวิธีการอื่นใดคงต้องเลือกเอา ถ้าจะใช้โทเคนในการออกตราสารหนี้ ก็ต้องดูต่อตามนิยามที่กำหนดในมาตรา 4 ซึ่งนิยามว่า “ตราสารหนี้” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรและตราสารอื่นที่มีผลก่อให้เกิดหนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้หมายความรวมถึงตราสารหนี้ที่ออกในระบบไร้ใบตราสารด้วย โดยต้องให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะร่วมกำหนดด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีต รมว.คลัง
ส่วนการออกโทเคนดิจิทัล รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน ว่ามีกฎหมายรองรับให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกโทเคนดิจิทัลหรือเปล่า หากกระทำโดยมีฐานกฎหมายรองรับไม่ครบถ้วน ก็คงต้องมาดูว่ามีการใช้อำนาจนอกเหนือกรอบกฎหมายในส่วนไหน โดยใคร และคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“ แต่เท่าที่ดูใน พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่ได้มีการพูดถึง ดังนั้นถ้าจะใช้คำว่าวิธีการอื่นใดตามที่ ครม.อนุมัติก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจนและมีความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย ว่าการออก G-Token มีกฎหมายรองรับให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกโทเคนดิจิทัลหรือเปล่า โดยหลักการแล้วหากไม่มีข้อกฎหมายรองรับครบถ้วน การออก G-Token เพื่อระดมทุนของภาครัฐย่อมทำไม่ได้และอาจถือว่าผิดกฎหมาย เพราะรัฐทำนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ ” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายเศรษฐกิจ และอดีต รมว.คลัง ที่ระบุว่า หลักการคือถ้ารัฐบาลหรือหน่วยราชการจะทำอะไรต้องมีกฎหมายที่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งเท่าที่ไล่ดูยังไม่เห็นมีกฎหมายใดที่อนุญาตให้กระทรวงการคลังออก G-Token ได้ ดังนั้นหากไปทำอะไรที่กฎหมายไม่อนุญาต ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดทางอาญาและหากปรากฏว่าเกิดความเสียหายต่อรัฐตามมาก็จะมีความผิดทางแพ่งควบคู่ไปด้วย จึงต้องขอเตือนรัฐบาลไว้ล่วงหน้า

“ เนื่องจากมติ ครม.ที่อนุมัติให้ออก G-Token เขียนไว้รัดกุมว่า ครม.อนุมัติให้ปฏิบัติโดยต้องเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ตรงนี้คณะรัฐมนตรีก็ปลอดภัย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการกระทรวงการคลัง ตลอดจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนทำเอง การที่จะเสนออะไรออกมานั้นแน่ใจหรือยังว่าเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ” นายธีระชัย กล่าว


ประเด็นต่อมาที่ประชาชนให้ความสนใจคือการออก G-Token เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถลงทุนในจำนวนเงินที่น้อยจริงหรือไม่ ? รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรโดยกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ ในวงเงินน้อยๆแทนการออก G-Token ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในวางระบบค่อนข้างสูง ได้หรือเปล่า

เรื่องนี้ “อดีต รมว.คลัง” เห็นว่า อันดับแรกต้องถามให้ชัดก่อนว่าการจะออก G-Token นั้นได้ประโยชน์อะไร และได้คุ้มเสียหรือเปล่า เพราะ G-Token ไม่ได้เพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนในการลงทุน ที่อ้างว่าจะสามารถดึงนักลงทุนรายย่อยให้เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น มีเงินน้อยก็ลงทุนได้นั้น จริงๆแล้วปัจจุบันประชาชนก็สามารถซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้อยู่แล้ว วงเงินในการซื้อแต่ละครั้งก็ค่อนข้างต่ำ และสามารถขายคืนในวงเงินที่กำหนดโดย ก.ล.ต.(คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ขณะที่หากจะขาย G-Token ก่อนครบกำหนดจะต้องขายในตลาดรอง ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าขณะนั้นราคาจะผันผวนหรือไม่อย่างไร เป็นสินทรัพย์ที่คนนิยมหรือเปล่า

“ จากข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ระบุว่า G-Token เริ่มลงทุนขั้นต่ำที่ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งหากเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมาก จึงไม่ตอบโจทย์ตามวัตถุของรัฐบาลที่ระบุว่าออก G-Token เพื่อให้ประชาชนรายย่อยสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้มากขึ้น ขณะที่หากซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตร มีเงินแค่ 100 บาทก็สามารถซื้อได้ ” นายธีระชัย กล่าว

ด้าน “ดร.ชัยวัฒน์” ระบุว่า ในทางปฏิบัติที่ทำมา กระทรวงการคลังก็สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิมโดยกำหนดวงเงินซื้อต่ำ ๆ ได้อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีพันธบัตรออมทรัพย์แบบไร้ตราสาร(scripless) ที่ขายผ่านแอปฯเป๋าตัง ในวอลเล็ต สบม. ซึ่งกำหนดซื้อขั้นต่ำเพียง 100 บาท มาแล้ว แปลว่าการเปิดให้ลงทุนจำนวนน้อยไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปโทเคนก็ทำได้อยู่แล้ว และสามารถเข้าถึงประชาชนมากกว่า 40 ล้านคนที่เป็นยูสเซอร์ของแอปฯเป๋าตัง

“ การออก G-Token เป็นวิธีใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีโทเคนดิจิทัล ทำให้ซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ ถามว่าในอนาคตจะมีประชาชนที่มีบัญชีกับศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลเท่าไหร่ น่าจะ 2-3 ล้านคนหรือมากกว่านั้นเล็กน้อย เทียบกับ 40 ล้านคนที่มีแอปฯเป๋าตังแล้ว ผมคงไม่ต้องบอกว่าโอกาสไหนมีมากกว่ากัน ดังนั้นวัตถุประสงค์คงจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า ” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันประชาชนสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลบางรุ่น ในวงเงินขั้นต่ำแค่ 100-1,000 บาทเท่านั้น อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง (ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1) วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท (หน่วยละ 1,000 บาท) , พันธบัตรออมทรัพย์บนวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง (ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รุ่นที่ 1) วงเงินซื้อขั้นต่ำ 100 บาท (หน่วยละ 1 บาท) อีกทั้งยังสามารถสั่งซื้อผ่านมือถือได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากเป็นการจำหน่ายผ่านวอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง (วอลเล็ต สบม.) ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง

สำหรับ“พันธบัตรออมทรัพย์แบบไร้ตราสาร”ที่กระทรวงการคลังเคยออกมานั้น “อดีต รมว.คลัง” ชี้แจงว่า เป็นคนละประเภทกับ G-Token โดยพันธบัตรออมทรัพย์แบบไร้ตราสารนั้นเป็นพันธบัตรแบบไม่ต้องใช้กระดาษ เป็นการให้สิทธิแบบ Scripless(การระบุหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในครอบครองโดยการบันทึกข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์) ซึ่งดำเนินการควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะกำหนดไว้ว่าการกู้เงินของรัฐบาลจะต้องออกเป็นสัญญาหรือตราสารหนี้ ซึ่งตราสารหนี้นั้นทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วเงินคลัง ซึ่งเวลารัฐบาลออกพันธบัตรก็ทำได้ 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นกระดาษ และอีกแบบไม่ต้องใช้กระดาษ ส่วน G-Token เป็นหลักทรัพย์ที่ออกมาแบบเป็นเอกเทศ โดยใช้ระบบบล็อกเชน มีลักษณะคล้ายคริปโต

“ พันธบัตรออมทรัพย์แบบไร้ตราสาร เป็นการจัดกระบวนการในการเก็บโดยไม่ต้องมีกระดาษ แต่มีทะเบียน โดยทางแบงก์ชาติเป็นคนดูแล ซี่งเป็นรูปแบบที่มีมานานแล้ว” นายธีระชัย กล่าว

ส่วนที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า G-Token มีความคล่องตัว ถ้าต้องการเงินด่วน ก็สามารถขายให้คนอื่นในตลาดรองได้นั้น “นายธีระชัย" มองว่า การจะซื้อขายดิจิทัลโทเคนในตลาดรองได้ รัฐบาลจะต้องไปทำตลาดรองเพื่อรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ เพราะการจะซื้อขายโทเคนดิจิทัลได้ก็ต้องเข้าไปในศูนย์ที่ทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต ศูนย์ดังกล่าวไม่มีสำนักงาน ถ้าระบบล่มข้อมูลการซื้อขาย G-Token ก็เสี่ยงที่จะสูญหาย อีกทั้งปัจจุบันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยก็ยังไม่ได้รับความนิยมเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่น ดังนั้นการซื้อขาย G-Token ในตลาดรองจึงเป็นไปได้ยาก


ขณะที่ “ดร.ชัยวัฒน์” ได้พูดถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการออก G-Token ว่า ข้อดี ของโทเคนดิจิทัล คือ สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่รองรับได้คล่องตัวกว่าการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองแบบเดิม โดยไม่ต้องผ่านธนาคารหรือตัวแทนจำหน่าย ทำให้มีสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือได้ง่ายและรวดเร็วแทบจะทันที เพราะการ settlement ชำระเงินค่าซื้อขายทำได้รวดเร็วมาก

ส่วนข้อเสียนั้น ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวังเช่นกัน อาทิ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีความเข้าใจหรือความพร้อมในการใช้งานแพลตฟอร์มของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะการซื้อขายจะทำผ่านแอปฯ หรือเว็บไซต์ของศูนย์ ซึ่งสำหรับบางคนถือเป็นเรื่องใหม่ อาจมีรูปแบบการใช้งานและฟีเจอร์ที่ซับซ้อน อีกเรื่องคือ เมื่อเข้าไปอยู่ใน ecosystem ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลแล้ว ก็อาจเริ่มไปเล่นเก่งกำไรในคริปโตเคอเรนซี่หรือคอยน์ต่างๆได้ง่าย จนอาจนำไปสู่ความเสียหายจากการลงทุน เดิมตั้งใจจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงเช่นพันธบัตรรัฐบาล แต่กลับขยายไปจนจบด้วยความเสียหายจากความผันผวนของคริปโตได้

“ ถามว่าความจำเป็นในการออกเป็นโทเคนดิจิทัลนั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ จากคำตอบก่อนหน้าในเรื่องของโอกาสในการลงทุนจำนวนน้อยของประชาชนนั้นคงไม่สมเหตุสมผล วงเงิน 5,000 ล้านบาทถือว่าเป็นวงเงินที่น้อยมาก 0.0013% เทียบกับเงินงบประมาณ 3.78 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2569 ดังนั้นการออกโทเคนกู้เงินจำนวนเท่านี้รัฐบาลน่าจะมีเจตนาใช้ 5 พันล้านบาทนี้เพื่อทำการทดลองอะไรบางอย่าง หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการทำโครงการดิจิตอลวอลเลต” ดร.ชัยวัฒน์ ระบุ

ดร.ชัยวัฒน์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาที่แท้จริงในการออก G-Token ของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ว่า เนื่องจากยังไม่มี white paper (เอกสารรายละเอียดในการออกโทเคนดิจิทัล) ออกมา จึงยังไม่มีอะไรแน่ชัด ถ้าจะให้เดาก็คงมาจากแนวคิดของ สทร. ในการออก stable coin ที่มีพันธบัตรหนุนหลัง

“ หลังจากที่ต้องการแจกเงินดิจิทัล แต่ทำไม่ได้เพราะโดนทักท้วงจากหลายหน่วยงานว่าจะขัด พรบ.เงินตรา ที่ต้องมีเงินบาทหนุนหลังเต็มจำนวน เลยหาทาง ออก stable coin แทน โดยเทียบเท่าเงินบาทหนึ่งต่อหนึ่ง คงหวังจะให้ใช้แทนเงินตราสกุลบาทในระบบธนาคาร แต่ไม่เรียกว่า stable coin เรียกว่า g-token แล้วขายในมุมว่าเป็นการลงทุน แต่ลึกๆ แล้วคงอยากจะพัฒนาต่อไปให้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน means of payment การทำแบบนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าต้องการจะหลบเลี่ยงการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของ ธปท. ไปอยู่ใต้การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัล โดย กลต. ซึ่งรัฐบาลสั่งได้ง่ายกว่าหรือไม่ ? ” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น