“วิลาศ” อดีต กมธ.ป.ป.ช. ชี้พิรุธ รัฐสภาทุ่มงบ 2,700 ล้าน รีโนเวทเอง ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงรับประกัน 2 ปี เชื่อปั้นหน้างานใหม่ กลบหลักฐานงานเดิมที่ทำผิดแบบ-คุณภาพสุดห่วย เผย โครงการ“สัปปายะสภาสถาน”ถูกยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ ถึง 56 กรณี พบ มีการขยายเวลาก่อสร้าง 6 ครั้ง รวมระยะเวลาเกือบ 2,900 วัน ด้วยเหตุผลที่แสนพิลึกพิลั่น ทำงบบานจาก 12,280 ล้านบาท เป็น 22,987 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ "สัปปายะสภาสถาน" นับเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวที่ถูกเรียกว่า“มหากาพย์แห่งการโกง” เพราะไม่ว่าจะแตะไปตรงไหนก็มีแต่ปัญหา ทั้งการก่อสร้างที่ล่าช้า ไร้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน การซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง อีกทั้งปัญหาที่เรื้อรังยาวนานกว่า 10 ปี
โครงการนี้พูดถึงอีกครั้งหลังจากที่รัฐสภาทำเรื่องของบประมาณเพิ่มเติมอีก 2.7 พันล้าน เพื่อใช้ในการรีโนเวท ทั้งที่เพิ่งใช้งานไปเพียง 5 ปีเท่านั้น !
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีตคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มาโดยตลอด ระบุว่า โครงการนี้คือที่สุดของความยอดแย่ในทุกด้าน การก่อสร้างความเละเทะที่สุด สร้างผิดแบบมากที่สุด โกงมากที่สุด ซึ่งเฉพาะโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ตนได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ให้เข้ามาตรวจสอบแล้วถึง 56 กรณีด้วยกัน
ขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 6 ครั้ง
นายวิลาศ กล่าวต่อว่า จากการติดตามตรวจสอบพบว่าโครงการดังกล่าวมีความผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการขยายสัญญาหรือขยายระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งมีการขยายถึง 6 ครั้ง จากเดิมระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาระหว่างรัฐสภากับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง คือ 900 วัน (เริ่มลงเสาเข็มในปี 2556 - สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 24 พ.ย.2558) แต่มีการขยายเวลาออกไปอีกเกือบ 2,900 วัน หรือมากกว่า 3 เท่าของสัญญา ทำให้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 กว่าวัน โดย 2 ครั้งแรกเป็นการขยายเวลาก่อสร้างเพราะมีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างรัฐสภา เนื่องจากโรงเรียนมัธยมซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมยังก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ไม่แล้วเสร็จจึงยังย้ายไปที่ใหม่ไม่ได้ โดยครั้งที่ 1 ขยายเวลาก่อสร้าง 387 วัน (25 พ.ย. 2558 - 15 ธ.ค. 2559) ครั้งที่ 2 ขยาย 421 วัน (16 ธ.ค. 2559 - 9 ก.พ. 2561) ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นความผิดของทางรัฐสภาจึงไม่มีการคิดค่าปรับจากบริษัทก่อสร้าง
ต่อมาบริษัทคู่สัญญาก็ขอขยายเวลาอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยอ้างว่ามีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะรัฐสภาได้ส่งมอบพื้นที่ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายพัสดุของรัฐสภาจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายสัญญา แต่สภากลับอนุมัติ โดยครั้งที่ 3 ให้ขยายสัญญาเป็นเวลา 674 วัน (10 ก.พ. 2561 - 15 ธ.ค. 2562) จากนั้นบริษัทก่อสร้างก็ขอขยายสัญญาครั้งที่ 4 ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาบอกว่าไม่ได้ แต่สภาก็ขยายให้อีก โดยขยายเวลาให้ 382 วัน (16 ธ.ค. 2562 - 31 ธ.ค. 2563) ขณะที่นายวิลาศมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนซึ่งไม่ถูกต้องจึงได้ร้องต่อ ป.ป.ช.ให้มีการตรวจสอบ เท่านั้นยังไม่พอบริษัทคู่ก่อสร้างได้ขอขยายเวลาอีกเป็นครั้งที่ 5 แต่คราวนี้สำนักกฎหมายของรัฐสภามีการประชุมและทำหนังสือคัดค้านเพราะเหตุผลในการขอขยายสัญญาไม่เข้าเงื่อนไขที่กำหนด จึงขยายสัญญาไม่ได้
“ ตามสัญญา ระยะเวลาก่อสร้างต้องสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2563 พอขึ้นเดือน ม.ค.2564 สภาจึงมีหนังสือถึงบริษัทคู่สัญญาว่าจะเริ่มปรับวันละ 12.28 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรจะต้องเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 แต่เนื่องจากปี 2563 มีการแพร่ระบาดของโควิด ก็ไม่รู้ว่ามีใครช่วยใคร หรือมีการเอื้อบริษัทที่ร่วมรัฐบาลด้วยกันหรือเปล่า ปรากฏว่ามติ ครม. วันที่ 26 มี.ค.2563 มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยระบุว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หน่วยงานรัฐจะคิดค่าปรับในการจัดซื้อจัดจ้างในอัตรา 0% โดยมีการประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ 26 มี.ค.2563 ถึง 30 มิ.ย.2565 รวมระยะเวลา 827 วัน ดังนั้นถ้าเลยวันที่ 30 มิ.ย.2565 บริษัทที่ก่อสร้างรัฐสภาก็ต้องเริ่มเสียค่าปรับ แต่บริษัทดังกล่าวกลับเอาตรงนี้มาอ้างเพื่อขอขยายเวลาอีก 200 กว่าวัน โดยอ้างว่าเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่เสียสิทธิในระหว่างวันที่ 26 มี.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค.2563 โดยเริ่มนับวันที่ขยายสัญญาตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2565 ซึ่งเป็นข้ออ้างที่มั่วมาก แต่สภาก็อนุมัติ ทำให้วันที่สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้าง กลายเป็นในวันที่ 7 เม.ย.2566 ทั้งที่ช่วงโควิดก็มีการก่อสร้างตามปกติ ถือเป็นการขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 พอใกล้ 7 เม.ย.2566 ก็ยังไม่เสร็จอีก คราวนี้บริษัทก่อสร้างอ้างว่าสมัยนายกฯยิ่งลักษณ์มีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท แต่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยยกเว้นค่าปรับให้ 150 วัน บริษัทจึงเอา 150 วันมานับต่อจากวันที่ 7 เม.ย.2566 อีก ทำให้สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้าง วันที่ 4 ก.ย.2566 ทั้งที่มันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย คณะกรรมการตรวจรับงานก็บ้าจี้ยอมตาม ถือเป็นการขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 6 รวมแล้วขยายเวลาไปเกือบ 2,900 วัน ซึ่งเป็นอะไรที่บัดซบมาก ” นายวิลาศ ระบุ
งบรีโนเวท 15 โครงการ 2.7 ล้านบาท
ปัญหาการเพิ่มงบก่อสร้างอาคารรัฐสภาออกไปแบบไม่สิ้นสุดก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากวิจารณ์อย่างมาก “อดีตกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร” ให้ข้อมูลว่า ตอนแรกมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 12,280 ล้านบาท ซึ่งงบจำนวนนี้รวมทั้งค่าก่อสร้าง ค่าวางระบบสาธารณูปโภค ค่าวางระบบไอที และค่าอุปกรณ์ต่างๆ แต่พอเริ่มก่อสร้างจริงทางบริษัทคู่สัญญากลับบอกว่าการวางระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้า ระบบแอร์ ระบบไอที ฯลฯ จะแยกทำต่างหาก ทำให้งบ 12,280 ล้านบาท กลายเป็นงบที่ใช้เฉพาะในส่วนของการก่อสร้างเท่านั้น เมื่อมีการวางระบบก็จะขอเพิ่มงบประมาณไปเรื่อยๆ กระทั่งงบบานปลายไปถึง 22,987 ล้านบาท คือเพิ่มขึ้นถึง 10,707 ล้านบาท และล่าสุดรัฐสภาจะมีการของบประมาณเพื่อใช้ในการรีโนเวทอีกกว่า 2.7 พันล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่เพื่อ‘ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสภาฯ’ ทั้งที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เพิ่งเปิดใช้มาได้เพียง 5 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นการเข้าใช้งานบางส่วนก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ 100% และก่อนที่จะมีการส่งมอบงาน
โดยรัฐสภาเตรียมขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการ 15 โครงการ มูลค่าสูงถึง 2,773 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
10 โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2569 จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) (อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ) รวม 956 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) 44 ล้านบาท
2. พัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ B1-2 งบ 180 ล้านบาท
3. ปรับปรุงไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณห้องประชุมสัมมนาชั้น B1 และ B2 งบ 117 ล้านบาท
4. ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง งบ 123 ล้านบาท
5. ปรับปรุงห้องประชุม งบ 118 ล้านบาท
6. ปรับปรุงพื้นที่ครัวของอาคารรัฐสภา งบ 117 ล้านบาท
7. ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 งบ 99 ล้านบาท
8. จัดซื้อจอ LED Display งบ 72 ล้านบาท
9. พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ งบ 43 ล้านบาท
10. ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C งบ 43 ล้านบาท
5 โครงการที่หน่วยงานทำคำขอ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2569 จาก ครม. รวม 1,817 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา งบ 1,529 ล้านบาท
2. ออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภา ในห้องประชุมสุริยัน งบ 133 ล้านบาท
3. จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย งบ 74 ล้านบาท
4. ระบบป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และเสริมสร้างคุณภาพอากาศ งบ 50 ล้านบาท
5. จ้างงานซ่อมแซมปรับปรุงเสาไม้สัก งบ 31 ล้านบาท
นายวิลาศ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การก่อสร้างรัฐสภาในหลายจุดไม่มีคุณภาพและสร้างผิดแบบ ซึ่งการของบประมาณโดย
อ้างว่าเพื่อนำไปใช้รีโนเวทก็อาจเพียงข้ออ้างที่จะเข้าไปกลบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่บริษัทก่อสร้างซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐสภาไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าซ่อมแซมทั้งที่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน เนื่องจากบริษัททำเรื่องส่งมอบงานในวันที่ 4 ก.ย.2566 ระยะเวลาประกัน 2 ปี สภาจึงถือว่าสิ้นสุดระยะเวลาประกันในวันที่ 4 ก.ย. 2568 ดังนั้นหากจุดใดจุดหนึ่งเกิดการชำรุดก่อนวันที่ 4 ก.ย. 2568 จึงต้องเป็นความรับผิดชอบของบริษัทคู่สัญญา
โดย อดีตกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า โครงการรีโนเวทรัฐสภาดังกล่าวมีประเด็นที่ควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดด้วยกันคือ
1.ปัญหาที่จอดรถและน้ำรั่วซึม โดยปัจจุบันพบปัญหาน้ำรั่วซึมบริเวณชั้น B2 ของอาคารรัฐสภา กว่า 100 จุด ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนการตรวจรับงาน และตนได้ร้องไปที่ ป.ป.ช. และแจ้งสภาฯ ให้ชะลอการตรวจรับงาน เนื่องจากพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบ คือไม่มีผนังกันซึม แต่กลับมีการตรวจรับงานภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการใช้งบประมาณที่เหลือจากสภาฯ ไปจ้างเอกชนออกแบบทำที่จอดรถใต้ดินเพิ่มอีก 106 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกับรายการก่อสร้างอาคารจอดรถที่ระบุอีก 1,500 ล้านบาท จึงมีคำถามว่าปัญหาเก่านี้ได้รับการแก้ไขหรือไม่ และที่น่าสังเกตคือในการประกวดราคาออกแบบระบุว่าเป็นการออกแบบอาคารจอดรถใต้ดิน จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีเจตนาตั้งโครงการใหม่ขึ้นมาเพื่อกลบปัญหาเดิมที่สร้างไว้
2.งบปรับปรุง 'ศาลาแก้ว' จำนวน 123 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง โดยข้อมูลจากรัฐสภา
ระบุว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพระราชพิธี ซึ่งจากการตรวจสอบพบความผิดปกติ 3 ส่วน คือ 1.ทางเดินเท้า ที่กำหนดให้ใช้หิน 60 x 60 ซม. แต่หินที่ใช้จริงคือขนาด 40 x 40 ซม. , 2.ทางเดินเท้า ตามแบบต้องมีคานรองรับ แต่การก่อสร้างจริงทางเท้ากับคานรองรับกลับไม่มีการเชื่อมติดกัน และ 3.บริเวณรอบศาลาแก้วซึ่งมีสระน้ำ พบกระเบื้องใต้สระน้ำหลุดล่อนจนยกตัวโผล่เหนือน้ำ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้น้ำซึมไปยังชั้น B1 จึงน่าสังเกตว่าการปรับปรุงศาลาแก้วด้วยการติดแอร์ อาจเป็นการใช้งบประมาณเพื่อรื้อของเก่าที่มีปัญหาออก แทนที่จะให้บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาเข้ามาแก้ไขปรับปรุง
3.งบปรับปรุงพื้นที่สระมรกต ซึ่งเดิมมีเจตนาให้ใช้ความชื้นจากน้ำช่วยประหยัดไฟ ไม่ต้องติดแอร์ โดยเหตุผลที่
อ้างในการปรับปรุงคือปัญหายุงลายและความปลอดภัยในการคัดกรองบุคคลขึ้นห้องสมุดชั้น 8-9 ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ามาตรการตรวจบุคคลเข้าออกรัฐสภานั้นเพียงพออยู่แล้ว สิ่งที่เป็นข้อพิรุธคือบริเวณดังกล่าวมีการปูพื้นด้วยไม้ตะเคียนทอง แบบระบุขนาดไม้ต้องยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร และร่องห่างไม่เกิน 2 มม. แต่เมื่อนำผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบกลับพบว่า มีไม้ปลอมรวมอยู่ด้วย และความยาวไม้ผิดแบบ จึงน่าสงสัยว่าการใช้งบที่อ้างว่าเพื่อปรับปรุงสระมรกตอาจเป็นการปกปิดเรื่องเก่า เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบหรือไม่
“ ตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงรับประกัน 2 ปีนับจากวันส่งมอบงาน ดังนั้นจุดไหนมีปัญหา บริษัทคู่สัญญาก็ต้องรับผิดชอบเข้ามาแก้ไข แล้วที่สภาบอกว่าสิ้นสุดระยะเวลาประกันในวันที่ 4 ก.ย. 2568 ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะแม้บริษัทจะทำเรื่องส่งมอบงานในวันที่ 4 ก.ย.2566 แต่คณะกรรมการตรวจรับงานเข้ารับงานจริงในวันที่ 5 ก.ค.2567 ดังนั้นวันสิ้นสุดระยะเวลาประกันจึงควรเป็นวันที่ 5 ก.ค.2569 ” นายวิลาศ ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j