รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ตีแผ่เศรษฐกิจไทยในภาวะชะลอตัวจากนโยบายทรัมป์และเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวแค่ 2% จี้รัฐบาลอิ๊งค์ต้องเร่งแก้วิกฤต 5 ด้าน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดหนี้สาธารณะจะขยับไปถึง 70% ของ GDP และการขยายตัวน่าจะอยู่ที่ 1.6-1.7% แนะยกเลิกแจกเงินดิจิทัลและการลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่สร้างปัญหาด้านลบ พร้อมระวังคำเตือนของมูดี้ส์จะเจอความเสี่ยงทำให้การคลังของประเทศอ่อนแอลง ยอมรับการเป็นรัฐบาลยุคดิจิทัล AI ลำบากกว่ารัฐบาลในอดีต เพราะโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ชี้ประเทศจะรุ่งอยู่ที่คุณภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล ยอมรับทุกอาชีพได้รับผลกระทบ ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจมีความเสี่ยงเหมือนเอกชน ถ้าไปไม่รอดก็มีสิทธิ์แปรรูปองค์กรเหมือนที่ข้าราชการมหาวิทยาลัยโดนมาแล้ว!
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประเทศ ถามว่าประเทศไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร ภายใต้การบริหารงานของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คนไทยจะรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อย่างไร
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง บอกว่า เศรษฐกิจไทยในภาวะชะลอตัวและมีแนวโน้มจะหนักกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล แต่มันขึ้นอยู่กับคุณภาพในการจัดการของรัฐบาลมากกว่า เพราะจริง ๆ เมืองไทยเรื่องเสถียรภาพไม่ค่อยมีปัญหา เพราะสามารถเจรจาลงตัวกันได้ พรรคการเมืองไม่มีอุดมการณ์ แบ่งเค้กกันได้ ตกลงกันได้ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว
“ปัญหาอยู่ที่คุณภาพในการจัดการ การเป็นรัฐบาลยุคนี้มันลำบาก ต้องเจอสภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงมากมาย ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจโลก เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ทำให้วงจรชีวิตสินค้าและบริการมันสั้นลง รวมทั้งคุณภาพของรัฐบาลที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจึงต้องเก่งตามไปด้วยจึงจะจัดการได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเป็นรัฐบาลในยุคเดิม”
ทั้งนี้ตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เศรษฐกิจไทยแย่ลงไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลอย่างเดียว องค์กรภาครัฐและเอกชนก็เช่นเดียวกัน เพราะการศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน เพราะเราไม่เก่งคำนวณ ไม่เก่งการอ่านหนังสือ ไม่เก่งวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัล AI เราต้องเก่งวิทยาศาสตร์และคำนวณ จับประเด็นเก่ง คือต้องเป็นนักนวัตกรรม แต่เรากลับมาเน้นเรื่องจบปริญญา ซึ่งมีใบปริญญาเกลื่อนเมือง แต่ความรู้ไม่มี
“ตรงนี้แหละคือปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อยู่เช่นนี้ ขอย้ำว่าคุณภาพคนเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ที่ต้องเร่งแก้ไข”
อย่างไรก็ดีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแค่ไหน ก็ต้องมาดู นโยบายหลักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จะจบอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลกระทบกับเราแน่นอน เพียงแต่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน เดิม IMF ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3 % กว่า ๆ ก็คาดว่าจะเหลือแค่ 2% จึงส่งผลกระทบแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาได้เพียงใด
รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า สงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบดังนี้
1.ด้านการส่งออก ถ้าโชคไม่ดีอาจติดลบ แต่ถ้าโชคดีอาจบวกสัก 2-3% แม้ว่าไตรมาสแรกของปี 2568 จะขยายตัวได้ แต่จะเห็นผลกระทบมากในไตรมาสที่ 2 ที่จะลดลง รัฐบาลก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น
2.ด้านการท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวช้าลง การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะช้าลงตามมา แต่หากรัฐบาลทำการบ้านหนัก ๆ ก็สามารถใช้การท่องเที่ยวมาช่วยได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็โหมหนักอยู่แล้ว และตั้งเป้าจะดึงนักท่องเที่ยวให้ได้แบบก่อนเกิดโควิด แต่การจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ถึง 40 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ถ้าทำได้ก็จะชดเชยรายได้ส่วนที่หายไปได้เช่นกัน ก็หวังว่าจะโชคดี ดึงนักท่องเที่ยวได้ถึง 36-37 ล้านคน สร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท
3.ด้านการลงทุน ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากสงครามภาษี ส่งผลให้ยอดการขอลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ลดลงไปบ้าง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมียอดค่อนข้างมากพอสมควร เนื่องจากนักลงทุน Wait and see ถ้ารัฐบาลเร่งให้มีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะทำให้การลงทุนของเอกชนดีขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น
4.การลงทุนของภาครัฐ งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท และปีใหม่ 2568 ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท และถ้ารัฐสามารถกระตุ้นให้มีการเบิกจ่ายเรื่องการลงทุนได้รวดเร็วจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย
5.การลงทุนภาคเอกชน รัฐต้องเร่งกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC หากรัฐบาลทำการบ้านหนัก ๆ เราอาจโชคดีเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 2% เพราะไม่เช่นนั้นอาจเหลือแค่ 1.6-1.7 % ขึ้นอยู่กับการเจรจากับทรัมป์ และการกระตุ้นการท่องเที่ยว การกระตุ้นการลงทุน และส่งออก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะอยู่ที่ 32-34 ต่อดอลลาร์
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ที่มีการกังวลว่าจะเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) เชื่อว่าไม่เกิดเพราะสิ่งที่คนกลัวคือ ประชาชนจะมีความสามารถในการซื้อน้อยลง แม้ของถูกแต่ก็จะไม่ใช้จ่าย ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่หรือตกต่ำลงไปอีก ข้อเท็จจริงเงินเฟ้อที่ติดลบคือเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งไม่เกี่ยวกับกำลังซื้อ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจบ้านเราเงินเฟ้อพื้นฐานยังบวกอยู่ 0.9% เรื่องของภาวะเงินฝืด จึงไม่น่าเกิด ปัจจุบันอยู่ในภาวะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำเท่านั้นเอง
ส่วนที่มีการคาดการณ์สถานะทางการคลังของรัฐบาล และเริ่มมีความเป็นห่วงกันนั้น รศ.ดร.สมชาย บอกว่า เกิดจากบริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง ‘เชิงลบ’ จากเดิมที่มีเสถียรภาพ แต่เขายังไม่ได้ปรับเรตติ้ง ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศจะอ่อนแอลง!
“Moody’s ปรับมุมมองเป็นการเตือนให้ระวังจะมีปัญหา แต่เรายังไม่มีปัญหานะ เขากำลังบอกจุดอ่อน เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เราเองอัตราการเติบโตก็ช้า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตตั้งแต่ 2011-2025 เฉลี่ยต่อปี แค่ 2.5 คือ ต่ำอันดับ 9 ชนะแค่บรูไน ประเทศเดียว ซึ่งปีนี้เราขยายตัว 1.6-1.7 ถ้าเทียบกับประเทศอาเซียน ไม่ว่า เวียดนาม มาเลย์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เฉลี่ยเติบโตอยู่ประมาณ 4% ของเราต่ำสุด”
ตรงนี้เป็นการเตือนประเทศไทยว่า เราแย่อยู่แล้วเมื่อมาเจอเศรษฐกิจโลกระวังจะย่ำแย่ลงไปอีก
“ลึกๆเรามีปัญหาเรื่อง เสถียรภาพ เราขาดดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะเรา อยู่ 65%ของGDP แนวโน้ม มีทิศทางที่จะสูงขึ้นเป็น 70% โดยปกติ ต้องต่ำกว่า 60% และยังตั้งงบประมาณขาดดุล ประมาณ 4.5%ของGDP และยังตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 20 %ของวงเงินงบประมาณซึ่งถือว่าต่ำมาก ในประเทศที่พัฒนา งบประมาณลงทุนไม่ควรต่ำกว่า 35 % แต่ของเรา 20% ไปต่อไม่ได้แล้ว ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย รายจ่ายประจำยิ่งสูงขึ้น แต่รายรับได้น้อย”
สิ่งที่ Moody’s เตือนเราไม่ได้บอกว่าติดลบ แต่เตือนเราว่ามุมมองไปทางลบ เพราะเรามีปัญหา มีความเสี่ยง จะหาเงินมาชดเชยได้อย่างไร เพราะความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพการคลังในสิ่งที่รัฐบาลต้องมีการกระตุ้นต่าง ๆ แต่ขณะนี้ เป็นจังหวะที่ต้องระวัง คือ เป็นจุดหักเห turning point หากรัฐบาลบริหารไม่ดี จะเป็นการหักเหปัญหาประเทศไทยได้เช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งกระทำ คือพยายามลด-เลิกการกระตุ้นในระยะสั้น เช่นการแจกเงินดิจิทัล ยกเว้นมีความจำเป็นต้องให้กับกลุ่มเปราะบาง จากนั้นหันมาพัฒนาเชิงโครงสร้าง ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ที่จะนำมาใช้กับสินค้าและบริการ และเร่งพัฒนาส่งเสริม Reskill- Upskill เพื่อสร้างทักษะใหม่ให้แรงงาน มีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการปรับนโยบายต่างประเทศ การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ในการทำ FTA ประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า รัฐบาลอิ๊งค์จะต้องรีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาที่สะสมไว้ เพราะมันถึงจุดที่หักเหได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทย สามารถฟื้นตัวได้ถาวร
1. ระยะสั้นต้องเร่งเจรจา เพื่อลดปัญหาจากนโยบายทรัมป์
2. ต้องปรับระยะกลาง ระยะยาว มุ่งพัฒนาด้านขีดความสามารถ
3. เร่งหาตลาดใหม่ๆ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ จึงต้องปรับขยาย จากกลุ่มลูกค้าเก่า ที่ได้รับผลกระทบ ขยายตลาดเจาะไปที่กลุ่มประเทศโลกใต้ (Global south) ปรับโครงสร้างสินค้าและบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาเพื่อสอดคล้องกับตลาดใหม่
4. เร่งพัฒนา infrastructure นำเทคโนโลยีความรู้ความสามารถต่างๆ เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน
5. เร่งพัฒนาบุคลากร การ Reskill- upskill และการใช้เทคโนโลยีมาปรับเข้ากับอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และสินค้าบริการต่างๆ
“ชะลอแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 เพราะเป็นการกระตุ้นระยะสั้น ควรนำเงินไปใช้พัฒนาเชิงโครงสร้างจะเป็นหัวใจสำคัญกว่า แต่รัฐบาลคงลำบาก เพราะมันเป็นคะแนนเสียงที่รัฐบาลต้องการ หรือ การไปกระตุ้น entertainment complex ทั้ง ๆ ที่สร้างปัญหาด้านลบ ขณะที่ตัวที่ไม่ได้สร้างปัญหา แต่รัฐบาลไม่ทำ ตั้ง 3-4 เรื่อง ทั้งเรื่อง infrastructure รัฐบาลควรเร่งทำได้ เพราะมีพื้นฐานเรื่อง EEC อยู่แล้ว หรือทำเรื่องเกษตรอัจฉริยะ ได้แต่พูดแต่ไม่เห็นพัฒนาอย่างจริงจัง”
รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ในส่วนเอกชนก็ต้องดูแลสภาพคล่องให้ดี ส่วนคนที่มีรายได้ประจำลูกจ้างบริษัทเอกชนก็มีโอกาสตกงานได้ง่าย ส่วนข้าราชการที่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีรายได้ประจำจริง ๆ เขาก็ต้องใช้จ่ายเหมือนประชาชนทั่วไป ก็ต้องประหยัดก็อาจจะไม่เพียงพอในการดูแลครอบครัว เพียงแต่ไม่มีความเสี่ยงที่ต้องถูกให้ออกจากงานเหมือนภาคเอกชน
“ต้องไม่ลืมว่า เดี๋ยวนี้รัฐบาลก็จำกัด เรื่องการบรรจุคนเข้ารับราชการ และข้าราชการก็ใช่ว่าจะปลอดภัยนะ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ พอถึงจุดหนึ่งองค์กรก็อาจถูกแปรรูปไปเป็นบริษัทก็มีให้เห็นถึงบอกว่าอย่ามั่นใจว่าจะปลอดภัย ดูข้าราชการมหาวิทยาลัย ก็ออกนอกระบบไปแล้ว และมหาวิทยาลัยก็เจ๊งได้ง่าย ๆ”
ที่สำคัญทุกอาชีพ ย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทั้งนั้น ทุกคนจึงต้องฝึกฝน สร้างในสิ่งที่เรารัก เรียนรู้ให้มันลุ่มลึกที่จะสามารถแข่งขันได้จึงจะอยู่รอดได้ ขณะที่รัฐบาลแพทองธาร จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เติบโตได้หรือไม่ ก็อยู่ที่คุณภาพการจัดการของรัฐบาล รวมไปถึงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพรองรับการเติบโตของประเทศอย่างแท้จริง ประเทศไทยจึงผ่านวิกฤตได้อย่างถาวร!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j