xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตร 7 ปีดอก 2.65%-หุ้นกู้บางตัวออกอาการ“เลื่อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำรวจพันธบัตรล่าสุดอายุ 15 ปี 3.15% และอายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 2.65%รอบนี้ถือยาวแถมดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ เพราะแบงก์ไม่ลงมาเล่นด้วยขณะที่บางคนเริ่มหันไปตลาดหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า พบหลายตัวเริ่มมีปัญหาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคนวงการชี้บางบริษัทขอเลื่อนชำระพร้อมเพิ่มดอกเบี้ยเลี่ยงDefault

ในระยะนี้มีแหล่งออมเงินอย่างพันธบัตรรัฐบาลที่หลายคนรอคอย ออกมาเสนอขายวงเงิน 38,000 ล้านบาท ระหว่าง 1-16 พฤษภาคม 2568 แยกเป็น พันธบัตรอายุ 15 ปีและพันธบัตรอายุ 7 ปี

เนื่องในวาระครบรอบ 150 ปี วันสถาปนากระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ “รุ่น 150 ปี กระทรวงการคลัง” อายุ 15 ปี วงเงิน 300 ล้านบาท ในวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ให้ผลตอบแทนสูง หน่วยละ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) ช่วง 1-2 พฤษภาคม 2568 ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท วันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ขั้นสูง ไม่จำกัดวงเงิน

ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย การชำระเงิน ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ ชำระเป็นเงินสด หรือหักเงินบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยเท่านั้น วันออกพันธบัตร 6 พฤษภาคม 2568 วิธีจัดสรรการจองซื้อ : First-Come, First-Served (มาก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน)


7 ปีดอกเบี้ย 2.65%

นอกจากนี้ จะมีพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท จำหน่ายในวันที่ 8-16 พฤษภาคม 2568 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ วอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท

สำหรับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สบน. ได้ปรับเงื่อนไขการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. ในครั้งนี้ เพื่อกระจายการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยปรับให้ผู้ลงทุนทยอยซื้อได้ด้วยวงเงินจำกัด 5 ล้านบาทต่อครั้ง และสามารถซื้อได้วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ยกตัวอย่าง นาย ก ต้องการซื้อพันธบัตรวงเงิน 20 ล้านบาท นาย ก จะต้องกดซื้อพันธบัตรบนวอลเล็ต สบม. จำนวน 4 ครั้งๆ ละ 5 ล้านบาท เงื่อนไขการจำหน่าย วงเงิน 10,000 ล้านบาท

รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.65% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) จำหน่าย 8-16 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 8.30 น.เป็นตันไป ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ 100 บาท – ขั้นสูง 20 ล้านบาท หน่วยละ 1 บาท ซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 100 บาท และไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ วงเงินซื้อขั้นสูงต่อครั้ง ไม่เกิน 5 ล้านบาท ช่องทางการจำหน่าย วอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วิธีการจัดสรร First-Come, First-Served (มาก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน)


ซื้อผ่านแบงก์ Small Lot First

จากนั้นมาถึงรอบการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 6 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด วงเงิน 25,000 ล้านบาท

พันธบัตรอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.65% ต่อปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) วันจองซื้อ 13-15 พฤษภาคม 2568 ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย วงเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท – ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) ช่องทางการจำหน่าย Internet Banking Mobile Banking และเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 6 แห่ง วิธีการจัดสรร Small Lot First (การทยอยจัดสรรฯ)

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนในวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2568 จะใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) โดยทวีคูณรอบละ 1,000 บาท ซึ่งลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร และในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย

ทั้งนี้ ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรและได้รับเงินคืน กรณีที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินจองซื้อ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568

ถือยาว-ดอกลด

แหล่งข่าวจากวงการออมเงินกล่าวว่า พันธบัตรรอบนี้มี 2 รุ่นคือ 15 ปีและอายุ 7 ปี ถือว่าอายุพันธบัตรอาจจะยาวเกินไปสำหรับใครบางคน รุ่น 15 ปีเหมาะกับคนมีกำลังทรัพย์เพราะซื้อขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.15% หรือดอกเบี้ยรับสุทธิ 2.6775% เสนอขายเพียง 300 ล้านบาท รุ่นนี้น่าจะเต็มเร็ว

อีกรุ่นคือพันธบัตร 7 ปี ดอกเบี้ย 2.65% หรือดอกเบี้ยหลังหักภาษีอยู่ที่ 2.2525% ขายทั้งผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท จำหน่ายแบบ First-Come First-Served มาก่อนได้ก่อน และจำหน่ายผ่านธนาคาร 6 แห่ง วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จำหน่ายแบบ Small Lot First ทยอยจัดสรร

พันธบัตรตัวนี้ดอกเบี้ยลดลงจากเดิมรุ่น 5 ปี(ปี 2567) หลังจาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไป พันธบัตร 5 ปี รุ่นที่แล้วดอกเบี้ย 3% หักภาษีแล้วเหลือ 2.55% รอบนี้ 7 ปีนานกว่าแถมดอกเบี้ยต่ำกว่าอีก ขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของเงินว่ายอมรับได้หรือไม่

ถ้าถามว่ามีตัวเลือกที่มั่นคงระดับพันธบัตรแล้วให้ดอกเบี้ยสูงกว่านี้ มีหรือไม่ เท่าที่เรามองหาอยู่คำตอบคือไม่มี ไม่เช่นนั้นอาจต้องรอพันธบัตรรุ่นต่อไป ส่วนจะเป็น 5 ปีหรือ 7 ปีก็ต้องรอลุ้นเอา ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยเราเชื่อว่าดอกเบี้ยไม่น่าจะขยับขึ้นสูงไปกว่านี้อีกแล้ว

นาทีนี้ตัวเลือกเรื่องเงินฝากมีน้อย เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ลงมาชิงเงินฝากตั้งแต่เกิด Covid อาจมีธนาคารของรัฐออกมาบ้างแต่มีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีมาอย่างต่อเนื่อง การปล่อยสินเชื่อใหม่อาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลังได้


ตลาดหุ้นกู้-ลุ้นดอกสูง

ที่ผ่านมามีผู้ออมจำนวนไม่น้อย ยอมย้ายเงินออมไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ที่ระยะหลังเปิดขายกับประชาชนทั่วไปมากขึ้น แน่นอนว่าให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล สลากออมทรัพย์และเงินฝากของสถาบันการเงินทั่วไป แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดตามสัญญา

ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีคนที่เคยอยู่ในตลาดพันธบัตร-เงินฝาก หันมาที่ตลาดหุ้นกู้มากขึ้น เพราะผลตอบแทนสูงกว่ามาก อย่างหุ้นกู้ของบ้านปู ที่กำลังเปิดขาย อันดับความน่าเชื่อถือ A+ อายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 3.45-3.6% อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 3.7-3.8% อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 3.85-3.95% เทียบกับพันธบัตรรัฐบาล 7 ปี ดอกเบี้ย 2.65% ถือว่าต่างกันเยอะ

หุ้นกู้เกรด A มักออกโดยบริษัทใหญ่ มีความมั่นคงสูง จึงมีลูกค้าประจำค่อนข้างมาก หากไม่เกิดปัญหาก็มักจะชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตรงตามกำหนด ส่วนใหญ่มักจะขายหมดอย่างรวดเร็ว

ในตลาดหุ้นกู้ยังมีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ B ขึ้นไปจนถึง BBB เสนอขายให้ผลตอบแทนสูง บางบริษัทเสนอดอกเบี้ยราว 6-7% กับอายุหุ้นกู้ราว 2 ปีเศษ สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้ไม่น้อย แต่ก็มีหลายบริษัทที่ให้ต้องเริ่มพูดถึงเรื่องการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น

เลือกดี ๆ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่าผิดนัดชำระหนี้(Default)ของหุ้นกู้ ซึ่งในอดีตมีให้เห็นบ้าง แต่ระยะหลังเริ่มเห็นยากขึ้น หมายความว่า เมื่อใกล้ครบกำหนดชำระหนี้ หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีปัญหาเรื่องการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น จะมีการขอเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ก่อนเพื่อยืดระยะเวลาออกไป พร้อมเสนอผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้อีกจำนวนหนึ่ง ตรงนี้ก็ถือว่าบริษัทนั้นไม่ผิดนัดชำระ แต่บางรายก็ไม่จ่ายเลยก็มีเช่นกัน

ตอนนี้มีบางบริษัทที่มีปัญหาการชำระคืน ทำให้ต้องมีการรวมตัวกันของผู้เสียหายหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

บางบริษัทอันดับความน่าเชื่อถือสูงแต่เกิดปัญหาก็มี การไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เกิดขึ้นได้กับทุกอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแค่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่หุ้นกู้ของบริษัทเล็กที่ให้ดอกเบี้ยสูง แล้วไม่ผิดนัดชำระก็มีเช่นกัน บางคนเล่นหุ้นกู้มานานก็ไม่เจอปัญหา บางคนเพิ่งเล่นกลับเจอปัญหา ขึ้นอยู่กับโชคของแต่ละบุคคล

การป้องกันตัวเองควรเลือกดูบริษัทผู้ออก อันดับความน่าเชื่อถือ ดูอุตสาหกรรมที่ผู้ออกทำอยู่ ดูสภาพแวดล้อมและปัจจัยลบต่าง ๆ นำมาประกอบการตัดสินใจ เลือกดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผลไม่สูงจนเกินไป

หากต้องการความมั่นคงก็ต้องหันมาที่พันธบัตร แต่ดอกเบี้ยก็ได้น้อย หากไปหุ้นกู้ได้ดอกสูงก็เสี่ยงว่าอาจถูกเบี้ยว เพราะบางคนยอมได้ดอกเบี้ยน้อยแต่นอนหลับสบาย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล ที่ต้องยอมรับความจริง

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น