xs
xsm
sm
md
lg

UN เผย สแกมเมอร์”ป่วนโลก ลวงเหยื่อสูญปีละ 1.3 ล้านล้าน “อ.ตฤณห์”แนะ วิธีจับโกหกมิจฉาชีพ !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



UN เตือน “สแกมเมอร์”คือภัยคุกคามระดับโลก สร้างความสูญเสียให้เหยื่อถึง 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี เผย ปัจจุบันย้ายฐานปฏิบัติการจากเอเชีย ไปยังแอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง เพื่อหนีการจับกุม ด้าน “ดร.ตฤณห์” แนะวิธีตรวจสอบ ชี้ หากสร้างความสัมพันธ์แบบจู่โจม รวบรัดเป็นแฟน แต่ไม่ยอมวิดิโอคอล ชักชวนลงทุน-ให้โอนเงินด้วยสารพัดเหตุผล ฟันธง“สแกมเมอร์”ชัวร์ กลุ่มที่มักตกเป็นเหยื่อคือผู้สูงอายุ-คนโสด พร้อมเปิดคอร์ส “จับโกหก” โดยวิเคราะห์ภาษากาย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาจากจิตใต้สำนึก

กรณีของ“สแกมเมอร์” หรือกลุ่มมิจฉาชีพที่ใช้เทคนิคต่างๆ ในการหลอกลวงเหยื่อเพื่อให้โอนเงินไปให้นั้นกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การสหประชาชาติ(UN) ออกมาประกาศเตือนเรื่องภัยคุกคามจากกลุ่มสแกมเมอร์ในเอเชีย ซึ่งจากเดิมที่กระจายตัวอยู่ในแถบชายแดนกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ กำลังขยายฐานปฏิบัติการไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของทางการที่เข้มงวดขึ้น โดยล่าสุดสแกมเมอร์ได้ย้ายฐานไปไกลถึงแอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง โดยประมาณการว่าฐานปฏิบัติการของสแกมเมอร์หลายร้อยแห่งทั่วโลกสามารถสร้างกำไรได้เกือบ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามระดับโลกเลยทีเดียว

จึงมีความจำเป็นที่คนไทยจะต้องศึกษาและป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการล่อลวงของสแกมเมอร์

ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาจิตวิทยาพฤติกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาจิตวิทยาพฤติกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสแกมเมอร์ ว่า สแกมเมอร์คือการหลอกลวงในรูปแบบออนไลน์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram , Line , อีเมล หรือแพลทฟอร์มต่างๆทางโซเชียลมีเดีย โดยสแกมเมอร์จะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1.Romance Scam (โรแมนซ์ สแกม) คือการหลอกให้หลงรัก โดยเริ่มจากการเข้าไปทักทายพูดคุย เข้ามาจีบ ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook ,แอพหาคู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งอ้างว่ามีอาชีพที่มั่นคง ใกล้เกษียณ อยากมาตั้งรกรากหรือใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย เมื่อเหยื่อเริ่มชอบพอก็จะหลอกให้โอนเงิน โดยอาจจะหลอกว่าจะมาหา หลอกว่าจะมาตั้งรกรากด้วย หลอกว่าจะส่งของขวัญมูลค่าสูงให้ แต่ของติดอยู่ที่ศุลกากรและให้เหยื่อโอนค่าภาษีให้

2.Phishing Scam (ฟิชชิ่ง สแกม) คือการหลอกให้คลิกลิงก์ หลอกติดตั้งแอป หรือนำไปยังเว็บไซต์ปลอม โดยสแกมเมอร์จะส่งอีเมลเข้ามาโดยอ้างว่าเป็นบริษัทนั้นบริษัทนี้ให้เหยื่อกดลิงก์เข้าไปและทำโปรแกรมตามที่แจ้ง จากกนั้นสแกมเมอร์ก็จะเข้ามาควบคุมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเหยื่อทำให้เหยื่อไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้ ซึ่งเรียกว่าแรนซัมแวร์ (โปรแกรมที่โจมตีคอมพิวเตอร์และเข้ารหัสข้อมูลทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้) พอกดลิงก์เข้าไปปุ๊บ เครื่องก็จะล็อกทันที จากนั้นก็จะเรียกค่าไถ่ ถ้าอยากได้ข้อมูลคืนก็ต้องจ่ายเงินตามที่เรียก ซึ่งการเรียกค่าไถ่ข้อมูลนั้นส่วนใหญ่จะเกิดในยุโรป ไม่ค่อยพบในเมืองไทย เนื่องจากเป็นวิธีที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะเพราะต้องมีการทำเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา ส่วนการหลอกลวงในประเทศไทยมักใช้วิธีส่งแมสเสจมากกว่าอีเมล โดยจะส่ง SMS หรือส่งข้อความผ่าน line แล้วให้กดลิงก์

3. Hybrid Scam (ไฮบริด สแกม) คือการหลอกให้ลงทุน วิธีนี้มักเริ่มจากการหลอกให้รัก หรือโรแมนซ์ สแกม เมื่อเหยื่อเริ่มมีใจก็จะหลอกให้ลงทุน เช่น เทรดทอง ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี ลงทุนแชร์ลูกโซ่ โดยบอกว่าเขาได้กำไรจากลงทุนนั้นๆเลยอยากให้เหยื่อได้กำไรเหมือนกัน หรือบอกว่าอยากให้มาสร้างอนาคตร่วมกัน

“ สแกมเมอร์นั้นมีทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ แต่ด้วยความที่การต่อสู้ทางเศรษฐกิจในไทยค่อนข้างจะยากลำบาก การมีแฟนชาวต่างชาติอาจจะเป็นทางลัดที่ทำให้หลุดพ้นจากความยากลำบาก การมีแฟนต่างชาติอาจจะเป็นเป้าหมายของความสุขสบาย เพราะมองว่าค่าเงินของต่างประเทศแพงกว่า จึงเป็นช่องทางให้โรแมนซ์ สแกม เข้าหาผู้หญิงไทย ซึ่งอาชีพที่สแกมเมอร์มักแอบอ้าง ได้แก่ ทหารปลดประจำการ วิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมัน แพทย์ หรือบางทีก็หลอกว่าเป็นดาราฮอลลีวูด โดยมีสถิติว่า 1 ใน 7 ของคนที่เจอกันในแอพหาคู่นั้นเป็นโพรไฟล์ปลอม ซึ่งแอพหาคู่ที่คนไทยนิยมอย่าง Tinder ก็ไม่มีการตรวจสอบประวัติของสมาชิก เพราะลักษณะของคนที่เข้าไปใช้บริการไม่ต้องการการผูกมัด บางคนอาจต้องการแค่ One Night Stand ชื่อกับรูปที่ใช้เป็นโพรไฟล์จะตั้งเป็นอะไรก็ได้ ส่วนแอพอื่นๆที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อคือแอพที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อย่าง Facebook , Instagram ,TikTok ” ดร.ตฤณห์ กล่าว


“ดร.ตฤณห์” ได้แนะนำวิธีในการจับสังเกตว่าคนในโลกออนไลน์ที่เราพูดคุยอยู่นั้นเป็นสแกมเมอร์หรือไม่ ว่า สแกมเมอร์จะมีลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์แบบจู่โจมรวบรัด โดยอาจจะกดไลค์ใน Facebook , Instagram ของเหยื่อรัวๆ ส่งข้อความพูดคุยใน Inbox ตลอดเวลา โดยยัดเยียดการเป็นคนรัก จะเรียกว่า ที่รัก , Darling , Honey เพื่อผูกมัด บอกว่าอยากมาหา อยากพาไปรู้จักกับครอบครัวเขา ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก และไม่ได้ทำกับเหยื่อรายเดียว แต่ส่งความแบบเดียวกันไปให้เหยื่อเป็นร้อยคนพร้อมๆกัน โดยใช้วิธี Copy Paste ถ้าดูว่าเหยื่อคนไหนมีท่าทีจะตกหลุมพลางก็จะคุยกับเหยื่อคนนั้นมากเป็นพิเศษ ที่สำคัญจะไม่วิดิโอคอล เพราะว่าหน้าตาไม่ตรงปก เอารูปคนอื่นมาลง โดยอาจจะมีข้ออ้างต่างๆ อ้างว่าวิดิโอคอลไม่ได้เพราะเป็นกฎของที่ทำงาน อ้างว่ากล้องเสีย ไม่สะดวก นอกจากนั้นคุยไปสักพักจะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จะให้เหยื่อโอนเงินด้วยเหตุผลบางอย่าง อ้างว่าอยากมาหามากแต่ไม่มีเงินเติมน้ำมันรถ แม่ป่วย โอนเงินมาให้ก่อนได้ไหม

ทั้งนี้ การตรวจสอบประวัติหรือตัวตนของคนที่เข้ามาคุยผ่านแอพพลิเคชันต่างๆอาจจะทำได้ยาก แต่เราสามารถดูจากบริบทโดยรวมได้ เช่น โพรไฟล์เป็นชาวต่างชาติ อาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่โพสต์ข้อความเป็นภาษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ , ดูว่ามีคนเข้ามากดไลค์หรือแสดงความเห็นใน Facebook ของเขาบ้างหรือเปล่า คนเหล่านั้นเป็นใคร สอดคล้องกับสถานะ หน้าที่การงานของเขาไหม , ความถี่ที่เข้ามาพูดคุยผ่านแอพพลิเคชันมากน้อยขนาดไหน ถ้าหน้าที่การงานดีก็ต้องมีงานที่รับผิดชอบเยอะ แต่มาคุยทั้งวันทั้งคืนก็ผิดปกติ ที่สำคัญต้องขอวิดิโอคอลเพื่อดูว่าหน้าตาตรงกับโพรไฟล์ไหม ใช้เวลาทำความรู้จักกันช้าๆ ไม่เร่งรีบ และหากจะนัดเจอกับคนที่คุยกันในทินเดอร์ก็ควรนัดกันในเวลากลางวัน นัดเจอกันในที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้

“ ถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้เราโอนเงินไปให้ สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นสแกมเมอร์ บางเคสเสียเงินเป็นแสนเป็นล้านเพราะเมื่อเหยื่อเสียเงินไปแล้วและถูกทำให้รู้สึกมีความหวังว่าเสียเงินเพิ่มอีกนิดนึงก็จะได้แล้ว จะได้รับของแล้ว จะได้เจอแล้ว อีกนิดนึงจะได้จอตัวจริงๆ อีกนิดนึงไปเรื่อยๆ มีเคสหนึ่งที่ผมเคยวิเคราะห์คดี รูปของผู้หญิงที่เป็นสแกมเมอสวยมากๆ บอกว่าอยากจะมาเจอเหยื่อแต่ตอนนี้รถเสีย ไปหาไม่ได้ หลอกให้ผู้ชายโอนเงินค่าซ่อมรถไปให้ พอโอนเสร็จก็บอกกำลังเดินทางอยู่นะ ใกล้จะถึงละ ผู้ชายก็ยิ่งรู้สึกอยากเจอ อ้าว...น้ำมันหมด ไม่มีเงินเติมน้ำมัน ผู้ชายก็โอนไปอีก สรุปต้องวกรถกลับเพราะแม่ป่วยกระทันหัน อยากมาหาแต่ต้องหาคนเฝ้าเพราะไม่มีคนดูแลแม่ เหยื่อก็จ่ายไปเรื่อยๆ กระบวนการเหล่านี้เกิดจากความรู้สึกอยากเอาชนะและคาดหวังว่าตัวเองจะไม่เป็นเหยื่อ หลายๆเคสก็หลอกตัวเองว่าตัวเองจะไม่โดนหลอก เป็นปฏิกิริยาเดียวกับการเล่นพนันที่เสียเงินไปแล้วก็ยังลงเงินเพิ่มไปเรื่อยๆเพราะอยากได้เงินคืน ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับสารโดปามีนในสมอง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น ถ้าได้รับชัยชนะหรือประสบความสำเร็จสารนี้ก็จะหลั่งออกมา เป็นกระบวนการทำงานทางด้านอารมณ์ ” ดร.ตฤณห์ ระบุ


ดร.ตฤณห์ กล่าวต่อว่า เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสแกมเมอร์ โดยต้องเรียนรู้ทักษะของการตั้งคำถาม ต้องนึกเสมอว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เราอย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่าอยู่ๆเราจะโชคดีมีหนุ่มหล่อ สาวสวย โพรไฟล์ดี ฐานะร่ำรวย หน้าที่การงานมั่นคง มาสนใจอยากคบหา อยู่ๆมาบอกว่ารักเรา อยากใช้ชีวิตคู่กับเรา เราต้องถามตัวเองว่าเราน่าสนใจขนาดนั้นเลยหรือ ถ้าเราหน้าตาธรรมดา โพรไฟล์ก็ธรรมดา คนเพรียบพร้อมขนาดนั้นจะมาสนใจอยากคบเราทำไม หรือถ้าธุรกิจที่เขาแนะนำมันดีจริง ได้กำไรเยอะจริง อยู่ๆเขาจะมาชวนคนแปลกหน้าอย่างเราไปร่วมลงทุนทำไม เขาไปชวนเพื่อนและญาติพี่น้องเขาไม่ดีกว่าหรือ บอกว่าฝากเงินแค่สัปดาห์เดียวได้คืนร้อยละ 30 หรือร้อยละ 50 ก็ต้องตั้งคำถามว่าธุรกิจอะไรได้ผลตอบแทนเยอะขนาดนั้น มันเป็นไปได้หรือ ?

“ อยู่ๆเขาจะมาชวนเราเทรดทอง สอนเราลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วเขาได้อะไร ถ้าของมันดีจริงเขาก็ลงทุนเอง เขาไม่มาชวนเราหรอก สแกมเมอร์จะเลือกเหยื่อที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ เช่น เป็นคนโสด เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้มักจะรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และมีจำนวนไม่น้อยที่มีเงิน สแกมเมอร์จะเล่นกับกิเลสของเหยื่อใน 2 เรื่อง คือ เรื่องราคะหรือความรัก กับเรื่องความโลภ โดยเขาจะ Random ว่าเหยื่อเป็นแบบไหน เช่น ถามว่าอยากมีรายได้ไหม ทำงาน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ได้เป็นหมื่นเลยนะ ถ้าบอกว่าสนใจก็แสดงว่าอาจจะกำลังร้อนเงิน สมมุติส่งข้อความไป 1 พันคน มีแค่ 2 คนที่เชื่อ เขาก็คุ้มแล้วเพราะค่าส่งข้อความไม่ถึง 1 สตางค์ ” ดร.ตฤณห์ กล่าว


ทั้งนี้ ปัจจุบันศาสตร์หนึ่งที่คนกำลังให้ความสนใจอย่างมากก็คือ“การจับโกหก” ซึ่งนักอาชญาวิทยาจิตวิทยาอย่าง “ดร.ตฤณห์” ให้ข้อมูลว่า การจับโกหกเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต ต้องใช้เวลาในการศึกษาพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนที่พูดน้อยหรือคนที่พูดมากคือคนโกหก การอ่านและวิเคราะห์ภาษากายซึ่งเป็นวิธีที่ตนใช้อยู่นั้นเป็นการมองในเชิงชีววิทยาและพฤติกรรมศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งจะเชื่อมโยงการขยับของร่างกายเข้ากับกล้ามเนื้อที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ ซึ่งเราเรียกว่าระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เวลาที่คนเรากลัว หรือพูดไม่จริง ร่างกายและกล้ามเนื้อก็จะแสดงออกมาในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับคำพูด จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีอะไรปิดบังอยู่ พยักหน้าหรือส่ายหน้าไม่สอดคล้องกับบริบทที่พูด หรือการขยับของมือก็สามารถบ่งบอกความรู้สึกได้

ยกตัวอย่าง คดีของทนายตั้มที่พูดเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี 39 ล้าน เขาบอกว่าผู้สียหายต้องการให้เขาจ้างคนมีชื่อเสียงมางานอีเว้นท์ เป็นการจ่ายเงิน เขาไม่มีเจตนาที่จะหลอกลวง ซึ่งขณะที่พูดว่าไม่มีเจตนาที่จะหลอกลวง ร่างกายตามวัฒนธรรมของคนไทยเวลาปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วยจะส่ายหัว แต่ทนายตั้มกลับพยักหน้าซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาที่ตรงกันข้ามกับบริบทที่เขาพูด มันเป็นการทำงานและควบคุมของสมองส่วนลิมบิก ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นพร้อมกับวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มันจะกระทำไปโดยอัตโนมัติ หมายความว่าร่างกายไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พูดมันเลยแสดงออกมาแบบนั้น

“ ที่สำคัญเราต้องเข้าใจพื้นฐานการทำงานของร่างกายก่อน เช่น ทำไมเวลาคนเราตกใจถึงหน้าซีด ทำไมเวลาโกหกถึงพูดติดอ่าง ทำไมถึงรู้สึกคอแห้ง ต้องเลียปาก และกลืนน้ำลาย คุณต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ของร่างกายก่อน จึงจะสามารถเข้าใจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นซึ่งเราเรียกว่าพฤติกรรมของภาษากายได้ อย่างไรก็ดีการจะจับโกหกโดยดูการขยับของร่างกายมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่สามารถบอกได้ว่าท่านี้แปลว่าแบบนี้ จะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ก่อนจะวิเคราะห์เราต้องเรียนรู้ค่ามาตรฐานของบุคคลนั้น ต้องเรียนรู้รูปแบบของบุคคลนั้นก่อน อาทิ รูปแบบการกระพริบตา การหายใจ การใช้มือ อย่างเช่นบางคนกอดอกแสดงความไม่พอใจ แต่บางคนกอดอกเพราะความเคยชินหรือเพราะอากาศหนาว เราต้องพิจารณาเป็นเคสบายเคส ” ดร.ตฤณห์ กล่าว

ดร.ตฤณห์ บอกว่านอกจากจะสอนวิชาอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ปัจจุบันเขายังมีคอร์สสอนการจับโกหกให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ไมโครเอ็กซ์เพรสชัน (การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้) ซึ่งมีความแม่นยำมาก และเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์และในเรื่องธุรกิจ

“ เราสามารถนำศาสตร์นี้ไปใช้ในการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ การเจรจาธุรกิจ ปิดการขาย ไปจนถึงการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือถ้าคนที่ชวนเราไปร่วมธุรกิจมาพูดเรื่องกำไรของบริษัทว่าได้เยอะมากเลย แต่ภาษากายของเขากลับตรงกันข้าม ก็ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่าเขามีข้อมูลที่ปิดบังอยู่ ปัจจุบันโบรกเกอร์ในต่างประเทศถึงขั้นจ้างนักอ่านภาษากายไปนั่งดูภาษากายของ CEO เวลาแถลงผลประกอบการรายปีเพื่อที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าควรแนะนำให้ลูกค้าลงทุนกับบริษัทนี้ไหม เพราะถ้าลงทุนผิดอาจจะถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวได้ ” ดร.ตฤณห์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น