xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมาย ‘กาสิโน’ ยิ่งขุดยิ่งเอื้อกลุ่มทุน ‘นายกฯ อิ๊งค์’ อำนาจล้นฟ้านำไปสู่สมการคอร์รัปชันได้!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกฎหมายจากพรรคร่วมรัฐบาล วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์พบมีอะไรชวนคิด จากการให้อำนาจพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษจนต้องมีการผ่อนปรนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 14 ฉบับ เพื่อขจัดอุปสรรคให้เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์และกาสิโน เกิดได้ราบรื่น อยากผุดที่ท่าเรือคลองเตย ทำได้ง่าย แค่แก้ พ.ร.บ.ท่าเรือ
ขณะที่
Super Board’ ที่มีนายกฯ อิ๊งค์ เป็นประธาน มีอำนาจเบ็ดเสร็จชี้ขาด พื้นที่ตั้ง ใบอนุญาตจะให้กลุ่มทุนใด จะกี่แห่ง กี่รายคิดอัตราภาษีได้อย่างเสรี น่าห่วงค่าแรงคนไทย เทียบต่างด้าว 2 มาตรฐานแน่ ด้านเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ระบุหากกฎหมายนี้ผ่านได้จะเจออุปสรรคในพื้นที่ต่อต้านความขัดแย้งของชุมชนจะรุนแรงขึ้น แถมให้อำนาจ Super Board สูงมากจนน่ากลัว เปรียบเสมือน ตีเช็คเปล่าให้Super board ไปกรอกอะไรก็ได้ และเป็นเหตุนำไปสู่สมการโกงได้ง่าย!?

เสียงไชโยโห่ร้องแสดงความดีใจที่รัฐบาลประกาศเลื่อนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ พ.ศ. .....ออกไปก่อนจากวาระประชุมในวันที่ 9 เม.ย.โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่ามีเรื่องวิกฤตต่าง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบที่ต้องรีบแก้ไข แต่ยืนยันไม่ได้ถอนหรือดึงร่าง พ.ร.บ.ฯ กลับมา ในระหว่างนี้ก็รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายต่อไปอีก 2 เดือน และพิจารณาใหม่ในการประชุมสภาสมัยต่อไป

แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาล บอกว่าการเลื่อนออกไปครั้งนี้น่าจะเกิดจากกระแสการต่อต้านของมวลชนทุกกลุ่มที่ไม่เอากาสิโนอย่างรุนแรงและกระจายไปทั่วรวมทั้งมีการนัดรวมพลที่หน้าสภาฯ ในวันที่ 9 เม.ย. ที่จะมีการพิจารณารับหลักการในวาระแรก ซึ่งในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่สนิทกัน ก็มีการทักไลน์และพูดคุยกันหลังได้รับสัญญาณว่าจะเลื่อนออกไปก่อน น่าจะเกิดจากคนต่อต้านมากและเสียงของรัฐบาลก็ไม่เป็นเอกฉันท์ สังคมไทยต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีพระสยามเทวาธิราช คอยปกป้องคุ้มครองอะไรที่ไม่ดีก็ย่อมถูกขจัดออกไป

“ว่ากันว่านายทักษิณ มีการข่าวดีมาก รู้ว่ามีกลุ่มต่อต้านเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ๆ พวกเราก็ว่าดีแล้วที่รัฐบาลเลื่อน ไม่ท้าทาย เพราะต้องไม่ลืมว่าสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สภาลักหลับ ออกกฎหมายนิรโทษสุดซอย แล้วเป็นอย่างไร เป็นการเริ่มต้นจุดไฟเผาตัวเอง เรื่องกาสิโนก็เหมือนกัน นายกฯอิ๊งค์ ถอยดีแล้ว อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”

ทั้งนี้กระแสต่อต้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ พ.ศ. ได้ทวีความเข้มข้นทั้งในรูปขององค์กร และการโพสต์ต่อต้านเป็นรายบุคคลเพื่อแสดงจุดยืนชัดเจนว่า #ไม่เอากาสิโน เนื่องเพราะกาสิโน เป็นต้นเหตุของปัญหาที่จะตามมาทั้งปัญหาเชิงสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เด็กและเยาวชน นำไปสู่ธุรกิจผิดกฎหมาย การฟอกเงิน และประเทศชาติเสียหายตามมา

นายกฯ ประกาศ เลื่อน การพิจารณาร่างกฎหมายการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอีก 6 พรรคร่วมแถลงข่าวด้วยเมื่อ 8 เม.ย.
การออกมาเคลื่อนไหวไม่เอากาสิโนครั้งนี้ มีหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ นักการเมือง สว.ชุดปัจจุบัน อดีต สว. ผู้นำทางศาสนา ประชาชนทั่วไปต่างทยอยออกมาเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ และยังมีการนัดรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านที่หน้าสภาฯ ในวันที่ 9 เม.ย.เพื่อแสดงเจตนารมย์ว่า ไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย และจะยืนหยัดขัดขวางต่อสู้ทุกวิถีทางไม่ให้กาสิโนเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้!

นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งซึ่งทำงานการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล ได้ศึกษาและวิเคราะห์ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอะไรที่ซ่อนไว้มากเช่นกัน โดยเฉพาะเป็นกฎหมายแบบให้อำนาจพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้พื้นที่นั้นต้องผ่อนปรนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้สิทธิพิเศษบางประการและยกเว้นกฎหมาย ข้อกฎหมาย คำสั่ง ข้อบังคับเพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระที่ไม่จำเป็น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการธุรกิจจริง ๆ
โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน มีจำนวน 104 มาตรา ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ของเดิมก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาวันที่ 9 มีเพียง 65 มาตรา และมีมาตราที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะมาตรา 6 (1) ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารเห็นว่ากฎหมายหรือกฎใด ก่อให้เกิดความล่าช้า ซ้ำซ้อน หรือก่อให้เกิดภาระโดยไม่จำเป็นในการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ให้คณะกรรมการบริหารเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ!! ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายหรือกฎนั้น

“มีข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจบันเทิงครบวงจร ประธานฯมาจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง สามารถเสนอสอดแทรก แก้ไข ยกเลิกบางมาตรา หรือยกเลิกตัวกฎหมายนั้นได้ทันที ซึ่งคนที่จะมานั่งตรงนี้ก็มีเสียงลือพอเห็นเงา ๆ แล้วว่าเป็นใคร”


อย่างไรก็ดี มีการนำกฎหมายที่ได้รับการยกเว้นประมาณ14 ฉบับมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกันจะพบว่าพื้นที่ตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีจริง ๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร Super Board (ซูเปอร์บอร์ด ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯ เป็นรองประธาน และกรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน พร้อมคณะกรรมการบริหารสำนักงานฯ

นักกฎหมาย ระบุว่า หากมองไปที่โครงสร้างตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ‘Super Board’ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะชี้ขาด และกำหนดคุณสมบัติของเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จะต้องมีธุรกิจอะไร อย่างไร ตามหลักเกณฑ์คือ 4+1 ร่วมกับกาสิโน การกำหนดพื้นที่ตั้งศูนย์บันเทิงครบวงจรและกาสิโน การกำหนดจำนวนใบอนุญาต จะให้กี่แห่งที่ไหนอย่างไร เสนอแนะอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน การออกใบอนุญาต ทั้งในเรื่องของการต่ออายุและการเพิกถอน เป็นต้น

ส่วนคณะกรรมการบริหารสำนักงานฯ มีลักษณะเป็นผู้กำกับดูแล (regulater) กลุ่มทุนและภาคธุรกิจที่มาลงทุนในเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ โดยมีอำนาจเรียกเก็บค่าบริการและค่าตอบแทน เป็นต้น

ในมาตรา 23 วรรคสอง กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับมาตรา 35(3) ชี้ให้เห็นว่าผู้อำนวยการเป็นนายจ้างของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ที่จะสามารถกำหนดให้คนต่างด้าวมีสิทธิได้รับค่าจ้างสูงกว่าคนไทย

“จะใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.นี้ มาตรา 54 (4) เพื่อยกเว้นการทำงานของคนต่างด้าว สิ่งที่น่าห่วงเมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการ ต้องชัดเจนไม่เช่นนั้นจะเกิด 2 มาตรฐานระหว่างพนักงานที่เป็นคนไทยกับคนต่างด้าว มาตรา 54 ระบุไว้ผู้รับใบอนุญาตได้รับการยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อัตราส่วนการถือหุ้นต่างด้าวถือได้มากกว่าร้อยละ 49 โดยไม่ต้องจัดตั้งหรือจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ซึ่งจะมีวิธีการคัดกรองคนต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานได้อย่างไร”

ดังนั้นการยกเว้นกฎหมายแรงงานนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถนำทีมแรงงานต่างด้าวมาประกอบธุรกิจกาสิโนในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องใช้คนไทย และเมื่อไม่ใช้คนไทย ความลับก็ไม่รั่วไหล ประสิทธิภาพการตรวจสอบรายรับรายจ่าย หรือการโกงในกาสิโนก็จะไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแน่นอน


ส่วนมาตรา 63 ว่าด้วยการเช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เพื่อประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรให้ทำสัญญาเช่ากำหนดไว้ไม่เกินสามสิบปี และยังเปิดช่องว่าจะมีมากกว่า 1 แห่ง และการอนุญาตให้ต่อสัญญาต่อไปได้ หมายความว่าต่างชาติสามารถถือครองอสังหาริมทรัพย์ไทยแบบไม่มีเวลาจำกัด ว่ากันว่ามีแนวโน้มให้ต่างชาติเช่าได้ 99 ปี

“กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเช่าคิดค่าตอบแทนอย่างไร หากเช่าที่ดินรัฐ ไม่ว่าจะที่รถไฟ ที่ดินการท่าเรือ หรือที่กรมธนารักษ์ จะใช้อัตราค่าเช่าเท่าไร เป็นอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนดหรือไม่ รายได้เข้ารัฐส่วนนี้จัดสรรอย่างไร”


ตัวอย่างเช่นถ้ากำหนดพื้นที่ตั้งกาสิโน ที่บริเวณท่าเรือคลองเตย มีที่ดินประมาณ 2,300 ไร่ จะจัดโซนในการพัฒนาอย่างไร โดยแบ่งมาทำกาสิโน 10% ประมาณ 230 ไร่ เท่ากับ 84,200 ตารางวา ที่ดินบริเวณนี้ตารางวาละประมาณ 1.2 ล้านบาท ค่าที่ดินแปลงนี้จึงมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท

“ที่ดินมูลค่าเป็นแสนล้าน มาแลกกับการทำธุรกิจกาสิโน โรงแรม สถานบันเทิงอื่น ๆ แต่ผู้ได้รับสัมปทานเสียค่าธรรมเนียมเพียง 5 พันล้านบาท และรายจ่ายประจำปี ปีละ 1 พันล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี การท่าเรือจะได้รับผลตอบแทน 35,000 ล้านบาท โดยไม่มีการประมูลว่าใครจะเป็นผู้ให้รายได้กับการท่าเรือสูงที่สุด ทุกอย่างอยู่ที่ซูเปอร์บอร์ดกำหนดใช่หรือไม่”

ขณะเดียวกันผู้บริหารการท่าเรือ บอร์ดการท่าเรือ และสหภาพการท่าเรือ มีสิทธิที่จะปกป้อง ต่อสู้ด้วยและแสดงจุดยืนกับทรัพย์สินของแผ่นดินในความดูแลของการท่าเรือซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยได้หรือไม่?

ด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ระบุว่า แม้รัฐบาลจะดึงดันจนผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปทั้ง 3 วาระจนออกเป็นกฎหมายได้ก็ตาม แต่จะมีปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตามมา เพราะแต่ละพื้นที่มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในภาคส่วนอื่น ๆ ก็จะเข้าไปช่วยผสมโรง เรื่องนี้ก็จะถูกขยายผลเพิ่มความขัดแย้งขึ้นไปอีก

“ไม่ว่าจะไปสร้างกาสิโนที่ท่าเรือคลองเตย ไปภูเก็ต หรือ EEC คนพื้นที่ก็จะออกมาต่อต้าน ชาวบ้านภาคตะวันออกมีบทเรียกเจ็บช้ำน้ำใจมาแล้วกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ต่อด้วย EEC จะยอมให้กระทำอีกหรือ จะสร้างที่ภูเก็ต คนพื้นที่ก็ต่อต้าน จะไปเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ก็ออกมาต้าน หรือจะท่าเรือคลองเตย สหภาพฯ การท่าเรือ หรือ ชาวบ้านแถวนั้นก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว”
ที่สำคัญรัฐบาลต้องยอมรับด้วยว่าเรื่องการสร้างกาสิโน จุดชนวนความขัดแย้งได้ตลอดเวลา เพราะคนไม่เชื่อมั่นกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ถ้ารัฐบาลยังดึงดันจะกลายเป็นการสร้างความทรงจำที่ไม่ดี เพราะคนที่ออกมาต่อต้าน ก็มีทั้งพระ ครู แพทย์ ผู้มีชื่อเสียงเป็นกลุ่มคนในสังคมให้ความเคารพ

“รัฐบาลรู้ทุกเรื่อง ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าใจ ว่าทำไมต้องดึงดัน รัฐบาลรู้ว่า คนที่ค้านเขาเป็นใคร ค้านด้วยเหตุผลอะไร โครงการนี้ ถูกโจมตี รัฐบาลรู้หมด แต่ยังเดินหน้าต่อ ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุที่ไม่ถอยเพราะอะไร หากไม่ทำความชัดเจน ก็มีการตั้งข้อสงสัยตามมาด้วย ข่าวลือ ข่าวโคมลอยซึ่งรัฐบาลรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังให้อำนาจ Super Board ที่นายกฯ เป็นประธาน มาก มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ รวมทั้งจะให้มีกฎหมายใหม่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น “ถ้า พ.ร.บ.การท่าเรือเป็นอุปสรรค สามารถใช้อำนาจของ Super Board ให้คำแนะนำกับรัฐบาล ก็คือ คณะเดียวกัน แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคก็จะเกิดการผลักดันให้แก้ พ.ร.บ.การท่าเรือ ได้รวดเร็ว จะลัดขั้นตอนไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ แก้บางมาตรา ทั้งที่การท่าเรือควรแก้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการท่าเรือ ไม่ใช่เพื่อ entertainment complex แต่รัฐบาลสามารถใช้กฎหมายนี้ทำได้

ท่าเรือคลองเตย

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
ประเด็นนี้จึงอยากให้สังคมรับฟังสิ่งที่ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยยกสมการคอร์รัปชันขึ้นมาคือ  
                                    C = D + M – A

C = corruption

D = Discretion การใช้ดุลพินิจการให้อำนาจของคณะบุคคล ออกคำสั่ง อนุญาต

M = Monopoly การให้สัมปทาน การผูกขาด

A = Accountability ความรับผิดรับชอบ หมายรวมถึง กลไกการตรวจสอบ

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ และ Super Board แทบจะเอามาลงในสมการนี้ได้ดีในการใช้ดุลพินิจเพื่ออนุมัติ อนุญาต ให้แก่ธุรกิจกาสิโนเป็นการชี้ให้เห็นการแปรผันของการทุจริตคอร์รัปชันจากสมการ C=M+D-A

“Discretion คือประเด็นการมีอำนาจมากของ super board เป็นผู้กำหนดทุกเรื่อง จะตั้งที่ไหน ให้ใครทำ สัดส่วนพื้นที่เท่าไหร่ จะจัดเก็บภาษีเท่าไหร่ จะให้ใบอนุญาตที่เท่าไหร่ เป็นดุลพินิจของ ซูเปอร์บอร์ด พอสังคมโจมตีมากก็บอกว่าล่าสุด กฤษฎีกา เพิ่มใหม่ไม่ใช่แค่ซูเปอร์บอร์ด แต่ให้ซูเปอร์บอร์ดส่งไปให้เป็นมติของ ครม. คือ พยายามทำให้มันดูมีความชอบทำมากขึ้น แต่ก็ยังมี discretion สูงอยู่ดี เพียงแต่ซูเปอร์บอร์ด ต้องมี ครม. เป็น stamper เท่านั้นเอง”

แต่ในความเป็นจริง super board กับ ครม. ก็มีหัวโต๊ะ เป็นคนเดียวกัน คือ นายกรัฐมนตรี!

“กฎหมายฉบับนี้ ยกอำนาจให้ super board สูงมาก จึงเป็นความน่ากลัว เป็นการเขียนกฎหมาย เปรียบเสมือนตีเช็คเปล่าให้ Super board จะไปกรอกอะไรก็ได้ อำนาจอยู่ที่เขา แถมยังเป็นธุรกิจ Monopoly ที่ได้รับอนุญาต ให้แก่ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หากกลุ่ม Monopoly สามารถเจรจากับกลุ่ม Super board ได้ ด้วยเหตุ ด้วยผลประโยชน์ อะไรบางอย่างก็แล้วแต่ ขณะที่ Accountabilityไม่มากพอก็เข้าสมการของการโกงชัดเจน”

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้ อำนวยให้เกิดการโกง หรือ การทุจริตเชิงนโยบาย อย่างง่ายดาย ทั้งที่หลักธรรมาภิบาล ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ และตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐบาลแพทองธาร ชอบยกตัวอย่างกาสิโนที่สิงคโปร์ อ้างคำตอบ อ้างความสำเร็จ แต่ไม่เอาวิธีทำของสิงคโปร์มาใช้ เปรียบหมือนเด็กลอกการบ้าน ลอกข้อสอบ ลอกคำตอบสุดท้าย แต่ไม่ลอกวิธีทำ

“สิงคโปร์มีการแบ่งแยกอำนาจ โดยมีบอร์ดเหมือนกัน แต่ไม่มีอำนาจสูงขนาดนี้ ไม่เรียก super board แต่เรียกว่า Regulatory Board คือ คณะกรรมการบอร์ดกำกับดูแล มีการแบ่งแยกอำนาจไว้อีกบอร์ดหนึ่ง ที่ดูแลปัญหาและลดผลกระทบ ซึ่งสิงคโปร์ปรับกฎหมายบ่อยมากโดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และเมื่อมีการปรับจะพบว่าเพิ่มอำนาจให้บอร์ดที่ดูแลปัญหาและผลกระทบมากขึ้น ส่วน Regulatory Board จะถูกทำให้เล็กลง มีอำนาจน้อยลง”






เหตุที่สิงคโปร์มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเพราะความเป็นจริงโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ระหว่าง regulator และ operator ผู้ประกอบธุรกิจ ย่อมมีอยู่แล้ว ฉะนั้น การแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้ regulator มีอำนาจมากจนเกินไป เพราะ regulator อาจมีผลประโยชน์เอี่ยวกับ operator ย่อมเป็นการถ่วงดุลอำนาจได้ดี

ถามว่ารัฐบาลรู้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ารัฐบาลรับรู้ แต่ไม่ทำแบบสิงคโปร์ ตรงกันข้ามกลับยกอำนาจให้ super board สูงมาก ซึ่งการที่ไทยจะไปลอกเลียนความสำเร็จของสิงคโปร์มานั้น ก็ต้องมาดูการบังคับใช้กฎหมายบ้านเราเป็นอย่างไร คดีคอร์รัปชันก็สูงมาก ขณะที่สิงคโปร์ เรื่องคอร์รัปชันต่ำมาก ๆ ใช่หรือไม่ แต่จะให้ประเทศไทยได้ผลลัพธ์อย่างสิงคโปร์ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ในงานวิจัยทั่วโลก พบว่าการมีกาสิโนทำให้เกิดความแตกแยก จะมีทั้งฝ่ายที่อยากให้มีกาสิโนและฝ่ายที่ไม่อยากให้มี สุดท้ายกลุ่มผู้มีอำนาจ และกลุ่มทุนจะใช้วิธีหยิบยื่นผลประโยชน์เพื่อปิดปากฝ่ายสนับสนุนจะได้รับผลประโยชน์ไปมาก เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ ฝ่ายที่คัดค้านก็เอาผลประโยชน์ไปล่อปิดปากเพื่อไม่ให้คัดค้าน ซึ่งผู้นำชุมชนนั้น ๆ ก็จะเห็นว่า ฝ่ายโน้น
ก็รับ ฝ่ายนี้ ก็รับ แต่สุดท้ายที่เห็นเด่นชัดคือความแตกแยกที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น อันเป็นผลมาจากการตั้งกาสิโนนั่นเอง!

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น