xs
xsm
sm
md
lg

แนะ รัฐสร้างความเชื่อมั่น ตรวจทุกโครงการที่สร้างโดย“บ.ไชน่า เรลเวย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.ธีรพันธ์” ชี้ โครงการรัฐที่สร้างโดย “บริษัท ไชน่า เรลเวย์” ต้องเร่งตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง ทั้งในส่วนของแบบ วัสดุ ขั้นตอนการดำเนินงาน เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชี้แจงสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ขณะที่อาคารสูงทั่วไปหากโครงสร้างไม่ได้ทำเพื่อรอบรับแผ่นดินไหวก็สามารถเสริมแรงให้อาคารแข็งแรงมากขึ้น แนะติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว หากไม่เกินค่ามาตรฐานที่ตึกสามารถรับได้ก็ไม่จำเป็นต้องอพยพ เผย “ม.มหิดล”ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวได้ในราคาแค่หลักหมื่น

ภาพตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ถล่มขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมาได้สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนอย่างมาก ชื่อของ “บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า
ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างตึก สตง.ร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) ถูกพูดถึงอย่างมาก มีการขุดคุยถึงผลงานการก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีปัญหาเช่นกัน ขณะที่จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้ก่อสร้างโครงการของรัฐอีกถึง 29 โครงการ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และประชาชนที่จำเป็นต้องเข้าไปใช้อาคารสถานที่เหล่านี้ต่างวิตกถึงความไม่ปลอดภัยที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

หลายฝ่ายจึงอยากรู้ว่าโครงการดังกล่าวควรทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ?

รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญทางด้านแผ่นดินไหว ให้คำแนะนำว่า สำหรับอาคารที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานที่เป็นเจ้าของอาคารควรให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบว่าภายหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวอาคารได้รับผลกระทบไหม เอาแบบก่อสร้างมาดูว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ดูรายงานการก่อสร้างว่าขั้นตอนการก่อสร้างเป็นอย่างไร ผลการทดสอบวัสดุก่อนจะนำไปใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือเปล่า ซึ่งหากการก่อสร้างดำเนินการอย่างถูกต้องตามแบบก่อ วัสดุได้มาตรฐาน โดยมีวิศวกรทำการตรวจสอบและยืนยันก็ถือว่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้นก็ต้องเรียกวิศวกรที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน โดยให้มีการชี้แจงขั้นตอนการก่อสร้างต่างๆว่าเป็นอย่างไร

ส่วนอาคารที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ กำลังก่อสร้างก็มีแบบก่อสร้าง รายงานการก่อสร้างต่างๆ อยู่ที่ไซต์งานก่อสร้างและบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเจ้าของอาคารถ้าต้องการให้เกิดความมั่นใจก็สามารถทำการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวได้ แล้วก็เอาเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าถูกต้องตามหลักวิศกรรมไหม ซึ่งปกติงานสร้างอาคารขนาดใหญ่จะมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาโครงการซึ่งสามารถ Cross check ได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการที่ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างนั้น หน่วยงานรัฐไม่สามารถเปลี่ยนบริษัทผู้รับเหมาหรือบริษัทก่อสร้างได้เพราะมีสัญญาการว่าจ้างอยู่ หากมีการยกเลิกสัญญากับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะต้องเสียค่าปรับในวงเงินที่สูงมาก ดังนั้นหากหน่วยงานรัฐรู้สึกว่าไม่มั่นใจในการทำงานของบริษัทดังกล่าวก็อาจจะต้องมาคุยกัน หรือให้ทางบริษัทมาชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

“ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นอาคารของราชการก็จะมีข้อมูลเอกสารต่างๆเก็บไว้ที่ฝ่ายวิศวกรรมประจำอาคารอยู่แล้ว ว่าจะเป็น รายงานการก่อสร้าง แบบก่อสร้าง รายงานการตรวจสอบจากที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน ก็อาจจะต้องมีการมาเช็คกันว่ารายการพวกนี้ถูกต้องไหม ตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทที่รับงานก่อสร้างตึก สตง. ซึ่งเราก็ต้องให้เขามาชี้แจงว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ คือถ้าตรงตามมาตรฐานมันก็ไม่ควรจะเกิดปัญหา ตอนนี้สังคมยังเคลือบแคลงสงสัย ที่จริงทางบริษัทที่รับงานก่อสร้างก็ต้องออกมาชี้แจง โดยหลักถ้าความผิดเกิดจากอะไรมัน track ไปดูได้ แต่ถ้า track กลับไปดูไม่ได้อาจเป็นไปได้ว่าการตรวจสอบไม่เข้มข้น ” รศ.ดร.ธีรพันธ์ ระบุ



สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐอาจจะมีการจ้างบริษัทรับเหมาช่วงมาดำเนินการก่อสร้างแทนทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพนั้น “รศ.ดร.ธีรพันธ์” มองว่า ในสัญญาก่อสร้างจะระบุว่าถ้ามีการรับเหมาช่วงจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐาน ขั้นตอนการปฏิบัติต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการตรวจเช็คอย่างจริงจัง ซึ่งกรณีที่มีการเกิดอุบัติเหตุอาจจะเกิดจากการควบคุมในส่วนนี้ไม่เข้มข้น ซึ่งถ้าเกิดความเสียหายจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หน่วยงานรัฐก็ฟ้องร้องบริษัทที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง แล้วบริษัทดังกล่าวค่อยไปไล่บี้เอากับบริษัทที่รับเหมาช่วงอีกที ถ้าการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องและทำให้เกิดอุบัติเหตุก็จะเป็นความผิดของผู้รับเหมาช่วง ก็ต้องมาดูว่าขั้นตอนนั้นใครเป็นคนผิด เช่น ทำไมผู้ควบคุมงานไม่อยู่ หรือที่ปรึกษาได้แบบก่อสร้างมาแล้วไม่ทำตามแบบหรือเปล่า ทุกอย่างสามารถไล่เช็คกลับไปได้หมดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

อีกประเด็นหนึ่งที่สังคมอยากรู้คือในส่วนของอาคารสูงทั่วไปควรมีมาตรการในการรับมืออย่างไร “รศ.ดร.ธีรพันธ์” ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ได้มีการกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทยว่าต้องมีการก่อสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว อาคารสูงที่สร้างในช่วงหลังๆไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชนหากมีการก่อสร้างตามมาตรฐานก็จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่วนอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 หากเจ้าของอาคารต้องการให้อาคารมีความแข็งแรงทัดเทียมมาตรฐานใหม่ก็อาจจะให้วิศวกรมาตรวจสอบและทำการเสริมแรงเพื่อให้อาคารมีความแข็งแรงขึ้น เช่น อาจจะต้องขยายเสา ขยายคาน ขยายเหล็กเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น

“ แผ่นดินไหวครั้งนี้แม้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศเมียนมา อาคารในเมียนมาพังถล่มและได้รับความเสียหายจำนวนมาก ขณะที่อาคารในประเทศไทยที่พังถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้แสดงถึงความสำเร็จของวิศวกรรมการก่อสร้างของไทยที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม้จะมีอาคารที่ได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่โครงสร้างหลักไม่ได้เสียหาย ตึกจึงไม่ถล่ม ” รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าว

อาคาร สตง.ขณะกำลังก่อสร้าง
ส่วนเรื่องการเตือนภัยแผ่นดินไหวนั้น “รศ.ดร.ธีรพันธ์” มองว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เมื่อก่อนคนไทยจึงไม่ได้ให้ความสนใจ แต่พอเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นคนก็เริ่มสนใจเรื่องการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มากเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวไม่ได้ส่งผลถึงขั้นทำให้เกิดตึกถล่มทุกครั้ง ดังนั้นถ้ามีการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเราก็จะรู้ว่าเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นๆรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แรงสั่นสะเทือนเกินค่ามาตรฐานที่ตึกที่เราอยู่จะรับแรงสั่นสะเทือนได้หรือไม่ ถ้าไม่เกินก็ไม่จำเป็นต้องอพยพ

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นจะต้องออกแบบอาคารให้มีโครงสร้างที่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ก่อน ถ้าแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นต่ำกว่าแรงต้านแผ่นดินไหวของตัวอาคาร อาคารเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อมีการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว เราก็จะประเมินสถานการณ์ได้ว่าจำเป็นต้องอพยพหรือไม่

“ ปัจจุบันเราอพยพกันด้วยความรู้สึกเพียงอย่างเดียว แต่แผ่นดินไหวไม่ได้ทำให้อาคารถล่มหรือเกิดความเสียหายต่ออาคารทุกครั้ง ดังนั้นหากมีการติดตั้งเครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนฯ ก็จะช่วยให้เรารับมือกับเหตุแผ่นดินไหวได้ง่ายขึ้น เช่น เราจะเห็นว่าทุกโรงพยาบาลที่รู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวต่างก็อพยพผู้ป่วยออกมาหมด ทั้งๆที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้รับอันตรายจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ดังนั้นหากมีการติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนและรู้ว่าแรงสั่นจากแผ่นดินไหวนั้นไม่ได้เกินแรงต้านทานของตึก ก็ไม่จำเป็นต้องอพยพคนไข้ เพราะการอพยพอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยขั้นวิกฤต ” รศ.ดร.ธีรพันธ์ ระบุ

รศ.ดร.ธีรพันธ์ ยังได้เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการประดิษฐ์เครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว เนื่องจากได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนที่ทำอพาร์ทเมนต์ให้เช่าว่าต้องการให้ช่วยติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพื่อให้ผู้เช่ารู้ว่าแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวหรือเกิดจากการก่อสร้างของอาคารบริเวณใกล้เคียง ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ซึ่งในช่วงแรกนั้นอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนที่ยังมีราคาสูงเพราะเรายังผลิตเองไม่ได้ คือราคาอยู่ที่เครื่องละ 3 แสนบาท และแต่ละอาคารต้องติดตั้งหลายจุด จึงทำให้เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ไม่มีกำลังพอที่จะติดตั้ง

แต่ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้เองแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจึงมีราคาแค่หลักหมื่นเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่วิศวกรต้องเข้าไปตรวจสอบอาคาร เอาแบบก่อสร้างมาดูเพื่อวิเคราะห์ว่าควรจะติดตั้งอุปกรณ์ที่จุดใด และคำนวณว่าอาคารดังกล่าวสามารถต้านแรงสั่นสะเทือนได้ระดับไหน รวมทั้งมีทีมวิศวกรซึ่งเป็นทีมหลังบ้านซึ่งจะคอยเช็คว่ามีแรงสั่นสะเทือนเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีระบบการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อติดตั้งเสร็จก็ต้องมีการเทรนนิ่งวิศวกรประจำอาคารให้สามารถอ่านค่าแรงสั่นสะเทือนและวิเคราะห์ได้ว่าแรงสั่นสะเทือนระดับไหนที่ถึงจุดที่จะต้องเปิดสัญญาณแจ้งเตือนและต้องอพยพ และหลังจากเกิดแผ่นดินไหวทีมวิศวกรหลังบ้านก็จะเอาค่าเซ็นเซอร์ไปวิเคราะห์ต่อว่าโครงสร้างหลักของอาคารได้รับผลกระทบหรือไม่ เช่น เสาที่เป็นโครงสร้างเหล็กเสียหายไหม ถ้าจุดที่เสียหายเป็นกำแพงอิฐก่อก็ไม่เป็นไร สามารถซ่อมแซมและอยู่อาศัยได้

“ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเจ้าของอาคารจำนวนมากติดต่อให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตและติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวให้ จนตอนนี้ทำไม่ทันแล้ว ซึ่งอาคารที่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนก็คืออาคารสูงเกิน 20 ชั้น และมีคนใช้งานจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล ” รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าว

 

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j
YouTube : แนะ รัฐสร้างความเชื่อมั่น ตรวจทุกโครงการที่สร้างโดย“บ.ไชน่า เรลเวย์” - YouTube


กำลังโหลดความคิดเห็น