จับตาเหตุตึก สตง.ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลุ่มวิศวกรที่ปรึกษาหารือในวงสนทนา มั่นใจไม่ใช่จากวัสดุ
เหล็ก ด้อยคุณภาพ เพราะการนำวัสดุมาใช้มีหน่วยงานประทับตราคุณภาพชัดเจน ก่อนที่‘ไอทีดี-ซีอาร์อีซี’ จะนำไปใช้ ส่วนการออกแบบควบคุมงานล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญมีใบประกอบวิชาชีพ ‘วุฒิวิศวกร’ ถือเป็นขั้นสูงสุด เชื่อน่าเกิดจากคลื่นความถี่จากแผ่นดินไหวผสมกับการมี ‘เครนขนาดใหญ่’ ยึดอยู่ทำให้พังในลักษณะแนวดิ่ง ขณะนี้มีเพียง ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจะอธิบายได้ส่วนวิศวกรโครงสร้างตอบยาก ด้านผู้รับเหมาพร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคส่วนเยียวยาผู้เสียหายทุกราย มั่นใจเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ประกันภัยต้องรับผิดชอบ!?
การที่สังคมจะรู้สึกผิดหวัง ตำหนิ หรือเชื่อว่าเหตุที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 30 ชั้น มูลค่าก่อสร้างกว่า 2,136 ล้านบาทถล่มเพียงตึกเดียว ทั้งที่เป็นตึกใหม่ ก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จ ส่วนอาคารสูงทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ สามารถรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพราะมีการคอร์รัปชัน กินหิน กินปูน กินทราย ลดสเปกวัสดุ จนทำให้ตึกไม่ได้มาตรฐาน ลดความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนไปในทันที
ขณะที่ภาพลักษณ์ของ สตง.ก่อนหน้านั้นเป็นองค์กรที่ดูจะโปร่งใส ทำหน้าที่ตรวจสอบ ปราบปรามหน่วยราชการต่าง ๆ ที่หาช่องทางทุจริตหลากหลายรูปแบบและสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ภาพดังกลาวจึงกลายเป็นแค่ความทรงจำในอดีต ที่ สตง.ต้องพยายามเรียกศรัทธากลับคืนมาให้ได้
ส่งผลให้ไม่ว่า สตง.จะนำเสนอข้อมูลและกระบวนการต่าง ๆ ในการสร้างตึกแห่งนี้ ต่อสังคมว่าที่ดำเนินการมานั้น ทำด้วยความโปร่งใสและข้อกำหนดคุณธรรม ทุกขั้นทุกตอนกว่าจะได้ผู้รับจ้าง มีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการเทียบราคากลางงานก่อสร้าง จนได้ผู้รับจ้างที่สามารถประหยัดงบให้ราชการได้ถึง 386.15 ล้านบาทคือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ซึ่งเป็นกิจการระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ก็ไร้เสียงตอบรับในเชิงบวกต่อ สตง.
วันนี้สิ่งที่เห็นและเป็นจริงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว และตึก สตง.ถล่ม ในสายตาของสังคม ‘สตง.เสื่อม’ และกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย) ไม่ได้รับความเชื่อมั่น กลับสร้างความหวาดกลัว ทำให้บรรดานักสืบโซเชียล และสื่อต่าง ๆ จึงร่วมกันขุดคุ้ยว่าบริษัทเหล่านี้ไปก่อสร้างที่ไหนอีกบ้าง มีการใช้วัดสุด้อยคุณภาพหรือไม่และจะเกิดเหตุการณ์ถล่มตามมาหรือไม่ อย่างไร เรียกว่าเกิดอาการวิตกจริตตามมาหากโครงการไหนเป็นฝีมือโดยเฉพาะบริษัท ซีอาร์อีซีนัมเบอร์เทน (ไทย)
พร้อม ๆ กับการตั้งหน้า ตั้งตารอข้อเท็จจริงว่าตึก สตง.ถล่ม ครั้งนี้ บรรดาคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จะสรุปมูลเหตุเกิดจากอะไร และใครต้องรับผิดชอบความเสียหาย เพราะสิ่งที่ทำให้ตึกวิบัติ ก็ประเมินกันว่าอาจจะมาจากการออกแบบ การก่อสร้าง คุณภาพวัสดุ กำลังคอนกรีต ผลกระทบจากเครน การเลือกระบบรับแรงแผ่นดินไหวหรือความถี่คลื่นแผ่นดินไหว เป็นต้น
แหล่งข่าวจากวิศวกรที่ปรึกษา บอกว่า จากการที่กลุ่มวิศวกรที่ปรึกษานั่งสนทนา แลกเปลี่ยนสาเหตุตึก สตง.ถล่ม ที่ล้วนแต่ได้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับ วุฒิวิศวกร ผ่านประสบการณ์คุมงานก่อสร้างมายาวนาน บอกว่าถ้ามองที่ปัญหาการออกแบบ ก็ต้องไปดูรายการคำนวณ ว่าตึกนี้ออกแบบคำนวณสัดส่วนความปลอดภัย“Safety Factor” กับแรงแผ่นดินไหวรวมทั้งแรงบิดขนาดเท่าไหร่ เสาแต่ละต้น จะมีเหล็กกี่เส้น กว้าง ยาว เท่าไหร่ เช่น รับน้ำหนักได้ 100 factor safety 2.5 ก็จะรับน้ำหนักได้ 250 ซึ่งวิศวกรผู้ออกแบบก็จะเป็นพวกวุฒิวิศวกร ร่วมกันทำก็ต้องคำนวณเผื่อไว้อยู่แล้ว
“ในเล่มแบบคำนวณ มันบอกทุกอย่างไว้ ทำงานกันเป็นทีม เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดจากแบบ ก็รอดูผู้เชี่ยวชาญจะว่าอย่างไร”
ประเด็นต่อมาสังคมกำลังพุ่งเป้าไปที่ เหล็กด้อยคุณภาพ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐมนตรี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ พยายามตอกย้ำและพุ่งไปที่บริษัท SKY หรือ บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีนที่โดน ก.อุตฯ สั่งปิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 เพราะจากการที่ทีมงาน ก.อุตฯ นำเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น พบมีเฉพาะของบริษัท SKY ที่ไม่ได้คุณภาพเท่านั้น
“เรื่องที่ ก.อุตฯ ชี้นำเราไม่ว่ากันเพราะมันเป็นการเมือง ตีเหล็กสร้างคะแนนเสียงต้องทำช่วงร้อน ๆ แต่ข้าราชการที่ปฏิบัติงาน พวก สมอ. เขารู้จึงไม่กล้าออกตัวแรง ปล่อยให้รัฐมนตรีและทีมการเมืองว่ากันไป ซึ่งคุณเอกนัฏ แม้จะเป็นวิศวกร แต่เมื่อไม่ได้ผ่านงาน คุมงานไม่เคยทำหน้าที่วิศวกรที่ปรึกษาคุมงานขนาดใหญ่ ก็อาจจะลืมไปว่าการจะนำวัสดุไปใช้ในการก่อสร้างงานรัฐต้องผ่านขั้นตอนอย่างไร และเหล็กที่จะนำไปทดสอบต้องมีสภาพอย่างไรจึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการตรวจสอบ”
ทั้งนี้ในการก่อสร้างทุกประเภทของทางราชการ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาโครงการ (TOR) การจะเลือกใช้วัสดุ อะไร อย่างไร ก็อยู่ในTOR ที่วิศวกรควบคุมงานและผู้รับเหมาจะต้องปฏิบัติตามจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไม่ได้ โดยการที่จะใช้เหล็ก หรือปูนในการก่อสร้าง จะต้องส่งให้หน่วยงานตรวจสอบ ซึ่งหน่วยงานที่ตรวจสอบก็จะมีใบรับรองการตรวจเพื่อส่งให้ผู้ควบคุมงานอนุมัติใช้วัสดุดังกล่าวได้
โดยหน่วยงานที่จะทำการตรวจสอบได้ ประกอบด้วยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ระบุไว้ว่าสามารถทำการตรวจสอบได้ เช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ
“แบบฟอร์มหนังสือขอทดสอบจะระบุทุกอย่าง และผู้นำส่งที่ลงชื่อต้องเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง แต่ละล็อกที่จะทำก่อสร้างอะไร ก็ต้องเขียน เช่นเหล็กเส้น ระบุขนาดไหนบ้าง ตัวอย่างจากผู้ผลิตใด ส่วนคอนกรีต ก็จะบอกเกณฑ์กำลังอัด KSC ไว้ หน่วยงานตรวจสอบก็จะออกใบรับรอง ผู้ควบคุมงาน ก็ตรวจสอบ มี stamp ตรายางถูกต้อง เป็นเอกสารจริง ก็อนุมัติให้ทำงานได้ เหมือน Daily Report หรือ weekly report อนุมัติให้วันนี้ทำการผูกเหล็ก ก็ต้องมีเอกสารตรวจสอบมาก่อน ถึงจะเอาเหล็กไปใช้ได้ เหล็กพวกนี้ มีใบรับรองหมดจากหน่วยงานราชการของรัฐ”
ตรงนี้คือภารกิจของกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงาน ต้องควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของวัสดุในการก่อสร้างทุกรายการ ซึ่งPKW จะยอมปล่อยให้มีการใช้วัสดุด้อยคุณภาพในโครงการนี้จริงหรือหากเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบจริงมั้ย?
วิศวกรที่ปรึกษา บอกอีกว่า กระทรวงอุตฯ จะมาแย้งว่าเหล็กที่ใช้สร้างตึก สตง.ไม่ได้มาตรฐาน เป็นสาเหตุของตึกถล่ม หากอิตาเลียนไทย นำใบตรวจมาแสดง ก็จะทำให้หน่วยงานมีปัญหากันได้เช่นกัน อีกทั้งการจะนำเหล็กไปสุ่มตรวจแบบที่ ก.อุตฯดำเนินการ ก็ดูงง งง เหมือนกัน
“งงก็เพราะ ปกติ เหล็กข้ออ้อย เค้าจะผูกเป็นเส้นตรง เบอร์ 30-40 เค้าจะผูกเป็นเส้นตรง แล้วมี coupler ตัวต่อระหว่างเส้น แต่การทดสอบ เรางอเหล็กให้มันเปราะแตก ซึ่งมันต้องทดสอบโดยใช้เครื่องดึงให้ขาด คือปกติ เหล็กมีหน้าที่รับแรงดึง คอนกรีตมีหน้าที่รับแรงอัด ฉะนั้น การเอาเหล็กไปใส่ในปูน ก็เพื่อให้เสาหรือคาน รับแรงดึงได้จากการแอ่นตัว
แต่การไปเก็บเหล็กจากเศษกองปูน เหล็กที่เก็บมาTensile strength มันเสียหมดแล้ว มันยืดจนพัง เรียกว่าเหล็กวิบัติแล้ว คุณยังไปทดสอบแรงดึงอีก เปรียบเหมือนหนังสติ๊กยืดมันจนมันเป็นซากแล้ว แล้วคุณไปทดสอบ จนมันขาด แล้วบอกว่าแรงดึงไม่ได้มาตรฐาน มันเป็นวิธีที่ผิดนะ ที่เอาเหล็กจากซากกองปูนไปทดสอบแรงดึงมันไม่ได้ แล้วจะเอาเหล็กใหม่ที่ไหน ในไซต์ก่อสร้างไม่มีแล้วเพราะตึกในส่วนโครงสร้างหลักแล้วเสร็จ เมื่อเดือนเมษายนปี 67 จะเหลือเพียงส่วนที่เขาเรียกว่า งานสถาปัตย์เท่านั้น”
ที่สำคัญเอกสารเรื่องของวัสดุที่ผ่านการอนุมัติของหน่วยงานรัฐ บริษัทควบคุมงาน ผู้รับเหมา ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี เพราะเมื่อถึงขั้นต้องฟ้องร้องกัน เอกสารเหล่านี้จะต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น ที่จะนำขึ้นสู่ศาลเพื่อการพิจารณาตัดสินชี้ขาดต่อไป เวลานี้สิ่งที่บริษัทรับเหมา วิศวกรควบคุมงาน ต้องกอดเอกสารตาม TOR ทุกเรื่องไว้ให้แน่น เพราะเอกสารเหล่านี้ยังไม่มีการส่งมอบให้ สตง.จนกว่าจะส่งมอบงานแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี วันนี้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ได้ทำหนังสือออกมายืนยันว่า วัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ และต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดก่อนนำเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างทุกครั้ง
ส่วนประเด็นสำคัญในวงสนทนาให้น้ำหนักมากโดยเชื่อว่าตึกนี้ถล่ม เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว เพราะถ้าไม่เกิดแผ่นดินไหว ตึกนี้สามารถอยู่ได้หลายชั่วชีวิต ผู้ที่จะไขปริศนานี้ให้กระจ่างเชื่อว่ามีเพียง ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติเท่านั้น
บรรดากลุ่มวิศวกรที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างเองก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องของแผ่นดินไหวลึกและละเอียดที่จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุของตึกถล่มครั้งนี้ได้ นอกจากความเชื่อที่ว่าน่าจะมาจากเหตุแผ่นดินไหว เพราะการออกแบบและการคุมงาน การก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ล้วนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดใน TOR
“เรื่องความถี่ของคลื่นแผ่นดินไหว คลื่นความถี่สูง คลื่นความถี่ต่ำ แบบไหนจะกระทบตึกสูง แบบไหนจะกระทบตึกเล็ก ๆ ซึ่งคลื่นความถี่มันจะสัมพันธ์กับการโยกหรือไม่ อย่างไร เราเห็นตำแหน่งที่เกิดพม่า ตึกเตี้ย ๆ ราบเป็นหน้ากลอง แต่บ้านเราอยู่ห่างกลับกระทบตึกสูง บางตึกไม่เป็นอะไร ส่วนตึกเตี้ย ๆ ยิ่งไม่มีปัญหา มันคืออะไร และจังหวะนั้นทำไมถึงมาลงที่ตึก สตง. หรือไปสัมพันธ์กับ ‘เครนขนาดใหญ่’ ที่ถูกยึดไว้กับแกนกลางของตัวอาคาร ยิ่งทำให้คลื่นความถี่เพิ่มแรงสั่นสะเทือนขึ้นไปอีก จึงเป็นเหตุให้ตึกถล่มมาในแนวดิ่ง vertical ถล่มทับกันลงมา ไม่ได้ล้มไปข้าง ๆ Horizontal โดยผู้ที่จะทำความจริงให้กระจ่างคือ อ.เป็นหนึ่ง จริง ๆ”
วิศวกรที่ปรึกษา บอกอีกว่า การทำความจริงเรื่องนี้ให้กระจ่างจะเป็นผลดี ถ้าผลออกมาบอกว่าการออกแบบผิด ก็จะทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานต่อไป ส่วนการฟ้องร้องก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องว่ากันไป ส่วนเรื่องของวัสดุ เหล็ก ไม่ได้มาตรฐานเรื่องนี้น่าจะยุติไม่ยาก คณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นวิศวกรอธิบายได้แน่นอน เพราะโครงสร้างใหญ่ล้วนเป็นเหล็กที่ได้มาตรฐาน หากมีเหล็กเส้นเล็ก ๆ เพียงน้อยนิดผสมไปเชื่อว่าไม่มีทางทำให้อาคารถล่มได้
กระทั่งถึงบทสรุปสุดท้ายเชื่อว่าต้นเหตุของตึก สตง.ถล่มครั้งนี้น่าจะมีสาเหตุเกิดจากแผ่นดินไหวจริง ก็คงเป็นเรื่องกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งได้มีการทำประกันภัยตามที่ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้ทำประกันเต็มมูลค่างานตามสัญญา จำนวน 2,136 ล้านบาท และครอบคลุมอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกอีกจำนวน 100 ล้านบาท ก็น่าจะเป็นเรื่องที่บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามสัดส่วนของความคืบหน้าในการก่อสร้าง แต่ถ้าเหตุตึกถล่มเกิดจากการก่อสร้างใช้วัสดุด้อยคุณภาพ แบบก่อสร้างผิด งานนี้บริษัทประกันภัยมีสิทธิ์ปฏิเสธการจ่ายได้เช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ ไอทีดี-ซีอาร์อีซี เดินหน้านอกจากเก็บหลักฐาน พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยา ด้วยการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกรายหลังเกิดเหตุการณ์อย่างเต็มที่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด จนกว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมานั้นจะสรุปข้อเท็จจริงและสาเหตุอย่างเป็นทางการชัดเจนออกมา
ขณะเดียวกัน คน สตง.ก็ต้องทำใจหากมั่นใจว่าเป็น ‘ทองแท้ไม่กลัวไฟ’ ก็ต้องอดทนต่อสายตาดูถูก ดูแคลน ควบคู่ไปกับเสียงตำหนิติเตียนจากความผิดหวังของสังคมให้ได้ ฤาคน สตง.จะเป็นดังสำนวนไทยที่ว่า ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามก็ต้องรอจนกว่าความจริงจะปรากฏเช่นกัน!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j