หมอเหรียญทอง เผยหลังยกเลิกไม่รับส่งต่อคนไข้ 35 คลินิก ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็น รพ. universal รับสิทธิบัตรทองทั่วราชอาณาจักร พบคนไข้บัตรทอง ‘กัดฟัน พึ่งตนเอง’ ในราคา รพ.รัฐ แห่มาใช้บริการมากขึ้น ทั้งเหนือจดใต้ ส่วน รพ.ลดขาดทุน กระแสเงินสดกระดกหัวขึ้นเป็นรูป “V Shape” จากที่อยู่ต่ำสุด มั่นใจอีกไม่นานจะเกิด Economy of Scale พลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างผลกำไรได้ จับตาแคมเปญใหม่ ‘จ่ายคนละครึ่ง’ เชื่อนี่คือการปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องสร้างความสมดุลไม่เช่นนั้นงบประมาณรัฐด้านสุขภาพกระทบแน่ ด้านคนใน สปสช.ชี้หมอเหรียญทองใช้การตลาดชั้นเลิศ ดึงประชาชนร่วมจ่าย หรือ Co-pay ที่ สปสช.และ รพ.รัฐทำไม่สำเร็จเพราะโดนต่อต้าน อีกทั้งทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะกลายเป็นศูนย์กลางของบัตรทองไปแล้ว!
ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็น พลตรีนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ออกมาประกาศทวงหนี้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ สปสช.ร่วมกับคลินิก 35 แห่งส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองมารักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะที่เป็นแม่ข่ายรับการส่งต่อ (OP refer) และยังมีหนี้อื่นๆ ที่ สปสช.ยังไม่จ่าย ส่งผลให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ประสบปัญหาขาดกระแสเงินสดและกระทบต่อสภาพคล่องแบกภาระขาดทุนตามมา
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ หมอเหรียญทอง ตัดสินใจปลดล็อกเพื่อไม่ให้ต้องประสบภาวะวิกฤตจนยากที่จะกอบกู้ได้ อันดับแรกคือประกาศยกเลิกไม่รับส่งต่อคนไข้บัตรทองจาก 35 คลินิก ที่มีจำนวนถึง 2 แสนคนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจว่าสถานการณ์แบบนี้จะยิ่งทำให้สถานะของ รพ.มงกุฎวัฒนะแย่ลงหรือไม่?
ขณะที่หมอเหรียญทอง กลับรู้สึกว่าสิ่งที่ตัดสินใจยกเลิก 35 คลินิก นั่นคือผลดีกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ และคนไข้สิทธิบัตรทอง โดยต้องไม่ลืมว่าหมอเหรียญทอง เป็นนักยุทธศาสตร์คนหนึ่งด้านการแพทย์ ในอดีตเคยรับราชการทหาร ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการกองยุทธการทหารบก ก่อนจะลาออกในปี 2550 และเข้ามาบริหารโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว
“ผมเป็น เสธ. เก่า เป็นคนวางแผน ดำเนินการเกี่ยวกับการงานด้านยุทธการ จึงมองเรื่องนี้ออกว่าจะทำอย่างไร ได้ใช้เวลาเตรียมการและศึกษามาปีเศษ ปัญหามันก็วนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทนต่อไป รพ.ผมเจ๊งแน่นอน ฟังคนไข้บ่นเวลาขอใบส่งตัวจากคลินิกต้องอ้อนวอนเหมือนขอทาน จึงตัดสินใจเลิก 35 คลินิก วันนี้จึงพิสูจน์แล้วว่าผมคิดถูก” หมอเหรียญทอง กล่าว
เพราะเมื่อปลดล็อกข้อแรก คือยกเลิกรับส่งต่อ 35 คลินิกไปแล้ว คนไข้สิทธิบัตรทองที่จะมารักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็ไม่ใช่เฉพาะจาก 35 คลินิกเท่านั้น แต่จะเป็นคนไข้บัตรทองทั่วประเทศสามารถมารักษาที่นี่ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว เพราะต้องไม่ลืมว่า กทม.มีทั้งประชากรที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขต กทม.และมีบัตรทอง กทม. อีกทั้งมีประชากรแฝงบัตรทองอยู่ต่างจังหวัด แต่มาทำงานใน กทม. การที่ยกเลิก 35 คลินิกจึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ในกรณีเรื่องของใบส่งตัวตรงที่สุด ซึ่งสามารถไปดูได้คนไข้บัตรทองที่มาใช้บริการในเวลานี้มีทั้งที่สมุทรปราการ ยโสธร ยะลา และจังหวัดต่างๆ
“วันนี้ มงกุฎวัฒนะ เป็น universal รับสิทธิบัตรทองทั่วราชอาณาจักร สามารถส่งต่อที่นี่ได้หมด ใครมีปัญหาเรื่องขอใบส่งตัว ก็ตรงมา แต่จ่ายเงินเองนะ จ่ายราคาที่ถูกที่สุด วิธีนี้ทำให้ รพ. สามารถแก้ปัญหาขาดกระแสเงินสด แก้การขาดทุน เพื่อให้ รพ.อยู่รอดให้ได้ ขอแค่ไม่ขาดทุน ไม่ต้องหวังผลกำไรในส่วนนี้”
นี่คือเหตุและจุดเริ่มต้นของโครงการบัตรทองแพลทินัม ที่ผู้ป่วยบัตรทองประสบปัญหาเรื่องการขอใบส่งตัวจากคลินิก ได้มีทางเลือกเพียงแต่ต้อง ‘กัดฟัน พึ่งตนเองได้’ ด้วยการจ่ายในราคา รพ.รัฐ ไม่เกิน 1 พันบาท แต่ถ้ามีการเจ็บป่วยที่ต้องเข้าแอดมิตหรือรับตัวเข้ารักษาใน รพ.ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทอง โดยไม่ต้องจ่ายเงิน!
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ที่หมอเหรียญทองใช้นั้น คนใน สปสช.เองก็ยอมรับว่าเป็นการตลาดชั้นยอด ดึงผู้ป่วยบัตรทองที่พอจ่ายได้ แต่ทนกับการขอใบส่งตัวจากคลินิกไม่ได้ จึงทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นศูนย์รวมหรือที่พึ่งของผู้ป่วยบัตรทองได้ทั่วประเทศจริงๆ อีกทั้ง รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศักยภาพสามารถรองรับผู้ป่วยได้ทุกกลุ่ม กลุ่มพรีเมียม (Premium) ก็เป็นอีกราคา การบริการสะดวกสบาย หรูหราใช้ยาต้นตำรับที่มีราคาแพง และราคาก็เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป จ่ายเองและใช้ประกันสุขภาพส่วนตัวได้
“หมอเหรียญทอง เก่งมากๆ พลิกวิกฤตจากเรื่อง 35 คลินิก ให้เป็นโอกาส ดึงผู้ป่วยบัตรทองทั่วประเทศมาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะได้สำเร็จ แต่ที่ทำแบบนี้ได้เพราะมีความพร้อม เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์เรียกว่าดีมาก เพราะลงทุนด้านนี้ไว้สูง การประกาศให้ผู้ป่วยกัดฟัน พึ่งตนเอง ก็คือการร่วมจ่าย ถือว่าประสบความสำเร็จ นี่ก็คือ Co-pay หรือ Co-payment ที่ สปสช. หรือ รพ.รัฐ เคยคิดจะทำแต่ทำไม่ได้ แค่คิดดังๆ ก็ถูกต่อต้าน ทั้งที่การให้ผู้ป่วยร่วมรับผิดชอบจะทำให้กองทุนสุขภาพอยู่ได้ยาว หากไม่ทำอะไรเลย กองทุนจะอยู่ได้กี่ปี รัฐก็ควรพิจารณากันได้แล้ว”
ดังนั้น สิ่งที่หมอเหรียญทองกำลังดำเนินการนั้นถือเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพและเป็นโมเดลที่รัฐบาลหรือ สปสช.หรือ รพ.รัฐ ควรพิจารณาหรือไม่อย่างไร ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องรับผิดชอบผู้ถือหุ้น หากจะทำในลักษณะเดียวกัน โดยคิดราคาไม่ถึงพันบาทนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเช่นกัน
หมอเหรียญทอง ระบุอีกว่า รพ.ต่างๆ ที่คิดจะรับตรงผู้ป่วยบัตรทองคงต้องคิดหลายตลบเช่นกัน เพราะรับตรงเช่นนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเอื้อ คือขีดความสามารถของ รพ.ต้องได้ เช่น ผ่าหัวใจได้ การฟอกไต รักษามะเร็งด้วยเครื่องมือต่างๆ หรือการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ก็ตาม รพ.มงกุฎวัฒนะ จะถูกกว่า รพ.รัฐ เช่นรพ.ภูมิพล รพ.ศิริราช และไม่ต้องรอคิวนาน ทำให้ทาง รพ.ศิริราช เขียนใบส่งตัวให้มาทำที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทำให้ รพ.เรามีรายได้ในส่วนนี้มากตามไปด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ พัฒนาและเตรียมพร้อมด้านสมรรถนะมากว่า 10 ปี
“พูดถึงขีดความสามารถของ รพ.เราลอยลำแล้ว ไม่ได้คุยนะ ผมมองขาดอยู่คนเดียวคือทุกอย่างเป็น dynamic บางครั้งลูกน้องผมก็ตามไม่ทัน เหมือนที่ไม่รับ 35 คลินิก เราต้องมองเรื่องการแก้ปัญหาทั้งหมดคือสนามรบ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นยุทธการโดยเรารบกับปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชน กับปัญหาของระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาส่วนรวมของชาติ เป็นเรื่องสาธารณสุขที่ สปสช.เองต้องลดทิฐิลงได้แล้ว ทุกอย่างเห็นชัดว่าระบบส่งต่อของ สปสช.ล้มเหลว แก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัวชาตินี้ก็แก้ไม่ได้ ไม่มีวันสิ้นสุด”
หมอเหรียญทอง ระบุ สาเหตุที่แก้ไม่ได้เพราะคลินิกต้องหวังกำไร ทุกวันนี้ สปสช.จ่ายเงินน้อย คลินิกขาดทุนก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าต้องจ่ายสูงคลินิกก็ต้องเอากำไรมาก หรือเรื่องระบบต่างๆ ที่ผ่านมาก็เห็นด้วยกับการตั้งโรงพยาบาลประจำเขต อย่างตอนเหนือ มี รพ.มงกุฎวัฒนะ คนไข้ใน 35 คลินิกดอนเมือง หลักสี่ ก็ส่งมาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่เมื่อตัดสินใจเลิกระบบส่งต่อจาก 35 คลินิกก็เท่ากับ รพ.เปิดกว้างทั่วประเทศ ทำให้รพ.มงกุฎวัฒนะ มีคนไข้บัตรทอง ‘กัดฟัน พึ่งตัวเองได้’ มาใช้บริการมากขึ้นๆ
“ถึงบอกว่าทุกอย่าง dynamic คนไข้บัตรทองกัดฟันพึ่งตัวเองได้ มาใช้บริการที่มงกุฎวัฒนะ ทำให้รอดได้ ไม่ขาดทุน และไม่ต้องหวังผลกำไร แต่ทำให้กระแสเงินสดดี เพียงแค่เดือนกว่าๆ มันกระดกหัวขึ้นหรือฟื้นตัวเป็นรูป “V Shape” จากที่อยู่ต่ำสุด”
นี่คือกลยุทธ์ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ สามารถแก้ได้ไม่ต้องเผชิญอยู่กับการขาดทุน กระแสเงินสดดีขึ้น และยังได้แก้ปัญหาให้ประชาชน ทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน จากที่คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปยังคลินิกเพื่อขอใบส่งตัว การรอคอยและติดตามเพื่อให้ได้ใบส่งตัวบางทีก็อาจเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่จะยอมกัดฟันพึ่งตัวเองตรงมาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะในราคา รพ.รัฐ คือค่ารักษาเฉลี่ยรักษาผู้ป่วยนอก มีค่าหมอ ค่ายา ค่าบริการ ยา ไม่ถึงพันบาท แต่ถ้าคนไข้ต้องเจาะเลือด และราคาเกินมาก ก็ต้องอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งกรณีนี้ให้ admit แต่ถ้าคนไข้จ่ายไหว ก็ให้จ่ายไป เพราะข้อเท็จจริงคนไข้บัตรทองส่วนหนึ่งจ่ายได้ไม่ใช่จะจนทั้งหมด
หมอเหรียญทอง บอกว่า ที่ดำเนินการบริหารแบบนี้ได้ เพราะยึดหลักความสมดุลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าจะต้องทำอย่างไร ‘เราอยู่ได้และสังคมอยู่ได้’ ดังนั้นการคิดราคาผู้ป่วยบัตรทองแพลทินัม ว่ากันตามจริงแล้ว รพ.มงกุฎวัฒนะ ยังขาดทุน ทั้งเรื่องค่าเสื่อมราคา ดอกเบี้ยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน รวมทั้งภาษีต่างๆ ที่ รพ.ต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือน ภาษีนิติบุคคล ขณะที่ รพ.รัฐ ไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคาทางบัญชี ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย ไม่มีต้นทุนภาษี แต่ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีทั้งหมด
“เราคิดในราคา รพ.รัฐได้ ทั้งที่ยังขาดทุน เพราะกระแสเงินสดดีขึ้น ยิ่งคนไข้ดีดกลับเข้ามารักษาเยอะ มันจะเกิด Economy of Scale ซึ่งพอ scale มันใหญ่ขึ้นคือมีผู้มาใช้บริการมากขึ้น จะสามารถลดต้นทุน จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นตามมา ซึ่งจะกลายเป็นกำไร อย่าลืม กทม.มีประชาชนแฝงที่มีสิทธิบัตรทองอยู่ต่างจังหวัดแต่ทำงานใน กทม.จำนวนมาก คนพวกนี้จะมาใช้บริการด้วยจำนวนก็จะยิ่งมากขึ้น แต่ผมต้องทำงานหนักแต่ไม่ใช่อุปสรรค เพราะเจตนารมณ์คือ เราอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ บางคนยกยอว่า ผมเป็นพ่อพระ ไม่ใช่หรอก ที่ทำก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการแก้ไข และ รพ.แก้ปัญหาเงินสดได้ด้วย”
นอกจากนี้ โครงการบัตรทองแพลทินัม ยังมีแคมเปญใหม่ๆ ออกมาเพื่อผู้ป่วย เช่นแคมเปญ ‘3,000 บาท ผ่าตัดทุกโรค’ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยบัตรทองที่รอเข้ารับการผ่าตัดหรือรอหัตถการรักษาพิเศษจาก รพ.รัฐ นานข้ามปี หรือแคมเปญ ‘500 บาทแอดมิตทุกโรค’ สำหรับผู้ป่วยบัตรทองที่รู้สึกว่าตนเองป่วยจนต้องนอน รพ. ก็มาใช้แคมเปญนี้ได้ ทั้งนี้ตั้งแต่มีโครงการบัตรทองเพลทินัม คนไข้จ่ายเงินเอง ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว จากการสอบถามพบว่าคนไข้ที่มาใช้บริการมีความสุขมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น หมอเหรียญทอง ยังเตรียมออกแคมเปญเพื่อผู้ป่วยโรคหลักๆ และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในราคา รพ.รัฐ เพียงแต่ว่าต้องศึกษาในรายละเอียดของค่าใช้จ่าย ราคายาที่ใช้มีราคาสูง เพื่อให้เกิดความสมดุลตามคำสอนของในหลวง ร.9 คือ ผู้ป่วยจ่ายได้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็อยู่ได้
“กำลังวางแผนจัดตั้งศูนย์บางอย่างเพื่อรับตรง เพราะต้องไม่ลืมว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับอะไรเลย งบประมาณสาธารณสุขจะประสบปัญหาตามมา วันนี้ต้องให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะกัดฟันช่วยตัวเอง ด้วยการออกส่วนหนึ่ง จะหวังฟรีทั้งหมดไม่ได้ สปสช.หรือ รพ.รัฐอาจออกมาทำโมเดลนี้ไม่ได้ เพราะสวนกระแสรัฐบาล แต่ รพ.เอกชนที่อยู่ในตลาดก็ทำไม่ได้เช่นกัน”
หมอเหรียญทอง กล่าวทิ้งท้ายว่าให้จับตาดูแคมเปญใหม่ที่อาจจะใช้นโยบายจ่ายคนละครึ่งเหมือนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยใช้มาแล้วในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุคนั้น!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j