xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกันตนได้ ‘บำนาญชราภาพ’ เพิ่มแค่เป้าแรก รุกต่อ 24 ล้านคนรักษาฟรีเท่าบัตรทอง-เงินประกันสังคม ‘TOP-UP’!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาตัวแทนผู้ประกันตนในบอร์ด สปส.เตรียมขยับ หลังต่อสู้ให้ผู้ประกันตน ม.33, 39 กว่า 13 ล้านคน ได้เฮ จาก ‘บำนาญชราภาพแบบ CARE’ นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานอนุฯ  แจงเล็งขยายสิทธิเงินสงเคราะห์บุตร จาก 6 ปี ไปเป็น 6-12 ปี อีก 2 แสนคน จากเงินกองทุน สปส. 2.6 ล้านล้านบาท ที่สร้างผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 5.9% ขณะเดียวกันชง ‘โมเดลสวีเดน’ ดึงผู้ประกันตนที่สมัครใจพร้อมจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่ม เพื่อนำไปสร้างดอกผล และให้ผู้ประกันตนมีส่วนในการบริหารพอร์ตเหมือน กบข. เป้าหมายใช้ยามเกษียณ ใครต้องการใช้เงินอนาคตเท่าไรก็จ่ายเพิ่มแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน ขณะที่สวีเดนให้ถึง 30% ส่วนสิทธิรักษา 24 ล้านคน ต้องได้เท่าบัตรทองโดยรัฐต้องรับผิดชอบ ส่วนเงินประกันสังคมใช้ ‘TOP-UP’ อยู่ที่การออกแบบและเจรจา หลังรมว.แรงงาน ตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่

ตลอดเดือนที่ผ่านมาข่าวเรื่องของประกันสังคมได้รับความสนใจจากสังคมและผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการออกมาเปิดโปงเรื่องการใช้เงินกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นงบในการทำแอป 850 ล้านบาท และการซื้อตึก SKYY 9 กว่า 7 พันล้าน ทั้งที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อเกินราคาแต่ถูกต้องตามระเบียบ หรือเรื่องการที่ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ออกมาเรียกร้องในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ซึ่งสิทธิผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินเองกลับด้อยกว่าสิทธิบัตรทองของ สปสช.

รวมถึงเรื่องของสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ที่ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ได้รับอยู่เดิมไม่เป็นธรรม จึงมีการเรียกร้องสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพแบบใหม่ ซึ่งวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อบอร์ด สปส.มีมติเห็นชอบสูตรคำนวณเงินบำนาญใหม่แบบ ‘CARE’ (Career Average Revalued Earnings) หรือ ‘เฉลี่ยตลอดการทำงาน ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน’ เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงและเป็นธรรมด้านบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนทุกกลุ่ม!

นี่คือความสำเร็จที่กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าซึ่งเข้าไปเป็นตัวแทนของฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ด สปส.และผู้ประกันตนเกือบ 14 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบ ม.33 จำนวน 11,882,607 คน และ ม.39 จำนวน 1,770,493 คน ย่อมยินดีปรีดา กับมติเอกฉันท์ดังกล่าว เพราะนี่คือเงินของพวกเขาที่จะใช้ยังชีพต่อไป

นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนบอร์ด สปส.ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ บอกว่า ผลการประชุมบอร์ด สปส.เมื่อวาน (11 มี.ค.) ที่ประชุมมีมติรับหลักการปรับสูตรบำนาญแบบ ‘CARE’ ให้ผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 และให้สำนักงานประกันสังคมกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม และเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ระยะเวลา 90 วัน

โดยรูปแบบการทำประชาพิจารณ์ขึ้นอยู่กับกระทรวงแรงงานจะเป็นรูปแบบเปิดเวที หรืออาจมีแบบฟอร์มให้ผู้ประกันตนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสูตรบำนาญใหม่ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกันตนเห็นด้วยกับสูตรใหม่แน่นอน และตัวเลขเงินบำนาญที่จะได้รับจะเป็นไปตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการประกาศไปเมื่อประมาณวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งคำนวณโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สปส.ได้นำเสนอไว้

นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนบอร์ด สปส.
สำหรับตัวอย่างสูตรบำนาญ ‘CARE’ เช่น สูตรเก่า vs สูตรใหม่ (CARE) นั่นผู้โพสต์ใช้ชื่อ Gim Napoom (Gim) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สปส.ได้นำเสนอไว้ดังนี้

สูตรเก่า

• ไม่คิดเศษเดือน (เช่น ส่ง 25 ปี 6 เดือน ก็ยังคิดเป็น 25 ปี)

• คำนวณเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งอาจทำให้ฐานเฉลี่ยต่ำลง

สูตรใหม่ (CARE)

• นับเศษเดือนด้วย (25 ปี 6 เดือน ได้อัตราบำนาญ 35.75% แทน 35%)

• คำนวณจากทุกเดือนที่ส่งสมทบ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ โดยปรับค่าเงินย้อนหลัง (Index) ให้เป็นปัจจุบัน

ส่วนปัญหาเพดานค่าจ้าง 15,000 บาท & มาตรา 39

ประเทศไทยไม่เคยปรับเพดาน 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน มายาวนานกว่า 30 ปี

ขณะที่มาตรา 39 ก็ใช้ฐาน 4,800 บาทคงที่มากว่า 30 ปี ส่งผลให้บำนาญของผู้ที่เปลี่ยนไปส่งมาตรา 39 นานๆ ต่ำตามไปด้วย

ทั้งนี้ต้องใช้วิธีปรับ (Index) ค่าจ้างย้อนหลัง “แบบพิเศษ” ดังนี้

• ก่อนปรับเพดาน ค่าจ้างมาตรา 33 ในอดีตจะถูก Index ได้ไม่เกิน 15,000 บาท

• หลังปรับเพดานเป็น 17,500 บาท (ปี 2569) สามารถ Index เกิน 15,000 บาทได้ (เช่น ถ้าปรับ 5% ก็เป็น 15,750)

• ฐาน 4,800 บาทของมาตรา 39 จะ Index เพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับฐานในอนาคต

• มีรายละเอียดย่อยเพื่อให้ผลลัพธ์โดยเฉลี่ยใกล้เคียงสูตร 60 เดือนสุดท้ายมากที่สุด

ที่สำคัญกติกา “เปลี่ยนผ่าน” จะทำให้ผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้ว (ประมาณ 800,000 คน) ไม่มีใครได้รับบำนาญลดลง แต่ถ้าคำนวณด้วยสูตรใหม่แล้วได้มากขึ้น ก็ปรับให้เพิ่มทันที โดยสูตร “CARE” นี่ไม่ใช่การ “เพิ่มบำนาญ” แต่เป็นการปรับให้ระบบยุติธรรมและยั่งยืน นั่นหมายถึง “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วน” อย่างแท้จริง พร้อมทั้งลดปัญหาสูตร 60 เดือนสุดท้ายที่บางคนใช้เพื่อให้ได้บำนาญสูงเกินจริง หรือกลุ่มมาตรา 39 ที่ฐานต่ำเกินไป และมีมาตรการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่กระทบผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้วหรือคนที่ใกล้เกษียณมากเกินไป


ประธานอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ ระบุว่า หลังทำประชาพิจารณ์ จะได้ข้อสรุปเป็นตัวเลขชัดเจนว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรกับบำนาญดังกล่าวเข้าสู่อนุกรรมการสิทธิประโยชน์เห็นชอบ จากนั้นคาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ จะนำเข้าบอร์ดใหญ่ สปส.ในช่วงเดือน มิ.ย. พิจารณาเห็นชอบ ก็จะประกาศเป็นผลบังคับใช้ได้ แต่อยู่ที่กระทรวงแรงงานว่าจะใช้เวลาในการประกาศนานแค่ไหน อาจ 1-3 เดือน แต่ถ้าเร็วสุด มิ.ย.2568 ก็น่าจะมีผลบังคับใช้ได้

“คนที่เคยได้บำนาญอยู่แล้ว จะมีการปรับตามสูตรใหม่ ถ้าสูตรใหม่ได้มากกว่า ก็ให้ใช้สูตรใหม่ แต่ถ้าสูตรเก่าได้มากกว่า ก็ใช้เกณฑ์สูตรเก่า ซึ่งผู้ที่รับบำนาญไปแล้วทั้งม.33 และ 39 รวม 8 แสนคน แต่จะมีผู้ประกันตนที่จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนคน”

อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นไปตามสูตรใหม่ หากคนเก่าที่เคยได้รับบำนาญไปแล้วพอเข้าสูตรใหม่ ได้น้อยกว่าให้ไปใช้ของเก่า เพราะสูตรนี้คำนวณ ‘ผสม’ เก่า+ใหม่ เป็นการครอบคลุมไปถึงการปรับเพดานเงินสมทบในปี 69 ซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงแรกของคนที่ปรับสูตรเพดานใหม่ จึงยึดหลักสูตรไหนได้มากกว่า ให้ใช้สูตรนั้น

“แต่หลัง 5 ปีไปแล้ว สูตรใหม่จะ cover เพดานเงินสมทบ ค่าเฉลี่ยออกมาจะไม่มีผลกระทบกับผู้ประกันตน ซึ่งในปี 2574 เป็นต้นไปจะใช้สูตรใหม่ (CARE) เต็มรูปแบบ”

นายธนพงษ์ บอกอีกว่า อนุสิทธิประโยชน์ กำลังวางแผนที่จะดำเนินการเรื่องการให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกส่งบำนาญเพิ่มเติมจากที่ส่งประกันสังคม หมายความว่าผู้ประกันตนที่มีรายได้สูง ต้องการจะได้รับบำนาญในอนาคตที่สูงขึ้นจากบำนาญที่ได้ปกติของ สปส. ที่คาดว่าตัวเลขเป็นเท่าไหร่จึงจะพอเลี้ยงชีพตัวเองได้ ก็ยินดีที่จะส่งเพิ่มเติมเท่านั้น เดิมประกันสังคมมีกฎหมายหักนายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5% แต่ถ้าฝ่ายลูกจ้างอยากส่งเพิ่มขึ้น มากกว่า 5% ตรงนี้ เป็นการ top up เพิ่มในเรื่องบำนาญย่อมทำได้

“ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับนายจ้าง หรือภาครัฐที่จะต้องมาสมทบตาม เป็นเรื่องผู้ประกันตนล้วนๆ ที่ต้องการออมและลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เก็บไว้ใช้ในอนาคต เหมือนที่กองทุน กบข.ดำเนินการ ซึ่งอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และทีมวิจัยกำลังศึกษา”




ในการผลักดันให้มีการส่งบำนาญเพิ่มเติมได้นั้น เราได้ทำการศึกษาจากโมเดลโครงสร้างการจัดบำนาญของประเทศสวีเดนที่ถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่นั่นมีการส่งเพิ่มเติมสูงสุดถึง 30% ของเงินเดือนผู้ประกันตน แต่เมื่อมาดูบริบทของประเทศไทย คาดว่าจะให้ส่งเพิ่มเติมได้สูงสุดไม่เกิน 15% เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน ก็เหมือนที่ส่งกองทุน กบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ

“เวลานี้กองงานวิจัยของประกันสังคมทำการศึกษา การสมทบเพิ่มจะเป็นเรื่องของรายบุคคล ซึ่งเป็นโมเดลของสวีเดน คือผู้ประกันตน มีกองที่อยู่ในประกันสังคม แต่ว่ากองที่คุณสมทบมาในกองประกันสังคม คือ จะให้คุณเลือกบริหารเองได้ คือว่า จะเอาไปลงทุนในกองทุนต่างๆ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม เป็นคนแนะนำ แล้วเราจะเอากำไรตรงนั้นมาคิดค่าเฉลี่ยบำนาญ ซึ่งทางสวีเดนใช้วิธีนี้ และทาง กบข. ใช้วิธีนี้”

ที่สำคัญกองทุนที่ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นมานั้น จะต้องทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเขามีเงินอยู่เท่าไหร่ บริหารได้กำไรเท่าไหร่ เหมือนที่ข้าราชการหักเงินเข้าไปใน กบข.นั่นเอง

“เราต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมในสมัยนี้ ซึ่งบอร์ด สปส. จะหมดวาระเดือน ก.พ.2569 ทำทุกอย่างให้พร้อม ถ้าเลือกตั้งสมัยหน้ากลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าเข้ามาได้ จะลงมือทำทันที ช่วงนี้เราจะโหมประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกันตน หลายคนอาจสงสัยทำไมมาเก็บเพิ่ม แต่จริงๆ เป็นเรื่องสมัครใจที่จะจ่ายเพิ่ม เพื่อจะเป็นหลักประกันในอนาคตให้พวกเราชาวแรงงานได้มีเงินบำนาญที่พอดำรงชีพได้ตามที่เราคาดหวัง เหมือนข้าราชการที่ได้เงิน กบข.ออกมาใช้หลังเกษียณ”

ไม่เพียงแค่นั้น อนุกรรมการสิทธิประโยชน์ยังเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องเงินสงเคราะห์บุตร ที่ผู้ประกันตนได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ม.ค.2568 จากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน/บุตร 1 คน สูงสุดไม่เกิน 3 คนต่อครอบครัว สำหรับบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ แต่อนุฯเห็นว่าควรจะขยายจาก 6 ปี เป็น 12 ปี จะส่งผลให้บุตรสมาชิกประกันสังคมกว่า 2 แสนคนได้สวัสดิการเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้สิทธิเงินสงเคราะห์บุตรจาก 800 เป็น 1,000 เกือบ 2 แสนคนเช่นกัน




“เราเสนอขยายช่วงอายุจาก 6 ไปถึง 12 ปี รวมแรงงานต่างด้าวที่เขาส่งประกันสังคมด้วย ก่อนหน้านี้ขยายช่วงอายุไม่ได้เพราะยังขยับเงินกองทุนไม่ได้ เดิมกองทุนประกันสังคมขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้าน ได้ผลตอบแทนแค่ 2% กว่าๆ แต่ตอนนี้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 5.9% จะนำตัวเลขผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปเสนอบอร์ด สปส.ว่าขยับให้ได้มั้ย จะทำเป็นขั้นบันได คือขยับเป็นช่วง 8 ปี 10 ปีและ 12 ปี ได้แค่ไหน อย่างไร คาดว่าน่าจะทันในสมัยประชุมนี้”

นายธนพงษ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่ตัวแทนผู้ประกันตนคาดหวังจากนี้ไปคือนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ซึ่งกำลังจะมีการแต่งตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่นั้น จะมีตัวแทนของฝ่ายผู้ประกันตนเข้าร่วมเป็นกรรมการในบอร์ดแพทย์ด้วย โดยเฉพาะเราต้องการผลักดันให้สิทธิประกันสังคมในการรักษา อะไรที่ด้อยกว่าบัตรทองของ สปสช.ต้องได้เท่ากัน

“โมเดลของเราสิทธิรักษาพยาบาล ก็เป็นบัตรทอง เป็นเงินของรัฐที่ สปสช. ดูแล คือรัฐต้องใส่เงินตรงนี้เพิ่มเข้าไปให้ สปสช. สำหรับผู้ประกันตน 24 ล้านคน เป็นมาตรฐานการรักษาเดียวกัน แต่การ Top-up ต่างๆ ของผู้ประกันตนซึ่งใช้เงินกองทุนฯ จะเป็นอย่างไรอยู่ที่การออกแบบและต้องเริ่มต้นด้วยการพูดคุย”

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าทีมประกันสังคมก้าวหน้า จะผลักดันสิทธิประโยชน์ใดๆ ให้ผู้ประกันตน 24 ล้านคน ได้หรือไม่ โดยเฉพาะสิทธิการรักษาประกันสังคม ต้องไม่ด้อยกว่าสิทธิบัตรทองของ สปสช.ที่ผู้ประกันตนคาดหวัง...

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น