กนง.กดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% หลังเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง ส่วน K Wealth ประเมินตลาดตราสารหนี้เป็นบวกนักการเงินชี้ลดดอกเบี้ยเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ถ้าจะหวังฟื้นเศรษฐกิจต้องพึ่งเศรษฐกิจโลก จับตานโยบายทรัมป์-การค้าโลกตัวชี้วัด
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากเดิมอยู่ที่ระดับ 2.5% ปรับลดลงครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เหลือ 2%
ทั้งนี้ รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีความพยายามกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หวังกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งมีความพยายามผลักดันให้คนเพื่อไทยอย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ติดขัดในเรื่องคุณสมบัติ
ดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2%
จนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว
กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการระบายสินค้าคงคลังที่สูง แม้อุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าขยายตัวดี มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง
ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวได้ ด้านอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและเกษตรแปรรูปเป็นหลัก ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามภาคการผลิตที่อาจถูกกดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs ที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่สูงจากสินค้านำเข้า โดยอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับดังกล่าวไม่ได้มีสัญญาณนำไปสู่ภาวะเงินฝืดหรือภาวะที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง และยังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและต้นทุนของผู้ประกอบการ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังทรงตัวในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ
ภาวะการเงินยังตึงตัว แม้การขยายตัวและคุณภาพของสินเชื่อในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณทรงตัวบ้าง แต่สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง ด้านการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง
คณะกรรมการเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยไม่กระทบต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว แต่เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มเปราะบาง รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ประเมินในครั้งนี้ และสามารถรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับลดลงเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งจำเป็นต้องใช้นโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในการยกระดับศักยภาพอย่างยั่งยืน
คาดลดลงอีก 1 ครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุม กนง. วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่างจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไว้ เนื่องจาก กนง. ให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมองเศรษฐกิจมีแนวโน้มไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตอุตสาหกรรม และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ กนง. มองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อ SMEs ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังและภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม
โดยมองเศรษฐกิจมีแนวโน้มไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตอุตสาหกรรม และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ กนง. มองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อ SMEs ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ แต่ไม่ใช่ในครั้งต่อไป โดย กนง. คงรอติดตามตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 1/2568 รวมถึงหลังเห็นภาพผลกระทบจากนโยบายการค้าชัดเจนขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังและภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม
มองตราสารหนี้บวก
บทความ K Wealth ของค่ายกสิกรไทย เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568 รายงานว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ในทางกลับกันก็สะท้อนถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว คาดว่าทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลจะใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
K WEALTH ยังมีมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทย และมีมุมมอง Positive ต่อการลงทุนตราสารหนี้ไทยที่มีระดับอัตราผลตอบแทนน่าสนใจเมื่อเทียบกับในอดีตและมีความผันผวนต่ำกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศ
หลังการประชุมครั้งนี้ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ในฐานะเลขานุการ ธปท. เผยว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ประเมินจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตน้อยกว่าที่ประเมินไว้ที่ 2.9% โดยอาจสูงกว่าระดับ 2.5% เล็กน้อย
มุมมองการลงทุน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ในทางกลับกันก็สะท้อนถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ที่ยังเปราะบาง ในระยะสั้น การลดดอกเบี้ยอาจช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินให้ภาคธุรกิจ แต่ในระยะยาวอาจต้องเฝ้าติดตามว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่
อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลจะใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้ จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา K WEALTH ยังมีมุมมอง Neutral ต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทย และมีมุมมอง Positive ต่อการลงทุนตราสารหนี้ไทย ที่มีระดับอัตราผลตอบแทนน่าสนใจ เมื่อเทียบกับในอดีตและมีความผันผวนต่ำกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศ
ต้องพึ่งเศรษฐกิจโลก
แหล่งข่าวจากวงการเงินกล่าวว่า แม้ว่า กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% ด้านหนึ่งเป็นไปตามที่ฝ่ายการเมืองอยากให้เป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าลดดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นตัวทันที เพราะต้องมีองค์ประกอบอื่นรวมเข้ามาด้วย
จากนี้คุณอาจได้เห็นสถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ยลงบ้าง แต่คงไม่ได้เห็นผลให้ยอดการผ่อนชำระลดลงไปมากเท่าไหร่ ทุกวันนี้หลายโรงงานก็ปิดตัวลง กำลังซื้อของคนก็ลดลง การเติมเงิน 1 หมื่นบาท 2 รอบที่ผ่านมา เรายังไม่เห็นว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นมาได้ ประการต่อมาเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการกีดกันทางการค้า ภายใต้ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ทุกอย่างมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องของดอกเบี้ยก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j