xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ภูมิใจไทย” ยอมยก มท.1 ให้ "นายใหญ่" แลกหยุดขุดคุ้ยปมฮั้ว ส.ว.-หวั่นกระทบคนสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.พิชาย” ชี้เพื่อไทย-ภูมิใจไทย เปิดศึกแผ่บารมี สร้างฐานอำนาจ ชิง “ก.มหาดไทย” ปูทางเลือกตั้งครั้งหน้า “นายใหญ่” สั่งเดินเกมถอดถอน ส.ว. ระบุหลักฐานการฮั้วพัวพัน “นักการเมืองคนสำคัญ” ของพรรคสีน้ำเงิน ความผิดร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรค บีบ “เสี่ยหนู” ยกเก้าอี้ มท.1 ให้เพื่อไทย แลกกับการเลิกขุดคุ้ยกรณีฮั้วเลือก ส.ว.

แลกกันหมัดต่อหมัดเลยทีเดียวสำหรับศึกระหว่างสองพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” ฝ่ายแดง กับ “ภูมิใจไทย” ฝ่ายน้ำเงิน ด้วยความที่เป็นพรรคใหญ่มากบารมีด้วยกันทั้งคู่จึงต่างไม่มีใครยอมใคร และนำไปสู่รอยร้าวภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อะไรเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” กับพรรคภูมิใจไทย ที่มี “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นผู้กุมบังเหียน และรอยร้าวดังกล่าวจะขยายตัวถึงขั้น “รัฐบาลแตก” บางพรรคต้องแยกย้ายสลับขั้วไปเป็นฝ่ายค้านอย่างที่มีเสียงเล่าลือกันหรือไม่

รศ.ดร.พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยนั้นเป็นความร่วมมือกันท่ามกลางการแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองพรรคมีเป้าหมายที่จะช่วงชิงการนำทางการเมือง และช่วงชิงคะแนนนิยมเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยต่างก็เป็นพรรคอันดับหนึ่งและพรรคอันดับสองที่ฐานสียงบางส่วนทับซ้อนกันอยู่

ในช่วงแรกพรรคภูมิใจไทยยังอยู่ภายใต้การนำของเพื่อไทย แต่ภูมิใจไทยเริ่มมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเมื่อสามารถใช้กลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในการช่วงชิงและคุมเสียงของวุฒิสภาได้ ซึ่งทำให้อำนาจของภูมิใจไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก จึงเริ่มเปิดเกมรุกเพื่อช่วงชิงการนำทางการเมือง โดยนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เริ่มแสดงความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับหลายๆนโยบายของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านการร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย คัดค้านกฎหมายประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ หรือคัดค้านโครงการกาสิโนถูกกฎหมายที่ใช้ชื่อว่าโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยต่างกุมอำนาจกันคนละด้าน และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง ที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่ดินอัลไพน์ ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และกรณีที่ดินเขากระโดง ของนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น ก่อนที่จะลงจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้มีคำสั่งยกเลิกกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์และคืนให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ขณะที่พรรคเพื่อไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ได้ตอบโต้ด้วยการสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อคัดค้านคำสั่งของกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเขากระโดงของการรถไฟที่ตระกูลชิดชอบครอบครองอยู่

จากนั้นความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทยก็เข้มข้นขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งมีการปะทะคารมและแซะกันไปมาระหว่างผู้มากบารมีของทั้งสองพรรค โดย นายทักษิณ ชินวัตร “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” แห่งพรรคเพื่อไทย และ “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ของนายกฯ แพทองธาร ซึ่งไปช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียง แขวะไปถึงพรรคภูมิใจไทยว่า “ไล่หนูตีงูเห่า” ส่วนพรรคภูมิใจไทยเมื่อชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ศรีสะเกษ ก็ล้อเลียนทักษิณโดยเอาปี๊บคลุมหัวคนของตัวเองที่ชนะการเลือกตั้ง และเห็นได้ว่าเกมรุกของภูมิใจไทยนั้นเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

“จะเห็นได้ว่าสองพรรคนี้แข่งขันช่วงชิงคะแนนกันใน 2 ส่วน คือ 1.ช่วงชิงกันในพื้นที่บ้านใหญ่ และ 2.ช่วงชิงกันด้านนโยบายเพื่อสร้างคะแนนนิยม ซึ่งเห็นชัดว่านโยบายของเพื่อไทยกับภูมิใจไทยไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เช่น นโยบายกัญชา เพื่อไทยพยายามดึงกลับมาให้เป็นยาเสพติด ซึ่งขัดแย้งกับภูมิใจไทยที่มีนโยบายกัญชาเสรี ที่ผ่านมาถ้ามองในจุดของเพื่อไทยรู้สึกว่าอำนาจทางการเมืองของเขาถูกคุกคามซึ่งจะกระทบถึงการเลือกตั้งในปี 2670 ที่ทักษิณประกาศว่าจะได้ 200 ที่นั่ง โดยพื้นที่ช่วงชิงในการเลือกตั้งจะเน้นไปที่บ้านใหญ่ ส่วนภูมิใจไทยหลังจากที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2568 ก็สามารถขยายอำนาจในกลุ่มบ้านใหญ่ได้ค่อนข้างมาก ในขณะที่บารมีของทักษิณค่อนข้างถดถอยในพื้นที่บ้านใหญ่” รศ.ดร.พิชาย กล่าว


รศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเริ่มเปิดเกมรุกกลับผ่านพรรคพันธมิตร โดยคณะทำงานของกระทรวงเกษตร ที่มี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการได้เข้าตรวจสอบที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยที่ดิน 1 ใน 3 แปลงที่เข้าตรวจสอบคือสนามกอล์ฟของครอบครัวนายอนุทิน และใครๆ ก็รู้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ก่อตั้งพรรคกล้าธรรม มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทักษิณ

ขณะเดียวกัน ภูมิใจไทยก็ตอบโต้ด้วยเกมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อไทยพยายามทำมาตลอด โดยภูมิใจไทยประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม ขณะเดียวกันเครือข่าย ส.ว.สีน้ำเงินยังร่วมประชุมสภาอยู่ เมื่อทางด้านเพื่อไทยต้องการให้มีการเลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2) ก่อนที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แต่ปรากฏว่า ส.ว.ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทยโหวตไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับทางฝ่ายค้าน ทำให้ญัตติที่ นพ.เปรมศักดิ์เสนอซึ่งอยู่ในลำดับ 3 ไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ ส่งผลให้ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง

หลังจากนั้นไม่นานพรรคเพื่อไทยก็ปฏิบัติการเอาคืนโดยยื่นเรื่องฮั้วเลือก ส.ว.ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณา โดยพุ่งเป้าไปที่ ส.ว.สายสีน้ำเงินที่มีสายสัมพันธ์กับภูมิใจไทยโดยเฉพาะ ซึ่งทันทีที่ได้รับเรื่องทางคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ก็เรียกประชุมทันที โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะพิจารณาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการฯได้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าต้องเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงก่อน

“ก่อนเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ภูมิใจไทยยังได้เปรียบเพื่อไทยอยู่ กระทั่งหลังเลือกตั้งคุณอนุทินมาพลาดพลั้งเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้เสียรังวัดไปพอสมควรและเสียคะแนนนิยมเพราะเรื่องนี้ กรณีที่ดินอัลไพน์ก็ดูเหมือนจะทำอะไรเพื่อไทยไม่ได้ พอประกาศให้กลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ก็จบแค่นั้น ขณะที่เพื่อไทยก็รุกภูมิในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ การตรวจสอบที่ดินของคุณอนุทินก็ดี เรื่องคดีฮั้วเลือกตั้ง ส.ว.ก็ดี เพื่อต้องการลดทอนอำนาจทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย เพราะเพื่อไทยต้องการช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา อย่างกรณี ส.ว. เพื่อไทยต้องการเปลี่ยน ส.ว. 138 คน ที่ถูกระบุว่าเจอโพยฮั้วออก แล้วเอา ส.ว.สำรองขึ้นมาแทน แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้นจะใช้เรื่องนี้สร้างแรงกดดันให้ ส.ว.สีน้ำเงินย้ายข้าง มาสนับสนุนแนวทางของเพื่อไทย ทั้งในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและการเลือกกรรมการในองค์กรอิสระ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ส.ว.สีน้ำเงิน
ส่วนว่าความร้าวฉานระหว่างทั้งสองพรรคจะถึงขั้นปรับภูมิใจไทยออกจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันหรือไม่นั้น “รศ.ดร.พิชาย” ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ ซึ่งสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค.2568 นี้ จะมีอยู่ 4 แนวทาง คือ 1) อาจจะมีการเจรจาต่อรองกันระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย และเลิกรากันไป โดยดุลอำนาจยังอยู่ที่ภูมิใจไทย 2) มีการเจรจาต่อรองกัน โดยดุลอำนาจไปอยู่ในมือเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องสามารถทำให้ ส.ว.ย้ายมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย 3) ภูมิใจไทยยังอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลแต่ดุลอำนาจไปอยู่ที่เพื่อไทย มีการแลกกระทรวงกันโดยโยกกระทรวงมหาดไทยไปอยู่ในความดูแลของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเกิดกรณีเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อภูมิใจไทยต้องถูกรุกกระทั่งจนแต้ม และ 4) ภูมิใจไทยไม่ยอมปล่อยกระทรวงมหาดไทยให้เพื่อไทยอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ เป้าหมายหนึ่งที่เพื่อไทยต้องการคือยึดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นของพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อจะช่วยสนับสนุนพรรคให้มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่การเมืองที่มีบ้านใหญ่ ซึ่งเพื่อไทยวางเป้าหมายไว้ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ ส.ส. 200 ที่นั่ง ซึ่งหากดึงกระทรวงมหาดไทยมาไม่ได้โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้ 200 ที่นั่งก็คงน้อยเต็มที และสิ่งที่นายทักษิณฝันไว้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งก็คงต้องฝันค้างอีกสมัย

“ปฏิบัติการที่จะทำให้เพื่อไทยได้กระทรวงมหาดไทยมาคือการกดดันเพื่อต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอดถอน ส.ว.สีน้ำเงิน ซึ่งมีข่าวว่าจะเชื่อมโยงกับคนสำคัญของภูมิใจไทย และในรายงานของดีเอสไอนั้นมีข้อมูลการโทร.ติดต่อกัน ซึ่งหากดีเอสไอเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นตระกูลการเมืองชื่อดัง ที่สำคัญข้อมูลนี้อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้เลยทีเดียว เพราะการที่มีนักการเมืองของพรรคเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฮั้วเลือกตั้ง ส.ว.อาจเป็นไพ่ที่จะถูกนำมาใช้ในการต่อรอง นอกจากนั้นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจถูกนำใช้ต่อรองคือการตรวจสอบที่ดินของคุณอนุทิน อย่าลืมว่าเมื่อครั้งที่มีตรวจสอบรีสอร์ตหรูของหวานใจคนบ้านป่าก็มีการต่อรองกัน จากนั้นคุณธรรมนัส สามารถออกจากพรรคพลังประชารัฐได้แบบไร้ปัญหา” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า หากหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคภูมิใจไทยไม่ยอมปล่อยกระทรวงมหาดไทยให้เพื่อไทย ทางด้านพรรคเพื่อไทยจะมีทางเลือก 2 ทางคือ 1.อยู่แบบยอมจำนนให้ภูมิใจไทย ซึ่งโอกาสที่เพื่อไทยจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะน้อยมาก หรือ 2.เขี่ยภูมิใจไทยออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้คนของเพื่อไทยได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ รมว.มหาดไทย แทน ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยเหลือแค่ 250 เสียง ซึ่งถือว่าปริ่มน้ำมาก ถ้าจะให้รัฐบาลอยู่รอดได้สักระยะหนึ่งอาจจะต้องไปดึง ส.ส.พลังประชารัฐ มาสัก 10 เสียง แต่ไม่ใช่เป็นการดึงพลังประชารัฐทั้งพรรคมาร่วมรัฐบาลเนื่องจากนายทักษิณกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั้นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง นอกจากนั้นเพื่อไทยอาจจะไปดึงพรรคเล็กพรรคน้อยมาร่วม รวมแล้วได้สัก 260 กว่าเสียง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเสียงพอที่จะประคับประคองกันไปได้ถึงเดือน ธ.ค.2568 จากนั้นเพื่อไทยก็สามารถใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยขยายอำนาจเพื่อเตรียมการในการเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไปได้

“ช่วงเดือน ม.ค.2569 ฝ่ายค้านมีโอกาสอภิปรายไม่ได้วางใจอีกครั้ง ซึ่งอาจะเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาลเพราะว่าเสียงปริ่มน้ำมาก พรรคเพื่อไทยอาจจะตัดสินใจยุบสภา ไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้า ดังนั้นถ้าหากเพื่อไทยกับภูมิใจไทยแตกกันอาจจะประเมินได้ว่าโอกาสที่จะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นมีสูงมาก” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น