“รศ.ดร.ปณิธาน” เผยยิวที่เข้ามาไทยมี 3 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มที่มีปัญหาคือนักท่องเที่ยวแบ็กแพก ซึ่งเป็นนักรบที่เข้ามาท่องเที่ยวหลังปลดประจำการ ชี้ต้องให้ “ฝ่ายความมั่นคง” ลงไปจัดระเบียบ คนกลุ่มนี้จึงจะเกรงใจ อีกทั้งหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปตรวจสอบกรณีที่อาจจะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต แนะจับตาและวางมาตรการป้องกันการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งเป็นตรงข้ามกับอิสราเอล เพราะเคยเกิดเหตุในไทยมาแล้วหลายครั้ง!
เป็นประเด็นร้อนทีเดียวสำหรับกรณีที่ “ชาวยิว” หรือคนอิสราเอลที่ไปท่องเที่ยวและพำนักใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของไทย ได้สร้างความวุ่นวาย ไม่เคารพกฎหมาย มีการรวมกลุ่มตั้งชุมชนและประกอบอาชีพต่างๆ จนเกิดกระแส “ต่อต้านชาวยิวยึดเมืองปาย” ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งลงไปแก้ไขปัญหา
ส่วนว่าเหตุใดนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจึงมีพฤติกรรมดังกล่าว และทางการไทยจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ด้วยวิธีใด เพื่อไม่ให้กระทบภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว คงต้องไปฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านการต่างประเทศ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วงที่ไม่มีสงครามนักท่องเที่ยวอิสราเอลจะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน แต่ช่วงนี้อาจจะลดลงบ้าง โดยชาวอิสราเอลที่เข้ามาไทยนั้นมี 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มครอบครัว กลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มักเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าทั่วไป
2.กลุ่มที่ปลดประจำการจากการสู้รบ จะมาท่องเที่ยวแบบอิสระในลักษณะแบ็กแพกเกอร์ เดินทางท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ เป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่เพราะอาจมีปัญหากับกลุ่มที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล ซึ่งระยะหลังนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะกระจายออกไปท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งในกลุ่มนี้บางคนมีหมายจับและเล็ดลอดเข้ามาในไทย เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต และที่สมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเข้ามาลอบสังหารกัน ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เป็นแบ็กแพกเกอร์
3.กลุ่มที่มาแต่งงานกับคนไทยและเริ่มตั้งรกรากอยู่ไทยแบบถาวร ซึ่งกลุ่มนี้พบมากที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จากข้อมูลพบว่ามีอยู่ประมาณ 20 ครอบครัว กลุ่มนี้จะมีการซื้อที่ดินและทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่หมดภารกิจหรืออยู่ระหว่างพักผ่อนหลังจากสู้รบให้มาพักผ่อนและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ นักท่องเที่ยวอิสราเอลมักไปรวมกันที่นั่น มีการจัดงานเลี้ยงรื่นเริงส่งเสียงดัง จึงกระทบกระทั่งกับคนในชุมชน อย่างไรก็ดี ต้องดูตัวเลขที่ชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยว่าชาวอิสราที่แต่งงานกับคนไทยนั้นมีจำนวนเท่าไหร่
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า เนื่องจากอิสราเอลกลุ่มที่แต่งงานกับคนไทยมีผู้นำทางศาสนาเข้ามาอยู่ด้วย และมีการตั้งโบสถ์ขึ้น จึงทำให้เกิดการพบปะและไปมาหาสู่กันของบรรดานักท่องเที่ยวอิสราเอลกลุ่มแบ็กแพกเกอร์ จากนั้นการรวมกลุ่มก็เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบ เป็นหลักร้อย หลักพัน จนปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เข้าๆ ออกๆ ปายหลักหมื่นคน และมีกรณีที่เกิดการกระทบกระทั่งกับคนท้องถิ่น มีคดีความขึ้นโรงพัก ทำให้มีประเด็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความไม่พอใจของคนท้องถิ่นและเจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังที่ปรากฏเป็นข่าว
ดังนั้น จึงต้องมีการจัดระเบียบคนเหล่านี้ให้เหมาะสม ซึ่งคิดว่ากระทรวงมหาดไทยน่าจะมีตัวเลขของคนอิสราเอลที่มาแต่งงานกับคนไทยหรือมาอยู่ระยะยาวว่ามีเท่าไหร่ สถานภาพของแต่ละคนเป็นอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหน ขอเปลี่ยนสัญชาติ หรือขอพำนักถาวร การอยู่อาศัยเป็นแบบไหน มีการซื้อที่ดินหรือไม่ มีการประกอบอาชีพด้วยอะไรหรือเปล่า ถ้ามีการประกอบอาชีพได้ขออนุญาตและเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่
“ที่เป็นประเด็นปัญหาตอนนี้คืออิสราเอลที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนแบบแบ็กแพกเกอร์ ซึ่งกลุ่มนี้จะอายุ 20-50 ปี และส่วนใหญ่ผ่านปฏิบัติการทางการทหารมาแล้ว เพราะอิสรเอลเขาเกณฑ์พลเมืองไปสู้รบตลอดเวลาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย กลุ่มนี้จึงมีลักษณะที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป บางคนก็ก้าวร้าว บ้างก็เมาสุรา ขับรถหวาดเสียว เป็นคดีความกัน อิสราเอลที่ทำมาหากินอยู่ในปายก็มีทั้งอิสราเอลที่แต่งงานกับคนไทยและอิสราเอลที่มาอยู่แบบระยะยาว ซึ่งบางส่วนมาอาศัยเชื่อมต่อกับครอบครัวอิสราเอลที่แต่งงานกับคนไทยและตั้งรกรากอยู่ในไทยแล้ว นอกจากนั้นปัจจุบันใน อ.ปายยังมีชาวมุสลิมเชื้อสายจีนฮ่อซึ่งตั้งรกรากอยู่ที่นั่นมานานพอสมควรและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปดูแล” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาชาวอิสราเอลที่สร้างความวุ่นวายในปายนั้น “รศ.ดร.ปณิธาน” ระบุว่า ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องวางนโยบายให้ชัดเจน รัฐต้องกำกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งเรื่องการพำนัก การซื้อที่ดิน ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบอาชีพและต้องเสียภาษี ก็จะช่วยให้สถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลาย คิดว่าในสัปดาห์หน้าสถานทูตอิสราเอลอาจจะมีทีมงานลงไปดูในพื้นที่ ก็คงได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น ขณะที่กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานของไทยน่าจะร่วมกับสถานทูตอิสราเอลจัดระบบขึ้นมา
ส่วนข้อมูลที่มีการโพสต์กันว่าชาวปายได้รับความเดือดร้อนจากนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เปิดเพลงเสียงดัง ไม่เคารพกฎระเบียบ ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ขับรถน่ากลัว เข้ามาแย่งอาชีพ ทำร้านอาหาร ทำรีสอร์ตก็เป็นข้อมูลที่ภาครัฐต้องเข้าไปตรวจสอบ อย่านิ่งนอนใจ ปัญหาที่ปายเป็นเรื่องที่ต้องรีบแก้ไข จะมองว่าปายเป็นแค่พื้นที่เล็กๆ อำเภอเล็กๆ ไม่ได้อีกต่อไป เพราะตอนนี้ปายขึ้นแผนที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นความกังวลของไทยและความกังวลระหว่างประเทศไปแล้ว
“ข้อสำคัญคือต้องเอาหน่วยงานงานด้านความมั่นคงเป็นแกนหลักในการลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวอิสราเอล เพราะนักท่องเที่ยวแบ็กแพกชาวอิสราเอลทั้งผู้ชายและผู้หญิงเขาเป็นนักรบที่เพิ่งปลดประจำการมา คนเหล่านี้เขาจะเข้าใจเรื่องวินัยและระเบียบกติกาถ้าคุยกับฝ่ายความมั่นคง ซึ่ง หัวหน้า กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ที่แม่ฮ่องสอน ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็น่าจะไปตั้งคณะทำงานเพื่อพูดคุยกับคนเหล่านี้ จะสามารถพูดคุยกันรู้เรื่องเพราะเขาจะเกรงใจ กอ.รมน.ก็สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลและระบุตัวตนของคนเหล่านี้ได้ แต่ถ้าเอาเจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวหรือเจ้าหน้าที่แรงงานลงไปเขาไม่ฟังหรอก เราต้องใช้รูปแบบการจัดระเบียบนักท่องเที่ยวแบบพัทยาซึ่งเขาเคยจัดระเบียบนักท่องเที่ยวที่เป็นนักรบ เพิ่งลงมาจากเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนหลายพันคน เราก็อาศัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปจัดระเบียบ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ต่างชาติก็ลงไปช่วยกัน ซึ่งที่จริงปัญหาของพัทยาน่าจะยากกว่าปายเยอะเนื่องจากมีสถานบันเทิงเยอะ มีการดื่มสุรา และเป็นกำลังพลที่ลงมาจากเรือจริงๆ แต่ก็สามารถแก้ได้ ขณะที่ปายส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
ส่วนความกังวลที่ว่าชาวอิสราเอลจะพากันมาตั้งรกรากในไทย มายึดที่ทำกินของคนไทยนั้น “รศ.ดร.ปณิธาน” ระบุว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะเรื่องนี้มาจากความกังวลของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยตรง เขามองว่ามีคนต่างชาติเข้ามาแบบผิดกฎหมายและมาแย่งอาชีพ แย่งงานทำ ซึ่งความรู้สึกในลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย ตอนนี้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงบางประเทศในเอเชีย ก็มีการจัดระเบียบคนต่างด้าวที่เข้าไปทำงานและตั้งรกรากในประเทศของเขา มีการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย แย่งงานแย่งอาชีพของคนท้องถิ่น แม้แต่แม็กซิโก แคนนาดา ซึ่งไม่เคยจัดระเบียบ เมื่อถูกสหรัฐฯ กดดันก็ต้องลุกขึ้นมาทำ ซึ่งสถานการณ์ก็ดีขึ้น ดังนั้นถ้าไทยไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีการป้องกัน ก็จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเหล่านี้เข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่ง สมช. กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ หน่วยงานที่อนุมัติวีซ่าให้คนต่างชาติเข้ามา สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจสันติบาล ต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อดูแลกวดขันคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักระยะยาว เข้ามาทำงาน ว่ามีใบอนุญาตถูกต้องไหม
อย่างไรก็ดี ต้องดูเป็นแต่ละกรณีไป เพราะหากย้อนไปดูในอดีตจะพบว่าการอพยพของชาวยิวเข้าไปอยู่ในหลายประเทศของยุโรป และในเอเชียบางส่วน ในตะวันออกกลางบางส่วน โดยเฉพาะในยุโรปและในสหรัฐอเมริกานั้นเกิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้ชาวยิวที่อยู่ในยุโรปอยู่แล้วต้องอพยพออกนอกประเทศไปอยู่ในประเทศที่เขาคิดว่าปลอดภัย พอมีการตั้งรัฐอิสราเอลเขาก็กลับไปอยู่ในประเทศของเขา แต่ยังมีบางส่วนที่ยังอยู่ในรัสเซีย เอธิโอเปีย หรือแอฟริกา ส่วนอิสราเอลจะพากันมาตั้งรกรากในไทยไหมก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน
“ที่คนไทยวิตกว่าอิสราเอลจะมายึดปายก็อาจเป็นเพราะลักษณะนิสัยของชาวอิสราเอลที่มีความแข็งกร้าว และบางคนไม่เคารพกฎกติกา ซึ่งขัดกับลักษณะนิสัยของคนไทย ทำให้รู้สึกว่าหากอยู่ร่วมกันจะเกิดปัญหา ซึ่งต่างจากคนญี่ปุ่นหรือบางเชื้อชาติที่แม้จะอยู่รวมกันเป็นชุมชนในประเทศไทยก็ไม่มีปัญหากับคนไทย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
อีกประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกคือนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่เข้าเที่ยวและพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลานาน อาจจะตกเป็นเป้าของกองกำลังก่อการร้ายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอิสราเอล ซึ่ง “รศ. ดร.ปณิธาน” มองว่า เรื่องนี้กระทบต่อความมั่นคงของไทยอย่างแน่นอน จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในอดีตเคยมีหลายเคสที่เราสามารถจับกุมชาวอิหร่านที่มาเมืองไทยเพื่อก่อเหตุสังหารชาวอิสราเอล โดยเฉพาะทหารระดับสูง และเคยมีกรณีที่คนอิสราเอลมาประกอบศาสนกิจที่โบสถ์ของพวกเขาที่ถนนข้าวสาร แล้วเกิดเหตุการณ์หลายครั้ง มีความพยายามในการโจมตี สังหาร กราดยิง รวมถึงการวางระเบิดเพื่อหมายเอาชีวิตชาวอิสราเอล แต่เจ้าหน้าที่ของไทยสกัดไว้ได้ ตอนแรกทางการไทยพยายามแจ้งให้ชาวอิหร่านย้ายโบสถ์ออกไปจากถนนข้าวสารด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายการวางระบบป้องกันเหตุก็สามารถเซฟไว้ได้ ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลถนนข้าวสารไม่เข้มแข็ง ป้องกันเหตุไม่ได้ก็จะกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในวงกว้าง ถือว่าการวางระบบประสบความสำเร็จ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิดเหตุอะไร
“แม้แต่สถานทูตอิสราเอลก็เคยเกิดเหตุถูกโจมตีมาแล้วหลายครั้ง มีการเอาระเบิดใส่ไว้ในรถยนต์ขนาดใหญ่และจะให้คนขับรถพุ่งเข้าชนสถานทูต แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับไว้ได้ก่อน และตรวจค้นเจอระเบิดขนาด 1 ตัน ตอนนั้นก็เอาไปเก็บไว้ที่ สน.ลุมพินี ทำให้สถานทูตอิสราเอลต้องย้ายจากถนนหลังสวนไปอยู่ที่บนตึกโอเชียนทาวเวอร์ ที่สุขุมวิท หรือกรณีที่กองกำลังปาเลสไตน์บุกยึดสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งจับตัวประกันชาวยิว เมื่อปี 2515 ซึ่งครั้งนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้าไปเป็นหัวหน้าทีมเจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวประกัน ดังนั้นต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลความปลอดภัยที่ปาย และไม่ใช่ที่ปายอย่างเดียว แหล่งท่องเที่ยวทางใต้อย่างภูเก็ต สมุย ก็มีชาวยิวไปตั้งรกราก และมีกรณีคนร้ายอันดับต้นๆ ที่อิสราเอลต้องการตัว แล้วก็มีการไล่ล่าสังหารกันกลางตลาดเมื่อหลายปีก่อน แต่มาจับได้โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่สนามบินขณะกำลังจะหลบหนี ซึ่งน่ากลัวมากเพราะเห็นเลยว่าขีดความสามารถของเขาสูงมาก และเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของไทยต้องตื่นตัวและทำงานเชิงรุก โดยฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยต้องทำงานร่วมกัน เพราะการตั้งรับอย่างเดียวอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการก่อเหตุได้” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j