ชี้พิรุธ ร่าง “พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า” ของนายเลาฟั้ง ส.ส.กลุ่มชาติพันธุ์ พรรคประชาชน ให้ “นักสิทธิมนุษยชน-เอ็นจีโอ-สายท่องเที่ยว” นั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ตัดอธิบดีกรมอุทยานฯ ออกจากเลขาฯ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนประชาชนทั่วไปหมดสิทธิปกป้องผืนป่า แบบกรณี Saveทับลาน อีกทั้ง “เลาฟั้ง” ยังเดินหน้าค้าน พ.ร.ฎ 2 ฉบับ เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สามารถยึดครองป่าได้ถาวร มากกว่าครอบครัวละ 20 ไร่ สร้างโรงงาน-โรงแรมได้ตามใจชอบ รวมถึงให้ “คนไร้สัญชาติ” ได้สิทธิครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าของไทย ขณะที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ขานรับข้อเสนอ “สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า” ด้าน “ผอ.ชัยวัฒน์” ระบุ จำนวนคนไร้สัญชาติเพิ่มขึ้นผิดปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หวั่นสวมสิทธิยึดที่ทำกิน
เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียลขณะนี้ต่อกรณีที่ “พรรคประชาชน” พยายามผลักดันกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ “กลุ่มชาติพันุธุ์” และ “คนไร้สัญชาติ” มีเอกสิทธิ์เหนือประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่เสนอโดย “นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล” ส.ส.กลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคประชาชน ซึ่งกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยสังคมตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไปผูกโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิ “กลุ่มชาติพันธุ์” และ “คนไร้สัญชาติ” ที่อ้างว่าเป็นคนพื้นที่สูงซึ่งอยู่ระหว่างรอขอสัญชาติ ให้สามารถอยู่อาศัย ทำมาหากิน และมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ป่า โดยแทบไม่มีหน่วยงานใดสามารถแตะต้องได้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งเพราะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “พื้นที่ป่า” เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า” ที่เสนอโดยนายเลาฟั้งนั้น เป็นการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาอย่างมากคือ มาตรา 39 และมาตรา 48
โดย มาตรา 39 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า” ซึ่ง พ.ร.บ.ที่ออกในปี 2562 ระบุว่า ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง ให้มีจำนวน 5-7 คน โดยให้แต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านสัตว์ป่า ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชุมชน หรือด้านกฎหมาย โดยให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นกรรมการและเลขานุการ ขณะที่ พ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายเลาฟั้งนั้น ระบุว่า ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง ให้พิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สิทธิมนุษยชนวิทยา วนศาสตร์ การอนุรักษ์หรือคุ้มครองสัตว์ป่า การท่องเที่ยว และการปกป้องคุ้มครองสิทธิที่ดิน สาขาละ 1 คน
ซึ่งสังเกตได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ของนายเลาฟั้งมีการเพิ่ม “นักสิทธิมนุษยชน” และ “เอ็นจีโอด้านสิทธิที่ดิน” เข้าไปเพื่อช่วยเรียกร้องสิทธิให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า หรืออ้างว่าอยู่ในป่ามานาน รวมถึงเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน “การท่องเที่ยว” ซึ่งดูแล้วน่าจะ“ขัดกับวัตุประสงค์”ของการอนุญาตให้คนอยู่กับป่า เพราะหากนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้าไปอาจนำไปสู่การสร้างรีสอร์ตหรือที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยนายเลาฟั้ง ยังมีการตัดผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัดอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งตาม พ.ร.บ.เดิมกำหนดให้เป็นกรรมการหรือเลขานุการ ออกด้วย ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายถือว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาข้อขัดแย้งเรื่องคนอยู่กับป่าที่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าโดยตรง
ส่วน มาตรา 48 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นั้นเป็นเรื่องของการกำหนดพื้นที่ให้เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ซึ่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ระบุว่า พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใด เว้นแต่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ และการกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และความเห็นจาก“ประชาชนทั่วไป”
ขณะที่พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.ที่เสนอโดยนายเลาฟั้ง นั้นได้เพิ่มข้อความว่า ต้องไม่ได้เป็นที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือนโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล เว้นแต่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ และหากปรากฏว่ามีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน หรือได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องให้คนเข้าไป “ครอบครองทำประโยชน์” แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า หรือแอบอ้างว่าอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนที่จะกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.ของนายเลาฟั้ง ยังระบุว่า การเตรียมการเพื่อกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การขยาย หรือเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือแผนที่แนวเขตให้ประชาชนได้รับทราบ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนที่เกี่ยวข้อง แต่ตัด “ประชาชนทั่วไป” ไม่ให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่จริงๆ แล้วพื้นที่ป่าคือทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันปกป้องและอนุรักษ์ ดังที่ปรากฏในกรณี Saveทับลาน เพราะการมีอยู่หรือหมดไปของพื้นที่ป่าย่อมมีผลต่อสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ และแน่นอนว่าหากผู้มีสิทธิแสดงความเห็นมีแค่ “ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่” ความเห็นที่ออกมาย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลเหล่านี้เท่านั้น อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ.ของนายเลาฟั้งนั้นไม่ได้ระบุว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าวคือใครบ้าง? จึงอาจเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มทุนส่งคนของตัวเองเข้าไปแทรกแซงได้
ด้าน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มุมมองที่น่าสนใจ ว่า คนที่จะมาเป็นคณะกรรมการและสัดส่วนของคณะกรรมการนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ยกตัวอย่าง กรณีที่คณะกรรมาธิการฯ ของสภาผู้แทนราษฎร คณะหนึ่ง ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ขึ้นมาเพื่อผลักดันกฎหมายดังกล่าวเข้าสภา ทาง กมธ.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคประชาชน ก็เชิญตนในฐานะ ผอ.สำนักอุทยานฯ ไปร่วมเป็นกรรมาธิการในการพิจารณา แต่ความเห็นของตนไม่มีน้ำหนักอะไร เพราะเสียงส่วนใหญ่เป็นพวกเดียวกันหมด เป็นคนที่ กมธ.ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยกันผลักดันเรื่องนี้
“ผมพูดอะไรเขาก็ไม่สนใจ นั่งเป็นหัวหลักหัวตอ เขาเอาเฉพาะความเห็นจากคนของเขา พอเรื่องผ่าน กมธ.วิสามัญ เขาก็บอกว่าทางกรมอุทยานฯ มาร่วมพิจารณาด้วยนะ ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร พอมองเห็นขบวนการไหมครับ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ของนายเลาฟั้งนั้นสอดรับกับข้อเรียกร้องของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า” ซึ่งได้มีการชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 จำนวน 4 ข้อ คือ
1.ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย
2.ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” จากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เป็นรายอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทุกๆ พื้นที่เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน
3.ขอให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา
4.ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับแล้วเสร็จ
โดยสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าอ้างว่า พ.ร.บ.ที่ออกในปี 2562 ส่งผลกระทบกับประชาชนที่มีที่ทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 462,444 ครัวเรือน หรือ 1,849,792 คน และจะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐกับชุมชนคนอยู่ในป่ามากยิ่งขึ้น
ซึ่ง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวจากสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า ก็รับปากว่า นำเรียนเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี และจะนำไปสู่กระบวนการขั้นตอนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ประชุมได้หารือกันถึงเรื่องกฎหมายที่ถูกร้องเรียนจาก “สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า” ว่าส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งก็คือ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นกฎหมายรองที่จะออกมาเพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิของคนที่อยู่กับป่า ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
โดยร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยและมีพื้นที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าว โดยวันที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้ว ประชาชนก็ยังสามารถอยู่อาศัยและทำกินชั่วคราว โดยมีการกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินอย่างชัดเจน แต่ไม่มีการขยายพื้นที่อีก
ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในโครงการคนอยู่กับป่านั้นได้กำหนดไว้ในแผนที่แนบท้าย ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ จำนวน 4 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น จังหวัดจันทบุรี อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
ซึ่ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เปิดเผยถึงคุณสมบัติของผู้ที่อยู่ในโครงการคนอยู่กับป่า ที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ว่า
“ผู้ที่จะอยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการจะต้องมีรายชื่อตามผลสำรวจการถือครองที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าวสามารถถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าได้ ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ ในกรณี 2 ครอบครัวขึ้นไปที่ทำกินร่วมกันในสถานที่ทำกินเดียวกันให้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน 40 ไร่ โดยผู้ถือครองที่ดินและสมาชิกในครอบครัว ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ ต้องมีสัญชาติไทย ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ไม่เคยต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุดในเรื่องของการทำลายป่าหรือการล่าสัตว์ อีกทั้งผู้ครอบครองที่ดินจะโอนการครอบครองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัย หรือทำกินไม่ได้”
แต่หากฟังการให้สัมภาษณ์ของนายนายเลาฟั้ง ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่จะออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยอ้างว่าหากกฎหมายดังกล่าวผ่านจะกระทบต่อคน 4,265 หมู่บ้าน เป็นจำนวนรวมกว่า 1 ล้านคน ก็เชื่อได้ว่า พรรคประชาชนกำลังพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้ “กลุ่มชาติพันธุ์”และ“คนไร้สัญชาติ”ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ระหว่างรอขอสัญชาติ มีสิทธิอยู่กับป่าโดยได้รับสิทธิประโยชน์เกินกว่าที่กฎหมายเดิมกำหนด
นายเลาฟั้ง ระบุว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวกำหนดให้ชาวบ้านอยูในป่าได้ 20 ปี โดยที่ไม่ได้บัญญัติว่าหลังจากนั้นจะมีการอนุญาตให้อยู่ต่อได้หรือไม่ ด้วยเงื่อนไขอะไร หากยึดถือตามนี้หมายความว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชาชน 4,265 ชุมชน พื้นที่ 4.27 ล้านไร่ จะต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมอุทยานฯ ทั้งหมด ส่วนจำนวนเนื้อที่ที่อนุญาตให้อาศัยและทำกินได้ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนที่เกินจะต้องส่งมอบให้แก่กรมอุทยานฯ เพื่อนำไปฟื้นฟูเป็นป่านั้น ก็เท่ากับเป็นการกำหนดกฎหมายเพื่อยึดคืนที่ดินซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นหรือครัวเรือนใหญ่ ที่ครอบครองที่ดินทำกินมากกว่าที่กำหนดนี้
ส่วนการก่อสร้างอาคารที่ห้ามไม่ให้สูงไม่เกินสองชั้น และต้องใช้เพื่อการอยู่อาศัยหรือทำกินเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีพเท่านั้น ซึ่งคำว่า “จำเป็นแก่การดำรงชีพ” ไม่มีความชัดเจนว่ามากน้อยเพียงใด และห้ามมิให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น โรงงาน โรงแรม ก็เท่ากับห้ามมิให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
“ตาม พ.ร.ฎ. ได้กำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามหลายประการที่มีลักษณะไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ต้องมีสัญชาติไทย ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตโครงการ ต้องไม่มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองอื่น ต้องไม่เคยกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีป่าไม้ทุกประเภทในเขตป่าอนุรักษ์ กรณีนี้จะทำให้คนจำนวนมากเสียสิทธิ เพราะบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาตินั้น ส่วนมากเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่กระบวนการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครองล่าช้า ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะได้รับอนุมัติสัญชาติในภายหลังก็ได้” นายเลาฟั้ง กล่าว
ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าวของนายเลาฟั้งนั้นคงมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ป่าสามารถยึดครองผืนป่าได้ถาวรและมากกว่าครอบครัวละ 20 ไร่ โดยสามารถนำพื้นที่ป่าไปสร้างโรงงาน โรงแรม หรือทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ “คนไร้สัญชาติ” ซึ่งบางส่วนแล้วอาจจะเป็นต่างด้าวที่พยายามสวมสิทธิโดยอ้างว่าเป็นคนพื้นที่สูงหรือกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อขอสัญชาติไทย ได้สิทธิครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าของไทยอีกด้วย
ด้าน “อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ” ชี้ว่า ที่ผ่านมามีการบุกรุกป่า เข้าไปตัดไม้ เข้าไปล่าสัตว์ โดยอ้างว่าเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แล้วคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ทั่วไป เขามีสิทธิเข้าไปตัดไม้เข้าไปล่าสัตว์ป่าหรือไม่ ตามหลักกฎหมายต้องบังคับใช้กับประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียม มันมีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของสาธารณชน ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อยู่แล้ว เพราะป่าเป็นพื้นที่ของสาธารณชนที่คนไทยใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งคนไทยก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรักษาพื้นที่ป่าให้คงอยู่ต่อไป ถ้ากฎหมายใหม่ที่พยายามผลักดันกันกลับให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ทำอะไรในพื้นที่ป่าก็ได้ อีกไม่นานป่าก็หมด
ต้องถามว่าเราได้สำรวจประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อย่างถูกต้องแล้วหรือยังว่าจริงๆ แล้วมีจำนวนเท่าไหร่ ทำไมจำนวนถึงเพิ่มขึ้นแบบผิดปกติ มีบัตรพื้นที่สูงถูกต้องไหม มีต่างด้าวเข้ามาสวมบัตรหรือเปล่า มีต่างด้าวที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าเป็นคนไร้สัญชาติที่เกิดในไทยหรือไม่ เราไม่ได้ทำเรื่องนี้เลย แล้วจะบอกว่าเขาเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นก็ต้องมีบัตรประชาชนไทย ที่ผ่านมาการเพิ่มประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นงานหลักของเอ็นจีโออยู่แล้วเพราะต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ จากที่ตนเคยดูแลพื้นที่แก่งกระจานพบว่ามีการสวมบัตรพื้นที่สูงกันเยอะมาก มีคนเข้ามาอยู่แล้วอ้างว่าตัวเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก 1,000 คน เป็น 3,000-4,000 คน ภายในเวลาไม่กี่ปี
“การที่คุณเอาคนหมู่มากมาชุมนุมแล้วมีบัตรรหัสศูนย์ อ้างว่าเป็นคนพื้นที่สูง เป็นคนไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติ พิสูจน์ยังไงว่าคุณอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อน พิสูจน์ยังไงว่าคุณเป็นคนไทย เพราะที่ผ่านมาก็มีขบวนการสวมสิทธิเพื่อขอสัญชาติไทยกันเยอะมาก อย่างศูนย์อพยพหลายๆ ที่ก็มีทั้งคนที่อพยพเข้ามาจริง และคนใหม่ที่เข้ามาอยู่โดยอ้างว่าเป็นผู้อพยพ สักพักก็ออกมาอยู่ข้างนอก เราเห็นตัวเลขแล้วเราจะรู้เลยว่าทำไมเขาต้องการพื้นที่ป่า ทำไมต้องเอาคนเข้ามาสวมสิทธิขอสัญชาติไทย ในเมื่อมีการตั้งกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรับรองสัญชาติ เขาเอาใครมาเขาก็รับรองเองหมด โดยอ้างว่าเป็นคนพื้นที่สูง สังเกตไหมว่าทำไมจำนวนคนไร้สัญชาติที่อ้างว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ถึงเพิ่มขึ้นทุกปี ถามว่าเวลามีพวกนี้เข้ามาสวมสิทธิขอสัญชาติไทยมีคนไทยไปคัดค้านไหม ก็ไม่มี เขาเข้ามาใช้สิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี พอได้สัญชาติแล้วก็เอาคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในบ้าน การที่จะให้สิทธิทำกินในพื้นที่ป่าถึงครอบครัวละ 20 ไร่ แน่ใจได้ยังไงว่าเขาเป็นคนไทยจริงๆ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ขณะที่สังคมโซเชียลต่างตั้งข้อสังเกตว่าการรับลูกกันไปมาระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และคนที่อ้างว่าอยู่กับป่านั้นมีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่ มีการเตี๊ยมกันมาหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านไม่มีใครสนใจผลกระทบที่เกิดจากการบุกรุกป่า มีแต่จะแก้กฎหมายให้คนสามารถบุกรุกป่าได้มากขึ้น อีกทั้งคนที่มีสิทธิครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าถึง 20 ไร่ก็อาจจะไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ ด้วยปัจจุบันมีต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาสวมสิทธิขอสัญชาติไทยโดยอ้างว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังอยู่ในฐานะ “คนไร้สัญชาติ” ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่อาจเป็นการผลักดันกฎหมายเพื่อซื้อใจต่างด้าวที่แปลงร่างเป็นคนไทย ซึ่งถือเป็น “ฐานเสียง” กลุ่มใหม่ที่ฝ่ายการเมืองกำลังช่วงชิง
หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ารัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังร่วมกันแจก “ที่ดินในเขตพื้นที่ป่า” ให้ต่างด้าวได้สิทธิครอบครองโดยชอบธรรมถึงครอบครัวละ 20 ไร่ ขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง และไม่มีแม้แต่บ้านจะอยู่!!
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j